เนื้อหาวันที่ : 2007-04-24 09:37:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2778 views

มว. เร่งพัฒนามาตรฐานการวัดด้านขีดสเกล

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เดินหน้าพัฒนามาตรฐานการวัดของชาติด้านขีดสเกลมาตรฐาน (Line Scale) คาดเปิดให้บริการสอบเทียบภาคอุตสาหกรรมได้ในเดือนพฤษภาคม 2550 นี้

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เดินหน้าพัฒนามาตรฐานการวัดของชาติด้านขีดสเกลมาตรฐาน (Line Scale) และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสอบเทียบแก่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบและภาคอุตสาหกรรมได้ในเดือนพฤษภาคม 2550 นี้

 

.

.

ปัจจุบัน ความต้องการสอบเทียบเครื่องมือวัดประเภท Linear Scale for Encoders และ Line Standards Working Standard Scale มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับการสอบเทียบ Profile Project และ Microscope ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์    ในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการส่งเครื่องมือเหล่านี้ไปสอบเทียบยังต่างประเทศ เช่น สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ (SPRING)  และประเทศญี่ปุ่น (NMIJ) เป็นต้น

.

ฝ่ายมาตรวิทยามิติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการสถาปนามาตรฐานการวัดของชาติด้านขีดสเกลมาตรฐานขึ้น เพื่อรองรับต่อความต้องการด้านการสอบเทียบของประเทศ โดยได้จัดหาเครื่อง Line Scale Interferometer ที่มีความถูกต้องในระดับนาโนเมตร พร้อมทั้งฝึกอบรมนักมาตรวิทยาให้มีความพร้อมสำหรับการเก็บรักษามาตรฐานการวัดนี้ เพื่อถ่ายทอดค่าความถูกต้องไปสู่เครื่องมือวัดของห้องปฎิบัติการสอบเทียบในภาคอุตสาหกรรมที่มีความถูกต้องสูง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสอบเทียบได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2550

.

.

.

นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมในการพัฒนามาตรฐานการวัดดังกล่าวเข้าสู่การรับรองระบบคุณภาพองปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 และเข้าร่วมโครงการเปรียบเทียบผลการวัดกับประเทศญี่ปุ่น  รวมถึงเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศยุโรป (EUROMET Key Comparison) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างการยอมรับในระดับสากลต่อไป

.

การสถาปนามาตรฐานการวัดของชาติด้านขีดสเกลมาตรฐานนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีมาตรฐานอ้างอิงทางการวัดขีดสเกลมาตรฐานของประเทศ ในขณะเดียวกันยังสามารถให้บริการสอบเทียบกับเครื่องมือวัดที่มีความถูกต้องสูง ครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ  ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศอันเนื่องมาจากการส่งเครื่องมือไปสอบเทียบ  และพัฒนาคุณภาพของกระบวนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับภาคอุตสาหกรรม