ร่วมย้อนรอยอดีตสถานที่ ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเป็นพิเศษ ณ พระราชวังนารายราชนิเวศน์
พิสิษฐ์ ช่อชิต
หันซ้ายหันขวามองหาวินรถตู้ที่จะไปจังหวัดลพบุรีตามข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็พบว่ามีประมาณ 2-3 วิน จึงจับหลักตั้งสติเดินถามแต่ละวิน ในที่สุดก็เจอวินที่ตอบโจทย์เรามากที่สุด คือบริเวณใต้ทางด่วน โดยอู่ปลายทางของรถตู้วินนี้จะไปจอดบริเวณฝั่งตรงข้ามศาลพระกาฬเลยทีเดียว ซึ่งสำหรับจุดหมายปลายทางของเราครั้งนี้ ในอดีตเคยเป็นถึงสถานที่ ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดมากเป็นพิเศษ...ใช่แล้วเรากำลังจะย้อนรอยกลับไป ณ พระราชวังนารายราชนิเวศน์ หรือ นารายณ์ราชนิเวศน์ ในปัจจุบัน
จากอนุสาวรีย์ฯ เราใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงจังหวัดลพบุรี และสิ่งแรกที่รู้สึกว่าต้องทำทุกครั้งเมื่อมาถึงจังหวัดลพบุรี คือ ไปสักการะพระกาฬที่ศาลพระกาฬ และก็ต้องพบเจอกับเจ้าถิ่นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือเจ้าจ๋อตัวแสบจำนวนมากที่อาศัยอยู่บริเวณศาลพระกาฬ เที่ยวนี้เสียพวงกุญแจสุดโปรดที่ห้อยติดกระเป๋ากล้องมานานไปแบบไม่กลับ (เรื่องมันเศร้า...เล่าแล้วขำ) เอาเป็นว่าใครคิดจะไปก็โปรดระวังด้วยแล้วกัน
ถัดจากศาลพระกาฬไปนิดเดียว ก็จะเห็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดลพบุรี คือพระปรางค์สามยอด พระปรางค์ศิลาแลงองค์นี้เป็นศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 และแน่นอนว่าก่อนไปจุดหมายปลายทางที่แท้จริง เราหมดเวลาไปกลับสถานที่ทั้งสองนี้อยู่นานทีเดียว
กางแผนที่เดินถามทางลุง ป้า น้า อา ที่น่ารักแถวนั้นได้ไม่นาน เราก็มายืนอยู่หน้านารายณ์ราชนิเวศน์แล้ว เพียงเดินพ้นกำแพงเข้าไป ก็ได้พบกับบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้มากมาย สนามหญ้าสีเขียวสด ประกอบกับอาคารโบราณสถานต่างๆ อดทำให้จินตนาการไปถึงสมัยอยุธยาไม่ได้ว่าที่นี่เคยสวยงามมากมายขนาดไหน อาจมีพื้นที่บริเวณโดยรอบทั้งหมดไม่มากเหมือนโบราณสถานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความสวยงามอลังการไม่แพ้กัน
ศึกษาจากประวัติแล้วสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2209 บนเนื้อที่ 41 ไร่ สำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อน ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมืองอย่างไม่เป็นทางการ และตลอดทั้งปีพระองค์จะเสด็จกลับไปประทับที่กรุงศรีอยุธยา เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น
เดินเพลิดเพลินกับโบราณสถานที่โล่งแจ้งแบบสบายๆ ไม่นานก็ได้พบกับแนวกำแพงสีขาวทอดยาว ด้านในจะมีช่องเล็กๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลม ที่สมัยก่อนเอาไว้วางตะเกียงจำนวนกว่า 2,000 ช่อง อดจินตนาการไม่ได้ว่า หากเป็นตอนกลางคืนแล้วจุดตะเกียงทั้งหมดจะสวยงามโรแมนติกขนาดไหน
พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นพระที่นั่งแรกที่เห็นหากเดินผ่านซุ้มประตูชั้นใน เป็นพระที่นั่งไว้ใช้สำหรับประชุมองคมนตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้านข้างจะเป็นอาคารแบบตะวันตก 3 ชั้น ชื่อพระที่นั่งพิมานมงกุฎ สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2405 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) แท้จริงแล้วเป็นหมู่พระที่นั่งที่เชื่อมติดกัน 4 องค์ อันประกอบด้วย
พระที่นั่งอักษรศาสตราคม พระที่นั่งไชยศาสตรากร และพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย โดยเฉพาะชั้น 3 ของพระที่นั่งพิมานมงกุฎเคยเป็นที่บรรทมของรัชกาลที่ 4 ซึ่งหมู่พระที่นั่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ และหากเดินเลยไปด้านหลังจะพบกับหมู่ตึกพระประเทียบ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน ลักษณะเป็นตึกก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4
แล้วก็มาถึงสถานที่สำคัญจุดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย คิดว่าทุกคนน่าจะเคยเรียนเคยผ่านตากับรูปวาดขณะที่ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ ราชฑูตจากฝรั่งเศส ได้เดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เนื่องด้วยเป็นราชทูตเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยทหารของฝรั่งเศส จำนวนประมาณ 600 คน ณ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทแห่งนี้
เดินต่อไปอีกนิดจะพบกับ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า "พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน" สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231
ชมรายละเอียดสถานที่ฝ่ายในต่างๆ จนเพลิน ขากลับจะพบกับ ตึกสิบสองท้องพระคลัง หรือพระคลังศุภรัตน์ เป็นตึกที่ตั้งเรียงรายอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำและตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง เป็นอาคารที่สร้างอย่างมีระเบียบด้วยอิฐ เป็น 2 แถว ยาวเรียงชิดติดกัน มีถนนผ่านกลาง รวม 12 หลัง เข้าใจว่าเป็นคลังเก็บสินค้าหรือเก็บสิ่งของที่ใช้ในราชการ
ทางด้านข้างเป็นตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส ตั้งอยู่กลางอุทยานรอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูมีน้ำพุพุ่งเรียงรายได้ระยะ 20 แห่ง จากเค้าโครงที่เหลือแสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อนคงจะสวยงามมาก ทางด้านหน้าตึกเลี้ยงรับรอง มีรากฐานเป็นอิฐแสดงให้เห็นว่าตึกหลังเล็กๆ คงจะเป็นโรงมหรสพ ซึ่งมีการแสดงให้แขกเมืองชมภายหลังการเลี้ยงอาหาร
เริ่มเหนื่อย แต่ก็ยังเห็นว่ามีตึกเก่าด้านข้างเหลืออีกตึกเลยค่อยๆ เดินไปสำรวจ ก็อดที่จะขำไม่ได้ด้วยชื่อ ตึกพระเจ้าเหา ซึ่งพออ่านข้อมูลก็ทำให้ถึงบางอ้อว่า พระเจ้าเหา ที่เราชอบเอามาพูดเล่นกันนั้นมีข้อมูลอยู่จริง สันนิษฐานกันว่าคงเป็นหอพระประจำพระราชวัง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในตึก ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้อาจมีชื่อว่า พระเจ้าหาว แต่ออกเสียงเพี้ยนไปมาจนเป็น พระเจ้าเหา จึงเป็นที่มาของชื่อตึกแห่งนี้
ก่อนแวะนั่งพักขา ก็ยังเหลือบไปเห็นท่อคล้ายท่อประปาเก่าๆ เลยเดินไปอ่านข้อมูลอีก ก็พบว่าเป็นท่อประปาจริงๆ เป็นท่อดินเผาฝังอยู่เพื่อจ่ายน้ำไปใช้ตามตึกและพระที่นั่งต่างๆ โดยเป็นท่อดินเผาจากทะเลชุบศรและอ่างซับเหล็ก ตามบันทึกเล่าว่าระบบการจ่ายทดน้ำเป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาเลี่ยน ทำเอาเราอดทึ่งกับเทคโนโลยีของคนสมัยก่อนไม่ได้
ลมฝนพัดโชยเย็นแบบสบายๆ ขณะเดินทางลัดเลาะกลับไปยังที่วินรถตู้ (ที่เดิมขามา) พลันก็อดจินตนาการปะติดปะต่อภาพของพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ แบบเดิมๆ ในยุคสมัยนั้นไม่ได้ว่า คงสวยงามวิจิตรอลังการมากๆ แถมยังทำให้เข้าใจได้ว่าทำไม พระมหากษัตริย์ไทยที่สำคัญๆ 2 พระองค์ ถึงได้ทรงโปรดอดีตพระราชวังแห่งนี้มากเหมือนกัน หากต่างกันเพียงช่วงเวลา
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนบุคคล : จาก กทม.ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) กรุงเทพฯ-สระบุรี-ลพบุรี ผ่านวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วงเวียนสระแก้ว และวงเวียนศาลพระกาฬ ข้ามทางรถไฟ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกปรางค์แขก ถึงสี่แยกไฟแดงตรงไป พระนารายณ์ราชนิเวศน์อยู่ทางขวามือ จะสังเกตเห็นกำแพงวังได้อย่างเด่นชัด
- รถตู้สาธารณะ : วินรถตู้ ลพบุรี-กรุงเทพ ใต้ทางด่วน (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) โดยอู่ปลายทางอยู่ใกล้กับศาลพระกาฬ
- สถานที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี จังหวัดลพบุรี
- เวลาปิด - เปิด : ส่วนบริเวณโดยรอบ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-17.30 น. ส่วนพิพิธภัณฑ์จะเปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
- อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท
- เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ (ลพบุรี) 036-411-458