บีโอไอเผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ 10 เดือนมูลค่าเฉียด 3 แสนล้านบาท ชี้ต่างชาติยังเชื่อมั่นไทย ญี่ปุ่นยังครองอันดับหนึ่ง
บีโอไอเผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ 10 เดือนมูลค่าเฉียด 3 แสนล้านบาท ชี้ต่างชาติยังเชื่อมั่นไทย ญี่ปุ่นยังครองอันดับหนึ่ง
บีโอไอเผยสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วง 10 เดือนของปี 2554 มูลค่าเงินลงทุนเฉียด 300,000 ล้านบาท โดยกว่าครึ่งเป็นโครงการลงทุนรายใหม่ สะท้อนต่างชาติยังเชื่อมั่นในไทย ขณะที่นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนในไทย รองมาเป็นจีน และสิงคโปร์
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) ในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2554) ว่า มีนักลงทุนต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 828 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 281,759 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มี 691 โครงการ ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 61 จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 174,884 ล้านบาท
“การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แสดงให้เห็นว่ายังมั่นใจต่อการลงทุน ในประเทศไทย ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจทำให้การลงทุนชะลอลงบ้าง แต่มั่นใจว่าภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยจะยังเติบโตได้ดี โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ จะเร่งเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน รวมถึงเร่งชี้แจงข้อมูลและความตั้งใจของภาครัฐ รวมถึงแผนงาน การดูแลป้องกันปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังได้ในเร็ว ๆ นี้” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับนักลงทุนที่เข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ยังเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 441 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 145,807 ล้านบาท จำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 55 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 284 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 104 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 71,342 ล้านบาท
รองมาเป็นการลงทุนจากประเทศจีน มี 28 โครงการ เงินลงทุน 25,998 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 23 โครงการ ด้าน มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 168 จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 9,681 ล้านบาท
อันดับ 3 เป็นการลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 44 โครงการ เงินลงทุน 19,885 ล้านบาท จำนวนโครงการใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 110 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 9,484 ล้านบาท
ฮ่องกง มีจำนวน 26 โครงการ เงินลงทุน 12,278 ล้านบาท จำนวนโครงการใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 212 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 3,940 ล้านบาท
และการลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ มีจำนวน 33 โครงการ เงินลงทุน 7,173 ล้านบาท จำนวนโครงการใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 229 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมีมูลค่า อยู่ที่ 2,177 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนรายใหม่ มีจำนวน 444 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 136,932 ล้านบาท หรือประมาณ ร้อยละ 54 ของโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด อีกจำนวน 384 โครงการเป็นการลงทุนขยายกิจการของโครงการเดิม ซึ่งมีมูลค่าสูงภึง 144,827 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กิจการที่เข้ามาลงทุนในประเทศมีความมั่นใจจึงทุ่มทุนขยายกิจการมากขึ้น
สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมลำดับต้นๆ ได้แก่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีจำนวน 286 โครงการ เงินลงทุน 100,236.3 ล้านบาท กิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 159 โครงการ เงินลงทุน 55,488 ล้านบาท กิจการบริการ และสาธารณูปโภค จำนวน 155 โครงการ เงินลงทุน 51,303.5 ล้านบาท กิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก จำนวน 88 โครงการ เงินลงทุน 28,972.9 ล้านบาท และ กิจการ เหมืองแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 21,608.8 ล้านบาท