เนื้อหาวันที่ : 2007-04-25 09:25:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1377 views

กฟผ. เปิดอภิแผนลงทุน 10 ปี 1.18 ล้านล้าน สายส่ง-โรงไฟฟ้า

แผนลงทุน กฟผ. 10 ปี (2550-2559) อัดงบลงทุนอีก 1,187,156 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าอย่างเดียวก็สูงลิ่ว ด้านวงการวิจารณ์กันแซดมีการขยายสถานีไฟฟ้า-สายส่งรองรับการขยาย โรงไฟฟ้า IPP ของทั้ง EGCO-RATCH ด้วย ที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2554

เผยแผนลงทุน กฟผ. 10 ปี (2550-2559) จะต้องใช้เงินลงทุนอีก 1,187,156 ล้านบาท เฉพาะแค่สร้างโรงไฟฟ้าอย่างเดียวก็สูงลิ่วถึง 892,315 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2007 ด้านวงการวิจารณ์กันแซดมีการขยายสถานีไฟฟ้า-สายส่งรองรับการขยาย โรงไฟฟ้า IPP ของทั้ง EGCO-RATCH ด้วย ที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2554 อีก 294,841 ล้านบาท  

.

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งล่าสุด (9 เมษายน 2550) กฟผ.ได้เสนอประมาณการ รายจ่ายในช่วงปี 2550-2559 ที่จะใช้ขยายระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า

.

โดยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2554) จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 289,733 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายเพื่อขยายระบบผลิตไฟฟ้า 200,360 ล้านบาท กับการขยายระบบส่งไฟฟ้าอีก 89,373 ล้านบาท ส่วนในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (2555-2559) จะใช้เงินลงทุนอีก 986,796 ล้านบาท แบ่งเป็น การขยายระบบผลิตไฟฟ้า 691,955 ล้านบาท กับการขยายระบบส่งไฟฟ้าอีก 294,841 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP (Power Development Plan 2007) ฉบับล่าสุด

.

สำหรับการขยายระบบผลิตหรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.ตั้งแต่ปี 2554-2558 จะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นอีก 6 โครงการ รวมกำลังการผลิต 4,900 เมกะวัตต์ ทั้งหมดจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 4, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ ชุดที่ 2 เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นในทุกๆ ปีในระดับ ร้อยละ 5

.

ส่วนการขยายระบบสายส่ง จะเน้นรองรับสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP ที่กระทรวงพลังงานจะเปิดการประมูลในช่วงเดือนเมษายนหรือช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 นี้ ภายหลังจากที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าผ่านความเห็นชอบจาก กพช.แล้ว

.

"แผนลงทุนของ กฟผ.จะใช้เงินลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2007 เป็นหลัก โดยจะพิจารณาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้นเท่าไร อาทิ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2554 ที่จะสูงถึง 27,996 เมกะวัตต์ หรือเมื่อพิจารณาจนถึงปี 2558 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งไปถึง 35,251 เมกะวัตต์ ฉะนั้น กฟผ.จึงต้องสร้างทั้ง โรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า และระบบส่ง เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรักษาระดับไฟฟ้าสำรองไว้ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

.

สำหรับรายละเอียดของการขยายสถานีไฟฟ้าและระบบสายส่งของ กฟผ.จะประกอบด้วย 6 โครงการหลัก คือ 1)สถานีไฟฟ้าบริเวณใกล้สถานีไฟฟ้าไทรน้อย-วังน้อย พร้อมสายส่งขนาด 500 KV สามารถรองรับโรงไฟฟ้า 1 โรง กำลังผลิต 700 MW 2)สถานีไฟฟ้าบริเวณใกล้สถานีไฟฟ้าราชบุรี 3 จังหวัดราชบุรี รองรับโรงไฟฟ้าได้ 1 โรง กำลังผลิต 700 MW 3)สถานีไฟฟ้าใกล้สถานีไฟฟ้าจอมบึง รองรับโรงไฟฟ้าได้ 1 โรง

.

4)สถานีไฟฟ้าใกล้สถานีไฟฟ้าบางสะพาน 2 พร้อมสายส่ง 500 KV บางสะพาน 2-จอมบึง วงจรที่ 1 และ 2 สามารถรองรับโรงไฟฟ้าได้ 3 โรง กำลังผลิต 2,100 เมกะวัตต์ 5)สถานีไฟฟ้าใกล้สถานีไฟฟ้าอ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี รองรับโรงไฟฟ้าได้ 1 โรง โดยทั้งนี้จะมีการเสริมระบบส่งภายใน กฟผ.เพิ่มเติมด้วย และ 6)สถานีไฟฟ้าใกล้สถานีไฟฟ้าปลวกแดง จังหวัดระยอง พร้อมสายส่งขนาด 500 KV ปลวกแดง-หนองจอก/วังน้อย วงจรที่ 1-4 ที่สามารถรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ได้ถึง 6 โรง กำลังผลิต 4,200 MW

.

อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่นักวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานว่า การขยายทั้งสถานีไฟฟ้าและสายส่งขนาด 500 KV ของ กฟผ.จะเน้นขยายในพื้นที่ที่คาดว่าบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่อยู่แล้ว อาทิ โรงไฟฟ้าระยอง ที่สามารถขยายเพิ่มได้อีก 1 โรง หรือโรงไฟฟ้าราชบุรี ที่จะขยายเพิ่มขึ้นได้อีก 1-2 โรง ขนาดกำลังผลิต 700 MW หรือเท่ากับขยายสถานีไฟฟ้าและระบบสายส่งเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทลูก

.

"กฟผ.เน้นที่จะขยายสถานีไฟฟ้าและสายส่งในจังหวัดราชบุรีกับจังหวัดระยองเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ต้องคาดการณ์ภายใต้พื้นฐานที่ว่า บริษัทลูก กฟผ.(EGCO-RATCH) จะเป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ IPP ส่งผลให้บริษัทลูกทั้ง 2 แห่งของ กฟผ.ได้เปรียบคู่แข่งขัน IPP รายอื่นๆ ทั้งในเรื่องพื้นที่ แหล่งเชื้อเพลิง รวมถึงการบริหารต้นทุนที่ดี ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำมาก โดยเฉพาะการตั้งเงื่อนไขการประมูลเบื้องต้นที่ว่า จะเน้นค่าไฟฟ้าที่ถูก ดังนั้นจึงไม่ยากที่ทั้ง 2 บริษัทจะชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ในที่สุด" แหล่งข่าวกล่าว

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ