สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ชี้น้ำท่วมหนักภาคอสังหาฯ อ่วม งานหาย รายได้ทรุด หวั่นซ้ำรอยปี 38 เผยแผนสำรองผู้บริโภคเล็งบ้านหลังที่ 2 ในต่างจังหวัด
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ชี้น้ำท่วมหนักภาคอสังหาฯ อ่วม งานหาย รายได้ทรุด หวั่นซ้ำรอยปี 38 เผยแผนสำรองผู้บริโภคเล็งบ้านหลังที่ 2 ในต่างจังหวัด
อุกทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้คงยังชี้ชัดไม่ได้ว่าความเสียหายจะมากเพียงใด แต่บางสำนักได้ระบุความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้และต่อเนื่องปีหน้า ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะเสียหายทะลุล้านล้านบาท ซึ่งก็คงจะต้องมีการประเมินกันอีกครั้งหลังวิกฤติน้ำท่วมผ่านพ้นไป
สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องบอกว่า ผู้ประกอบการต่างตกอยู่ในสภาพอ่วมไปตามๆ กัน โดยเฉพาะเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรแนวราบ ทั้งโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่หรือไม่ว่าจะหรูเริดเพียงใด มวลน้ำก็ไม่เว้นไหลเข้าท่วมทั่วหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรีโดนน้ำท่วมนับร้อยโครงการ ที่สำคัญภายหลังน้ำลดลงโครงการบ้านจัดสรรเหล่านี้ คาดว่ามีโอกาสที่ผู้บริโภคจะปฏิเสธหรือยกเลิกการจองสูงมาก เหตุก็เพราะว่าโครงการเหล่านี้ตั้งอยู่ในทำเลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้าน หลังจากที่มวลน้ำเริ่มทะลักเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาพที่ปรากฏดูจะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งน้ำท่วมปี 2538 นั่นก็คือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนัก ทั้งงานก่อสร้างบ้านหยุดชะงัก รายได้ทรุด สาเหตุหลักๆ มาจากเส้นทางคมนาคมถูกน้ำท่วมจนส่งวัสดุและช่างเข้าไปก่อสร้างต่อไม่ได้ รวมถึงโรงงานผลิตวัสดุบางแห่งโดนน้ำท่วมทำให้วัสดุขาดแคลน ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงได้ส่งผลกระทบต่อรายได้และสภาพคล่องของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยอดขายบ้านหรือกำลังซื้อก็ลดวูบลงเช่นกัน
สมาคมฯ ได้มีการสำรวจข้อมูลบริษัทรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในระบบ โดยโฟกัสที่จำนวนสมาชิก 2 สมาคมรับสร้างบ้าน พบว่ามีจำนวนรวมกัน 64 ราย โดยอยู่ในสังกัด ส.ธุรกิจรับสร้างบ้านจำนวน 44 ราย มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และได้รับผลกระทบน้ำท่วมจำนวน 43 รายหรือคิดเป็น 98% (สมาชิกที่อยู่ในต่างจังหวัด และอยู่นอกพื้นที่น้ำท่วม มีเพียง 1 ราย) ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ
ในขณะที่สมาชิก ส.ไทยรับสร้างบ้าน (THCA) จำนวน 20 ราย มีสำนักงานตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำท่วมเพียงแค่ 5 รายหรือ 1 ใน 4 คิดเป็น 25% ของสมาชิกทั้งหมด นอกนั้นอยู่นอกพื้นที่น้ำท่วมและไม่ได้รับผลกระทบจำนวน 15 รายหรือคิดเป็น 75%
จากข้อมูลจะพบว่าสมาชิกทั้ง 2 สมาคมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้จำนวน 48 รายหรือคิดเป็น 67% (สมาชิก ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน 43 ราย, ส.ไทยรับสร้างบ้าน 5 ราย) และสมาชิกที่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะอยู่นอกพื้นที่น้ำท่วม 16 รายหรือคิดเป็น 33% (สมาชิก ส.ไทยรับสร้างบ้าน 15 ราย, ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน 1 ราย)
ซึ่งจะเห็นว่าสมาชิกในกลุ่ม ส.ไทยรับสร้างบ้านได้รับผลกระทบน้อยกว่า โอกาสที่จะรอดวิกฤติน้ำท่วมได้เป็นส่วนใหญ่จึงมีอยู่สูง ที่สำคัญกลุ่มนี้มีข้อเด่นตรงที่ สมาชิกมีความเป็นเครือข่ายธุรกิจแฟรนไชส์ร่วมกัน ซึ่งก็ย่อมจะทำให้เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ พยายามช่วยดึงผู้ประกอบการรายที่ได้รับผลกระทบให้รอดพ้นวิกฤติไปด้วยกัน
“วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ อาจจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลว ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการในฐานะของ “สมาคมธุรกิจ” ว่าจะรวมพลังกันฝ่าวิกฤตไปได้หรือไม่ ในขณะที่มีอีกแนวทางหนึ่งคือ การผสมผสานและนำเอาความเป็น “สมาคมธุรกิจกับระบบแฟรนไชส์” มารวมไว้เป็นหนึ่งเดียว (ทู อิน วัน) ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีกลุ่มผู้ประกอบการหรือสมาคมใด นำแนวทางดังกล่าวนี้มาใช้รวมพลังและขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มของตัวเอง มีเพียงส.ไทยรับสร้างบ้านที่นำเอาหลักการนี้มาใช้และอาจจะกลายเป็นต้นแบบใหม่
นอกจากนี้แนวทางการขยายตลาดออกไปยังภูมิภาคของผู้ประกอบการบางราย ก็น่าสนใจที่จะนำมาเป็นกรณีศึกษา ในด้านการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยเฉพาะเมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงและเกิดบ่อยยิ่งขึ้นในอนาคต”
นายสิทธิพร เปิดเผยอีกว่า มองภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านและความต้องการสร้างบ้านใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจะหดตัวรุนแรงไม่น้อยกว่า 6-12 เดือนข้างหน้า ซึ่งผู้ประกอบการที่ยังแข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ในปีหน้าก็คงเหนื่อยหนักแน่ๆ สำหรับบริษัทรับสร้างบ้านที่สายป่านยาวหรือที่อยู่มานาน เชื่อว่ายังไงก็คงสู้ต่อ แต่ก็ต้องรอเวลาให้สถานการณ์เลวร้ายผ่านพ้นไป เพื่อฟื้นคืนธุรกิจกลับมาใหม่อีกครั้ง
แต่สำหรับรายเล็กๆ ที่ไม่เข้มแข็งพอก็ต้องตัดสินใจว่าจะสู้ทนต่อหรือไม่ หรือว่าจะออกไปจากธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อไปสู่ธุรกิจอื่นแทน เหมือนเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ซึ่งมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหลายๆ รายหนีไปทำธุรกิจเกษตร ประมง ร้านอาหาร ฯลฯ อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะพลิกฟื้นตลาดรับสร้างบ้านในปีหน้าให้กลับมาได้เร็วขึ้น จำเป็นที่ผู้ประกอบการจะหาทางเปิดตลาดใหม่ๆ หรือเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านในพื้นที่ให้มากที่สุด เช่น การขยายสาขาต่างจังหวัด เป็นต้น
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ สมาคมฯ ได้พยายามประสานความร่วมมือ ระหว่างสมาชิกกลุ่มรับสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้าง เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์และปัญหาต่างๆ และเพื่อจะทำให้งานก่อสร้างบ้านไม่หยุดชะงักลง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นบ้าง ซึ่งทุกฝ่ายก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี มีการจัดสรรวัสดุบางอย่างที่ขาดแคลนแต่จำเป็นเร่งด่วน
โดยแบ่งกันนำไปใช้ให้เพียงพอต่อการใช้งานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่งผลให้งานสร้างบ้านของสมาชิกที่มีอยู่ประมาณ 200 หลัง ส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าก่อสร้างได้เกือบเป็นปกติ แต่จะมีเพียงประมาณไม่ถึง 10 หลังที่ไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างต่อได้เพราะอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสูงได้แก่ จังหวัดอยุธยาและนนทบุรี อย่างไรก็ดีความเสียหายในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ มีไม่มากนัก เหตุผลหนึ่งก็มาจากสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในทำเลที่โดนน้ำท่วม
สมาคมฯ ได้มีการสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับความเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม กรณีที่จะต้องมีแผนสำรองสำหรับบ้านหรือที่อยู่อาศัยในอนาคตมีแนวโน้มอย่างไร ผลสำรวจพบว่าความนิยมอันดับแรก ได้แก่ สร้างบ้านหลังที่ 2 สำรองไว้ในตจว. 64% อันดับที่ 2 ซื้อคอนโดมิเนียมในกทม.สำรองไว้ 18% และอันดับถัดมา ซื้อบ้านจัดสรรในตจว. 9% และซื้อคอนโดมิเนียมในตจว. 9% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเลือกจะมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมากกว่าอยู่ในเขตกทม. โดยเฉพาะจังหวัดที่น้ำท่วมไม่ถึงและอยู่ไม่ไกลจากกทม.มากนัก เช่น ชลบุรี ระยอง ราชบุรี เพชรบุรี สระบุรี นครราชสีมา ฯลฯ เป็นต้น
นายกสมาคม กล่าวตอนท้ายว่า ขอเอาใจช่วยเพื่อนร่วมธุรกิจทั้ง 2 สมาคมให้รอดพ้นภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านต่อไปหรือหันไปสู่ธุรกิจอื่น พร้อมทั้งฝากให้ช่วยกันดูแลบุคลากรหรือพนักงานในองค์กรให้ดีๆ เพราะเมื่อยามเฟื่องฟูก็บุคลากรเหล่านี้แหละที่ช่วยองค์กรให้เจริญก้าวหน้า ฉะนั้นเมื่อยามวิกฤติมาเยือนก็หวังว่าจะไม่ทิ้งกัน ขวัญและกำลังใจก็เป็นสิ่งที่จะต้องเยียวยาและสร้างให้เกิดพลังต่อสู้กับวิกฤติ เพื่อให้รอดพ้นและฟื้นฟูธุรกิจในอนาคตกันต่อไป
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน