กิตติรัตน์ เผยญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย คาด 2 สัปดาห์ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจะชัดเจนขึ้น
กิตติรัตน์ เผยญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย คาด 2 สัปดาห์ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจะชัดเจนขึ้น ด้านเอกชนญี่ปุ่นจี้รัฐบาลเร่งดำเนินการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ อำนวยความสะดวกการออกวีซ่าผู้เชี่ยวชาญ จัดหาน้ำและไฟฟ้า
สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทย ว่า ได้มีโอกาสพบนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงการเงินและภาคธุรกิจของญี่ปุ่น ซึ่งทุกฝ่ายยังให้ความเชื่อมั่นกับการเข้ามาลงทุนในไทย
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ผู้บริหารรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความสบายใจหลังรับทราบว่าองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้า ได้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำของไทยในอนาคต แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นได้แสดงความต้องการให้ไทยเร่งหามาตรการป้องกันระยะสั้นในปีหน้าและเร่งลงทุนระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจะชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงการเงินฯ ของญี่ปุ่นยังได้รับปากที่จะประสานงานกับบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นเพื่อให้การสนับสนุนกับบริษัทไทยอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ไทยได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องของอุทกภัยอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการใน 4 เรื่องคือการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ เพื่อนำมาทดแทนส่วนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย อำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา (วีซ่า) และใบอนุญาตทำงานแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
จัดหาน้ำบริสุทธิ์และน้ำสะอาดที่เพียงพอสำหรับการทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ในช่วงของการเข้าไปฟื้นฟูระบบการผลิต และการจัดหาระบบไฟฟ้าให้ทันเวลาในการเข้าไปฟื้นฟูระบบการผลิต ซึ่งได้ชี้แจงให้ญี่ปุ่นรับทราบว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่และมีหลายมาตรการได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงการย้ายนิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่บนที่กีดขวางทางน้ำนั้นเห็นว่า หากทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก หรืออะไรที่ลงทุนไปแล้วและมีค่าต่อระบบเศรษฐกิจก็ไม่สมควรดำเนินการแต่อย่างใด
น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งดำเนินมาตรการตามที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นเรียกร้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้ ตามที่นายกิตติรัตน์ นำเสนอ ทั้งการให้กรมศุลกากรเร่งรัดการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์และวัตถุดิบ เพื่อนำมาทดแทนส่วนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย อำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากรที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้โรงงานที่ได้รับผลกระทบสามารถติดตั้งเครื่องจักรได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงานและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งอำนวยความสะดวกด้านการออกวีซ่า และใบอนุญาตทำงานแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูระบบการผลิตในบริษัทที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
และควรให้กำหนดเป็นนโยบายช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจากวิกฤตอุทกภัย โดยขยายเวลาการอยู่พำนักของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เข้ามาปฏิบัติงานดังกล่าวในไทยไม่เกิน 1 ปี
รวมทั้งเร่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดหาน้ำบริสุทธิ์และน้ำสะอาดที่เพียงพอสำหรับการทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ในช่วงของการเข้าไปฟื้นฟูระบบการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้เตรียมระบบไฟฟ้าให้พร้อมจ่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่กลับเข้าสู่ระบบการผลิตด้วย โดยกำหนดให้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 1 สัปดาห์