สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยวิกฤติน้ำท่วมทำภาคอุตฯ ป่วน ดึง MPI วูบ 35.8% กำลังการผลิตหายเกือบ 50% การผลิตยานยนต์ร่วงต่ำสุดในรอบ 10 ปี
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยวิกฤติน้ำท่วมทำภาคอุตฯ ป่วน ดึง MPI วูบ 35.8% กำลังการผลิตหายเกือบ 50% การผลิตยานยนต์ร่วงต่ำสุดในรอบ 10 ปี
นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือนตุลาคม 2554 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน -35.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน จากมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงของประเทศ ผู้ผลิตต่างได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 46.4% อุตสาหกรรมหลักที่ทำให้ MPI ติดลบ ประกอบด้วย ยานยนต์ ฮาร์ดดิส- อิเล็กฯ-แอร์-สิ่งทอ
การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายลดลง -61.3% และ -56.1% ตามลำดับ จากปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทย -16.2% ในเดือนตุลาคม 2554 การผลิตและการจำหน่ายลดลง -67.5% และ -61.8%ตามลำดับ ซึ่งรุนแรงมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นการลดลงในรถยนต์ทุกประเภท
เนื่องจากโรงงานผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ บรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ หยุดผลิตเป็นการชั่วคราว โดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม เริ่มผลิตอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน,บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิลฯ หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม จากปัญหาน้ำท่วมโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันที่จะกลับมาเริ่มผลิตได้
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ หยุดการตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เริ่มผลิตอีกครั้ง 13 พฤศจิกายน, บริษัท ออโตอัลลายแอนซ์ฯ หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม เริ่มผลิตอีกครั้ง 14 พฤศจิกายน, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ฯ หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เริ่มผลิตอีกครั้ง 14 พฤศจิกายน, บริษัท อีซูซุฯ หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม จะเริ่มผลิตอีกครั้ง 28 พฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง - 52.4%และ -48.2% ตามลำดับ เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ท่วมนิคมอุตสาหกรรม และเป็นที่ตั้งของโรงงานผู้ผลิตหลายราย โดยน้ำท่วมครั้งนี้ยังได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรม Hard Disk Dive ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าไปทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Hard Disk Drive ที่ออกสู่ตลาดโลกมากกว่า 50% และเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน
การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง -45.5%และ -43.2% ตามลำดับ เนื่องจากน้ำท่วมโรงงานผลิตในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีผลกระทบครั้งนี้ ส่งผลให้แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายที่คาดว่าจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 เปลี่ยนเป็นหดตัวลง และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ในการฟื้นฟูโรงงานต่างๆ ให้กลับมาทำการผลิตได้ตามปกติหลังน้ำลด
การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง -42.2% และ -20.0% ตามลำดับ เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมทำให้ซัพพลายเชน (Supply Chain) ไม่สามารถขนส่งชิ้นส่วนในการผลิตได้ เนื่องจากโรงงานหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม
การผลิตสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง -33.9% และ -36.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับปีนี้ประสบปัญหาอุทกภัยใหญ่ทำให้โรงงานที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมไม่สามารถผลิตสินค้าได้ และโรงงานที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบด้านการขนส่ง จึงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายที่ลดลง ดังกล่าว
ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ในภาพรวมยังมีอัตราการขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการแปรรูปผักผลไม้กระป๋อง เนื้อไก่แช่เย็นและแช่แข็ง น้ำมันพืช ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนในระดับ 61.42%, 30.40% และ 19.55% ตามลำดับ
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้สรุปตัวเลข MPI เดือนตุลาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ว่าดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 122.75 ลดลง -35.80% จากระดับ 191.21 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 138.28 ลดลง -28.70% จากระดับ 193.93 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 189.20 ลดลง -0.95% จากระดับ 191.02 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 103.75 ลดลง -14.39% จากระดับ 121.19 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 121.87 ลดลง -10.96% จากระดับ 136.86 และ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 46.42%
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม