เนื้อหาวันที่ : 2007-04-23 14:08:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5789 views

การปฏิบัติงานในสภาวะอากาศร้อน

โดยปกติแล้ว กลไกร่างกายมนุษย์จะทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิตามปกติของร่างกาย คือ 36 – 37.5oC ซึ่งจัดว่าเป็นอุณหภูมิหลักของร่างกาย ทั้งนี้รวมถึงสมอง หัวใจ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอุณหภูมิของผิวหนังจะแตกต่างจากอุณหภูมิหลักของร่างกายประมาณ 2-3 องศา เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 องศา หมายถึงร่างกายเริ่มมีปัญหาในการจัดการกับความร้อนในสภาวะแวดล้อม

อุณหภูมิจัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลหรือมีผลกระทบต่อสภาวะการทำงานทั้งในร่มและกลางแจ้ง ยิ่งในสถานที่ปฏิบัติงานใดที่มีกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น โรงงานผลิตแก้วหรือกระจก เหมืองแร่ โรงหล่อหรือหลอมโลหะ โรงงานผลิตอิฐเผาหรือเซรามิค ห้องหม้ออบไอน้ำ ห้องทำเบเกอรี่หรือครัว โรงซักรีด งานก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน ฯลฯ หรือเป็นพื้นที่อับอากาศด้วยแล้ว สภาวะอากาศที่ร้อนจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน สุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงความปลอดภัยในการทำงานด้วย

.

กลไกของร่างกายในการจัดการกับความร้อน

.

โดยปกติแล้ว กลไกร่างกายมนุษย์จะทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิตามปกติของร่างกาย คือ 36 – 37.5oC ซึ่งจัดว่าเป็นอุณหภูมิหลักของร่างกาย ทั้งนี้รวมถึงสมอง หัวใจ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอุณหภูมิของผิวหนังจะแตกต่างจากอุณหภูมิหลักของร่างกายประมาณ 2-3 องศา เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 องศา หมายถึงร่างกายเริ่มมีปัญหาในการจัดการกับความร้อนในสภาวะแวดล้อม ซึ่งตามปกติแล้ว ร่างกายจะมีปฏิกิริยาหรือกลไกอัตโนมัติในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ เมื่อยามที่ต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่มีความร้อน โดยร่างกายพยายามที่จะกำจัดความร้อนที่สูงเกินเหล่านี้โดยอาศัยการเพิ่มอัตราและจำนวนการไหลเวียนโลหิตผ่านทางผิวหนังและปล่อยของเหลวออกมาทางต่อมเหงื่อ ซึ่งเป็นกลไกที่จะพยายามรักษาสมดุลและถูกควบคุมโดยสมอง ในกระบวนการที่จะลดอุณหภูมิของร่างกายนี้ อันดับแรกหัวใจจะเริ่มสูบฉีดโลหิตจำนวนมากรวมถึงมีการขยายหลอดเลือด เพื่อที่จะเพิ่มอัตราการไหลเวียนไปยังหลอดเลือดฝอยที่กระจายอยู่ทั่วผิวหนังชั้นบนสุด ซึ่งการไหลเวียนโลหิตนี้จะใกล้ชิดกับพื้นผิวภายนอกของผิวหนังและความร้อนก็จะถูกลดลงไปสู่สภาวะที่เย็นกว่า

.

ถ้าความร้อนที่สูญเสียไปจากการเพิ่มอัตราการไหลเวียนโลหิตผ่านทางผิวหนังยังไม่เพียงพอ สมองก็จะรับรู้ว่าความร้อนยังคงสูงเกินและจะส่งสัญญาณไปยังต่อมเหงื่อที่ผิวหนังให้ขับเหงื่อจำนวนมากออกมาทางพื้นผิวหน้าของผิวหนัง อาศัยการระเหยของเหงื่อที่จะทำให้ผิวหนังเย็นลง ซึ่งเป็นการกำจัดความร้อนจำนวนมากออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตามการระบายหรือลดความร้อน  โดยการขับเหงื่อจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อความชื้นอยู่ในระดับต่ำเพียงพอที่เหงื่อจะระเหยได้เท่านั้น

.

เมื่ออุณหภูมิสภาพแวดล้อมเข้าใกล้อุณหภูมิปกติของผิวหนัง การทำให้ร่างกายเย็นลงจะเริ่มยากขึ้น ถ้าอุณหภูมิอากาศ (Air temperature) อุ่นเท่าหรืออุ่นกว่าผิวหนัง จะส่งผลให้เลือดที่ถูกส่งไปยังพื้นผิวหน้าของร่างกายไม่สามารถลดความร้อนได้ ดังนั้นภายใต้สภาวะแบบนี้ หัวใจจะเริ่มสูบฉีดโลหิตส่งไปยังพื้นผิวหน้าของผิวหนังพร้อมกันกับต่อมเหงื่อจะหลั่งของเหลวที่มีส่วนผสมของอิเลคโตรไลต์ไปยังพื้นผิวหน้าของผิวหนัง  และอาศัยการระเหยของเหงื่อซึ่งจะเป็นหลักการของเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ได้

.

แต่อย่างไรก็ตาม การขับเหงื่อจะไม่สามารถลดอุณหภูมิในร่างกายได้ ถ้าความชุ่มชื้นของผิวหนังยังมีอยู่หรือไม่ถูกกำจัดไป ซึ่งภายใต้สภาวะที่มีความชื้นสูง อัตราการระเหยของเหงื่อจากผิวหนังจะลดลงและประสิทธิภาพในการควบคุม  หรือลดอุณหภูมิที่สูงของร่างกายจะด้อยตามไปด้วย ซึ่งสภาวะแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนสูง โดยเลือดจำนวนมากที่ถูกส่งไปยังพื้นผิวหน้าของร่างกายก็จะมีส่วนสัมพันธ์กับปริมาณเลือดจำนวนน้อยที่จะถูกส่งไปยังกล้ามเนื้อ สมอง และอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ ทำให้ความแข็งแรงลดน้อยลง ความล้าก็จะเกิดขึ้น รวมถึงความระมัดระวัง ความว่องไว และสภาวะจิตใจก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานที่ต้องทำงานที่อาศัยความละเอียดอ่อนหรือมีรายละเอียดของงานมากจะพบได้ว่าความถูกต้องแม่นยำจะลดลง ส่วนงานอื่น ๆ ก็จะพบว่าความเข้าใจและความจำเป็นของผู้ปฏิบัติงานได้ลดลงเช่นกัน ถ้าของเหลวและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับเหงื่อไม่ถูกชดเชย ผู้ปฏิบัติงานก็จะเกิดภาวะขาดน้ำ และไม่สามารถขับเหงื่อต่อไปได้ ร่างกายก็จะเสียประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิหลักของร่างกายและปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ  ก็จะตามมา

.

สรุปแล้วร่างกายคนเราจะมีกลไกควบคุมอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ 2 วิธี คือ การไหลเวียนโลหิตและการขับเหงื่อ โดยเลือดจะไหลเวียนไปยังผิวหนังเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนัง และปล่อยให้ร่างกายกำจัดอุณหภูมิที่สูงเกินผ่านทางผิวหนัง ส่วนการขับเหงื่อจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายรับรู้ว่าความร้อนที่สูญเสียไปจากการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไม่เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายเย็นลงได้ การระเหยของเหงื่อจะทำให้ผิวหนังเย็นขึ้นและกำจัดความร้อนจำนวนมากออกจากร่างกาย ถ้าร่างกายไม่สามารถปลดปล่อยความร้อนที่สูงเกินได้ก็จะเก็บความร้อนนั้นไว้ เมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้น อุณหภูมิหลักของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นและอัตราการเต้นของหัวใจจะสูงขึ้นตาม และถ้าร่างกายยังคงเก็บความร้อนนั้นไว้ จะทำให้สูญเสียสมาธิ เกิดสภาพจิตใจที่ปั่นป่วน โกรธง่าย ขั้นต่อไปก็มักจะเป็นลมซึ่งเป็นสัญญาณที่ต้องได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน

.

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบและรับรู้ได้ถึงความร้อน

.

(1) อุณหภูมิอากาศ (Air temperature) วัดค่าโดยใช้เทอร์โมมิเตอร์ทั่วไป ซึ่งเป็นอุณหภูมิของอากาศรอบ ๆ ตัวเรา ถึงแม้ว่าเป็นปัจจัยที่ง่ายที่สุดในการวัดค่า แต่จะเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุดภายใต้สภาวะที่ร้อน ถ้าอุณหภูมิของอากาศเป็นแค่เพียงการวัดค่า ซึ่งจะเป็นการยากในการที่จะคาดการณ์ได้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากความร้อนบ้าง

.

(2) ความชื้น (Humidity) เป็นปริมาณน้ำในอากาศ โดยภายใต้สภาวะที่ร้อนเราจะรู้สึกร้อนมากขึ้นเมื่ออากาศมีความชื้นมากกว่าการอยู่ในสภาวะที่แห้ง ถึงแม้ว่าจะมีการขับเหงื่อออกมาแต่เหงื่อจะระเหยได้ช้าถ้าอากาศเต็มไปด้วยความชุ่มชื้น ซึ่งการระเหยได้น้อยหมายถึงการทำความเย็นได้น้อยลง

.

(3) รังสีความร้อน (Radiant heat) รังสีความร้อนจะถูกปลดปล่อยออกมาจากสิ่งใด ๆ ก็ตามที่มีความร้อน เช่น ดวงาทิตย์ เตาหลอมโลหะ ท่อร้อน หรือเครื่องทำความร้อน ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานภายใต้แสงอาทิตย์ หรือใกล้กับกระบวนการทำงานที่มีรังสีความร้อน โดยวิธีง่าย ๆ ที่เราจะรับรู้ถึงรังสีความร้อนคือการเคลื่อนที่จากที่ที่มีแสงอาทิตย์ไปยังที่ร่มก็จะรู้สึกถึงความแตกต่างของรังสีความร้อนที่ถูกปลดปล่อยออกมา

.

(4) ความเร็วอากาศ (Air speed) หรือที่รู้จักกันว่าเป็นความเร็วลม การเคลื่อนไหวของอากาศจะทำให้รู้สึกว่าทำความเย็นได้มากกว่าที่ผิวหนังทำความเย็นให้เรา

.

(5) ลักษณะกิจกรรมหรืองานที่ทำ (Physical activity) อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นจะสัมพันธ์กับกิจกรรมหรืองานที่ทำ ภายใต้สภาวะการทำงานที่ร้อนจะส่งผลต่อการเพิ่มผลกระทบจากความร้อนไปสู่ตัวผู้ปฏิบัติงาน

.

(6) เครื่องแต่งกาย (Clothing) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสามารถที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งอาจจะขัดขวางการระบายอากาศหรือความชื้นและการระเหยของเหงื่อที่จะผ่านเนื้อผ้าได้

.

(7) ปัจจัยส่วนบุคคล (Personal factors) เช่น อายุ เพศ สภาพร่างกาย ความสมบูรณ์แข็งแรง น้ำหนักตัว ระดับของการขาดน้ำ การใช้ยา อาหารที่รับประทาน การคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศ เป็นต้น

.

ภาวะความร้อนที่มีผลกระทบต่อร่างกาย เกิดขึ้นในการทำงานหรือทำกิจกรรมใด ๆ ในที่ซึ่งมีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีอิทธิพลต่อระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และเมื่อความร้อนรวมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น กิจกรรมการทำงานที่หนัก การสูญเสียของเหลวในร่างกาย ความเหนื่อยล้า หรือสภาวะร่างกายที่ไม่พร้อม เป็นต้น ก็อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานในสภาวะอากาศร้อน บางที่อาจถึงขั้นพิการหรือร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวและมีสุขภาพดีก็ตามหรือแม้กระทั่งการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลบางประเภทก็สามารถที่จะสร้างปัญหากับผู้สวมใส่โดยอาจไปจำกัดหรือขัดขวางระบบการทำความเย็นให้กับร่างกายได้

.

ภาวะความเครียดที่มีต่อร่างกายอันเนื่องมาจากความร้อน เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อภาวะความร้อนที่เกิดขึ้น เมื่อความร้อนสูงเกินเราจะรู้สึกไม่สบายตัวหรือทุกข์ทรมาน รวมถึงการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากจากความร้อนก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยความรุนแรงของภาวะความเครียดจะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ตัวแปร บางอย่างสามารถควบคุมได้ แต่บางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งตัวแปรเหล่านี้จะรวมถึงอายุ ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ระดับของภาวะการขาดน้ำ การเคยชินหรือการปรับตัวเข้ากับอากาศ เสื้อผ้าที่สวมใส่ การระบายอากาศและอาหารที่กินเข้าไป

.

ปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุจากฝ่ามือที่ลื่นเนื่องมาจากเหงื่อที่ไหลออกมามาก หรือการวิงเวียนศีรษะ มึนงง เป็นต้น จากอันตรายต่าง ๆ ที่สังเกตได้นั้นความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุจะพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดในสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ร้อน สูงกว่าการทำงานในสภาวะปกติทั่วไป เหตุผลหนึ่งคือ ภาวะอากาศที่ร้อนจะไปลดความระมัดระวังหรือความว่องไว นอกจากนั้นยังเป็นเหตุให้เกิดความแปรปรวนทางด้านจิตใจ ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด รำคาญ และภาวะอารมณ์อื่น ๆ ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานมองข้ามกรรมวิธีความปลอดภัย หรือละความใส่ใจจากอันตรายในงานที่ทำอยู่

.

ปัญหาต่อสุขภาพ จากสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ร้อนจะก่อให้เกิดโรคอันเนื่องมาจากความร้อนขึ้นได้ โดยเราสามารถที่จะแบ่งออก ได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

.

(a)  ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ภาวะขาดน้ำ และอ่อนแรง เพลีย เป็นต้น

(b)  เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต  เช่น ลมแพ้ร้อน เป็นต้น ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นระหว่างที่ร่างกายไม่สามารถปรับหรือลดอุณหภูมิในร่างกายได้

.

.

การแจกแจงอันตราย  

.

นายจ้างควรมีการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์การเจ็บป่วย อันเนื่องมาจากความร้อนและมีมาตรการที่จะป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยใช้กรรมวิธีที่เหมาะสม

.

(1)  วิธีการประเมินสภาวะแวดล้อมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

- อุณหภูมิอากาศ

- ความชื้น

- รังสีความร้อน

- ความเร็วอากาศ

- แหล่งหรือต้นกำเนิดความร้อน

.

(2)  วิธีการประเมินปัจจัยส่วนบุคคลที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

- การพิจารณาตัวผู้ปฏิบัติงานถึงความคุ้นเคยหรือความเคยชินกับสภาพอากาศ รวมถึงพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน และ

- การค้นหาความจริงกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานมีประสบการณ์การเจ็บป่วยจากความร้อนมาก่อน

.

(3)  วิธีการประเมินวิธีปฏิบัติงานที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

-  ลักษณะงานของกระบวนการความร้อนที่ปรากฏอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน

-  ระดับและระยะเวลาในการใช้แรงที่จำเป็นสำหรับการทำงานให้สำเร็จลุล่วง

- เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่จะเพิ่มความเครียดอันเนื่องมาจากความร้อน อันเป็นผลมาจากการไปลดประสิทธิภาพของการระบายอากาศหรือการระเหยของเหงื่อ ซึ่งเสื้อผ้าจะมีส่วนสำคัญในการป้องกันหรือเป็นฉนวนกันความร้อนของร่างกาย

-  การใช้ประโยชน์ของจำนวนแหล่งน้ำดื่มเย็นไว้ให้บริการ

-  วิธีการพิจารณาถ้ามีการปฏิบัติงานโดยลำพังในสภาพอากาศที่ร้อน

-  โอกาสในการที่จะลดระดับและช่วงระยะเวลาในการใช้แรงในการทำงานเป็นช่วง ๆ

.

(4)  วิธีการประเมินมาตรการในการป้องกันการเจ็บป่วย อันเนื่องมาจากความร้อนที่ถูกบรรจุไว้ในแผนงานป้องกันการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย

.

วิธีการควบคุมอันตราย  

.

(1) นายจ้างควรใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอันตรายที่สัมพันธ์กับการเจ็บป่วย อันเนื่องมาจากความร้อนที่จะเกิดขึ้น เช่น

.

(a) วิธีในการจัดสรรน้ำดื่ม ซึ่งควรจะสะอาด สดชื่น และเย็นพอสมควร ในปริมาณที่เพียงพอ พิจารณาอุณหภูมิของอากาศ ความชื้น และลักษณะงานที่ทำให้ตรงกับข้อกำหนดหรือเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน

.

(b) วิธีในการจัดสรรเวลาในการเข้าถึงสำหรับความช่วยเหลือปฐมพยาบาลและการบริการด้านการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ปฏิบัติงานที่ห่างไกลและกับผู้ปฏิบัติงานที่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

(c)  1. วิธีในการจัดสรรช่วงเวลาที่เพียงพอสำหรับการทำความคุ้นเคยหรือเคยชินสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่จะทำงานในสภาพอากาศที่ร้อน

.

2.ถ้านายจ้างพิจารณาแล้วว่าการทำความคุ้นเคยหรือเคยชิน สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่จะทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของลักษณะงาน เช่น การจ้างงานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ / การทำงานเป็นช่วง ๆ หรือมีการเคลื่อนที่ของการปฏิบัติงานไปยังพื้นที่งานทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน นายจ้างควรที่จะส่งเสริมวิธีที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ามีการทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้ดื่มน้ำบ่อย ๆ และมีวิธีอย่างน้อย ดังนี้ คือ

.

-  ใช้อุปกรณ์ในการทำความเย็น

-  มีการลดระดับและระยะเวลาเป็นระยะ ๆ ในการใช้แรงในพื้นที่งานที่มีอุณหภูมิสูง

-  ใส่ใจในการวัดอัตราการเต้นของชีพจรที่ช่วงระยะเวลานาทีที่ 3 ของการนั่งพักหลังจากทำงานครบรอบของการทำงานตามปกติ

-  ใส่ใจอุณหภูมิของร่างกายในการป้องกันสัญญาณความเครียดอันเนื่องมาจากความร้อน

.

(2) นายจ้างควรมีกรรมวิธีในการควบคุมป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน อย่างน้อย 1 วิธีหรือมากกว่านั้นที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการควบคุมอันตรายที่สัมพันธ์กับการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

การฝึกอบรม

.

(1)   นายจ้างควรจัดสรรการฝึกอบรมการป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน ดังนี้

.

(a)  ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ต้องทำงานในสภาวะอากาศร้อน โดยเมื่อวิธีในการป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยนายจ้างแล้ว ก็ควรมีการอธิบายก่อนที่จะมีการมอบหมายงานและมีการแจกแจงงานที่อาจมีผลให้เกิดการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนได้

(b)  ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

(c)  อยู่ในช่วงชั่วโมงทำงาน

(d)  อยู่ในระดับของการศึกษาและภาษาที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย

.

(2)  การฝึกอบรมการป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน ควรที่จะรวมองค์ประกอบเหล่านี้ไปด้วย

.

 2.1 การอธิบายถึง

.

1.  ความแตกต่างของชนิดการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน รวมถึงสาเหตุ และการป้องกัน

.

2.  การจดจำถึงสัญญาณและอาการทั่วไปของอาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นที่มีต่อระบบร่างกายถ้าไม่มีการให้ความใส่ใจถึงสัญญาณและอาการ

.

3.  วิธีการตอบสนองที่เหมาะสมต่อสัญญาณและอาการของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน ที่เกิดขึ้น

.

4.  ความสำคัญของการคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศ ความถี่ในการดื่มน้ำ และการลดระดับและช่วงระยะเวลาในการใช้แรงอย่างเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันความรุนแรงของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

5.  ปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน เช่น สภาพแวดล้อม ปัจจัยด้านสรีระ วิธีการปฏิบัติงาน และ

.

6.  ปัจจัยส่วนบุคคล ที่สามารถเพิ่มความรู้สึกไวต่อการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน รวมถึง

-  การขาดน้ำหรือสูญเสียน้ำ

-  การขาดความคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศ

-  สุขภาพไม่เอื้ออำนวย และ

-  ภาวะการใช้ยา ดื่มแอลกอฮอล์ และสารอื่น ๆ

.

2.2  การอธิบายถึงอาการและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นที่ผู้ปฏิบัติงานอาจแสดงออกมา เพื่อที่จะสามารถจดจำได้ว่ามีการโจมตีของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนเกิดขึ้นแล้วในตัวเองและในคนอื่น

.

2.3  การอธิบายถึงความสำคัญของการรายงานต่อนายจ้างทันทีเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยใด ๆ อันเนื่องมาจากความร้อน ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

.

2.4  วิธีของนายจ้างในการแจกแจง ป้องกัน และตอบสนองต่ออาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

2.5  เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้ซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

วิธีการควบคุมป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

ควรที่จะมีการตรวจสอบว่าได้ถูกจัดตั้งขึ้น ดำเนินการ และคงไว้ในสถานที่ปฏิบัติงาน

.

(1)  การควบคุมทั่วไป

.

วิธีการประเมินความไวต่อโรค และประวัติทางการแพทย์ก่อนหน้านี้ และอาการของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนของผู้ปฏิบัติงาน

-  วิธีที่จะมั่นใจได้ว่ามีการใช้มาตรการป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนในระหว่างเผชิญกับคลื่นความร้อน

-  วิธีในการเลือกใช้เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในการลดความร้อนที่สูงเกิน โดยควรเป็นชุดที่มีการระบายอากาศที่ดี สะท้อนกลับคลื่นความร้อนและไม่เป็นการเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกายจนเกินไป การทำงานกลางแจ้งควรใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ใช้หมวกแบบมีปีก และใช้โลชั่นกันแดด

.

หมายเหตุ :  ชุดป้องกันไอ เช่น ไอกรด จะเพิ่มจำนวนภาวะความร้อนที่มีผลกระทบต่อร่างกาย จึงควรมีการพิจารณาป้องกันเป็นพิเศษ

.

(2)  การควบคุมเชิงวิศวกรรม

.

2.1 การจัดสรรมาตรการเชิงวิศวกรรมเพื่อลดอุณหภูมิในอากาศ ความชื้น และรังสีความร้อน หรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของอากาศในสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น

.

-  ควบคุมความร้อนที่แหล่งต้นกำเนิดผ่านการใช้ฉนวนเครื่องกั้นสะท้อนกลับ

-  ใช้เครื่องป้องกัน ฉนวน สำหรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน

-  มีการปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน

-  ลดอุณหภูมิผ่านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

-  การระบายอากาศหรือการทำความเย็นเฉพาะจุดสำหรับผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ปฏิบัติงาน

-  การระบายอากาศทั่วไปในอาคาร

-  ใช้เครื่องปรับอากาศในยานพาหนะที่ใช้งาน

-  การป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์

-  การป้องกัน ซ่อมบำรุงในการลดการรั่วไหลของระบบไอน้ำร้อน

-  ใช้กระบวนการในการดูดไอเสียร้อนและไอน้ำ

-  การลดการปลดปล่อยน้ำเข้าไปในอากาศและกระบวนการอื่น ๆ ที่จะเพิ่มความชื้นในอากาศ ถึงแม้ว่าการปลดปล่อยน้ำเข้าไปในอากาศจะเป็นวิธีการให้ความเย็นก็ตาม

-  จัดสรรพื้นที่พักที่มีเครื่องปรับอากาศ

-  เพิ่มการเคลื่อนไหวของอากาศ เช่น พัดลม

-  ใช้อุปกรณ์ทำความเย็นส่วนบุคคล

.

2.2 ลดการใช้แรงมากในงานผ่านการใช้เครื่องยนต์กลไกช่วยเหลือ เช่น เครื่องยก

.

(3)  การควบคุมเชิงบริหารจัดการ  

.

คณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ควรที่จะมีการประเมินความต้องการในงาน ในทุก ๆ งานและให้ความใส่ใจ รวมถึงมียุทธศาสตร์ควบคุมในวันที่มีอากาศร้อน

.

-  เพิ่มความถี่และระยะเวลาในการพัก

-  จัดตารางเวลาทำงานในช่วงที่มีอากาศเย็นลงของวัน (ถ้าทำได้)

-  จัดสรรน้ำดื่มเย็นให้เพียงพอและใกล้กับผู้ปฏิบัติงานรวมถึงย้ำเตือนให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ

-  ผู้ปฏิบัติงานอาจเหยาะเกลือละเอียดในอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังทำความคุ้นเคยกับงานที่มีอากาศร้อน (ผู้ที่มีปัญหาหรืออยู่ในภาวะลดอาหารที่มีความเค็ม –Low salt diet ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อน)

-  พิจารณาการเพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานหรือลดจังหวะการทำงานลง

-  มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ทำความคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศร้อนแล้ว

-  ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในการจดจำถึงสัญญาณและอาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน และเริ่มระบบคู่หู เมื่อผู้ปฏิบัติงานมีแนวโน้มที่จะไม่แจ้งอาการของตัวเองให้ผู้อื่นทราบ

-  ผู้ปฏิบัติงานที่มีครรภ์และมีสภาวะร่างกายที่ไม่พร้อม ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อน

-  มีการจัดเตรียมแผนงานปฐมพยาบาลและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินไว้สำหรับรับมือกับการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

-  สืบสวนถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนทุก ๆ กรณี

-  จำกัดการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นตัวทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้

-  จัดสรรช่วงเวลาที่เพียงพอสำหรับผู้ปฏิบัติงานในการทำความคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศที่ร้อน

-  จำกัดเวลาในการสัมผัสกับความร้อน

-  ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้ตระหนักในการชดเชยของเหลวและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับเหงื่อและจดจำได้ถึงอาการขาดน้ำ การเหนื่อยแรงเพลียอย่างมาก หน้ามืด ตะคริว และลมแพ้ร้อน ซึ่งจัดเป็นอาการหรือโรคอันเนื่องมาจากความร้อน

-  แจ้งผู้ปฏิบัติงานให้ชั่งน้ำหนัก ก่อนและหลังจากงานเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

-  หัวหน้างานควรป้องกันแต่เนิ่น ๆ ถึงสัญญาณของภาวะความร้อนที่มีผลกระทบต่อร่างกายและอนุญาตให้พักถ้าส่ออาการจะเป็น

-  สลับการทำงานและช่วงพัก โดยให้มีที่พักเป็นที่ร่มและมีเครื่องปรับอากาศ ถ้าไม่มีที่ร่มตามธรรมชาติให้ใช้การกางเต็นท์หรือใช้ผ้าใบกันแดด

-  ใส่ใจสภาพแวดล้อมการทำงานและผู้ปฏิบัติงานทุก ๆ ชั่วโมง ถ้ามีสภาวะที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงสูงในการเกิดการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน ควรพิจารณาเคลื่อนย้ายผู้ปฏิบัติงานออกจากสภาพอากาศที่ร้อนสูงนั้น

.

วิธีในการหลีกเลี่ยงภาวะความร้อนที่มีผลกระทบต่อร่างกาย

.

-  การสร้างความคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพการทำงานที่มีอากาศร้อน ให้ร่างกายได้ปรับตัวเข้ากับความร้อนอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืน ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานในสภาพอากาศที่ร้อน จนกระทั่งสามารถทำงานได้เต็มช่วงเวลาทำงานปกติ โดยมากแล้วจะใช้เวลาในการปรับตัวประมาณ 4- 7 วัน ถ้าป่วยหรือขาดงานเป็นอาทิตย์ความคุ้นเคยก็จะหายไปมี 2 วิธีในการทำความคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศ

.

(1). กรณีมีประสบการณ์ในงาน ให้จำกัดเวลาทำงานในสภาพอากาศร้อนให้อยู่ประมาณ 50 % ของกะทำงานในวันแรกและ 80 % ในวันถัดมา ก็จะสามารถทำงานเต็มกะได้ในวันที่สาม และถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อน ควรที่จะเริ่มใช้เวลาทำงาน 20 % ในสภาพอากาศที่ร้อนของกะทำงานในวันแรก และเพิ่ม 20 % ในวันถัด ๆ มา จนสามารถทำงานเต็มกะได้

.

(2). แทนที่จะลดเวลาในการสัมผัสกับความร้อนในงาน ก็สามารถทำความคุ้นเคยหรือเคยชินกับสภาพอากาศได้โดยลดการใช้แรงมากในงานเป็นระยะเวลา 1- 2 อาทิตย์

.

-  ดื่มน้ำ (Drink Water) ในระหว่างสภาพอากาศร้อน ร่างกายจะสูญเสียของเหลวในร่างกายประมาณ 3 แกลลอนต่อวัน ให้ดื่มน้ำเย็นก่อน ระหว่าง และหลังจากทำงานภายใต้สภาวะที่ร้อน ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้วทุก ๆ 15 – 20 นาทีระหว่างทำงาน (ถืงแม้ว่าจะไม่กระหายน้ำ) อย่าเชื่อหรือดื่มน้ำเฉพาะเวลากระหาย เพราะคุณจะสูญเสียน้ำไปประมาณ 2 – 4 ปอนด์ก่อนที่จะรู้สึกกระหายน้ำเสียอีก

.

-  พยายามรักษาน้ำหนักตัว (Maintain your Weight)  น้ำหนักตัวที่เสียไปกับเหงื่อ ควรที่จะได้กลับคืนมาในทุก ๆ วัน และพยายามรักษาระดับน้ำหนักตัวให้คงที่โดยการดื่มน้ำมาก ๆ

.

-  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Avoid Alcohol) จะทำให้เกิดภาวะการขาดน้ำ เป็นการเพิ่มภาระให้กับร่างกายในสภาพอากาศร้อน ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเริ่มการทำงานหนักหรือการออกกำลัง

.

-  ใช้เกลือ (Use Salt) เหยาะเกลือละเอียดลงบนอาหาร แต่หลีกเลี่ยงใช้เกลือเม็ด เพราะอาจจะก่อให้เกิดภาวะเค็มมากเกินไป

.

คำเตือน ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือระบบไหลเวียนเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เกลือ

.

-  วางแผนล่วงหน้า (Plan Ahead & Know the Risk facters)  อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ความเร็วลมเป็นปัจจัยที่จะกำหนดปริมาณความร้อนที่มีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน อุณหภูมิที่สูง ความชื้นสูง การสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง และความเร็วลมต่ำจะผสมกันทำให้เกิดความเลวร้าย ถ้าเป็นไปได้ ควรจัดตารางเวลาทำงานที่หนักไว้ในตอนช่วงอากาศเย็นของวัน ปริมาณการใช้แรงและสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงานเป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา ผู้ปฏิบัติงานที่เดินทำงานจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่นั่งอยู่ในยานพาหนะ ผู้ที่ยกหรือแบกสิ่งของหนักยิ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด รวมถึงต้องพิจารณาจังหวะในการทำงานประกอบด้วย ผู้ที่มีอายุ อ้วนเกินปกติ หรือผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรืออยู่ในภาวะการใช้ยาย่อมมีความเสี่ยงสูงสำหรับการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

-  กินอาหารมื้อเบาๆ (Eat Lightly) กินอาหารมื้อเบา ๆ ย่อยง่าย ๆ เพราะอาหารที่ทำให้อ้วนหรือย่อยยากจะก่อให้เกิดปัญหาได้

.

-  พักบ่อยๆ (Rest often) พักในที่ร่มหรือห้องที่มีการระบายอากาศที่ดี การพักถี่ ๆ  ในระยะเวลาสั้น ๆ ดีกว่าการพักในระยะเวลายาวแต่นาน ๆ ครั้ง

.

-  สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม (Wear the Right Clothes) สำหรับการทำงานกลางแจ้ง ควรสวมใส่หมวกที่มีปีก แว่นกันแดด รองเท้าที่เหมาะสม เสื้อผ้าที่บางเบาจะช่วยในการระบายอากาศและการระเหยของเหงื่อได้ดียิ่งขึ้น

.

-  ใช้ประโยชน์จากระบบทำความเย็นและพื้นที่ร่ม  (Take Advantage of Cooling System & Shade)ใช้พัดลม ระบบระบายอากาศ และพื้นที่ร่ม

.

-  รักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง (Be Physical Fit) หนึ่งในวิธีป้องกันที่ดีที่สุดในการเผชิญกับการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน คือ การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยหัวใจที่แข็งแรงจะสามารถที่จะ

.

(1). ปั๊ม-สูบฉีดเลือดจำนวนมากที่จะนำออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อ และ

(2). ปั๊ม-สูบฉีดเลือดจำนวนมากที่อุ่นจากกล้ามเนื้อไปยังผิวหนังที่จะช่วยทำให้ความร้อนลดลงได้

.

ข้อควรระวัง : คุณอาจล้มหน้าคว่ำได้เมื่อทำงานในสภาพอากาศที่ร้อน เพราะอากาศที่ร้อนจะส่งผลต่อการประสานงานของร่างกาย สมาธิ ลดความแข็งแรง ความระมัดระวัง ความว่องไว และทำให้โกรธง่าย ดังนั้นควรมีการป้องกันภาวะความร้อนที่มีผลกระทบต่อร่างกาย

.

 

สรุปแล้วจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด หวังว่าคงมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ซึ่งผลที่ได้จากมาตรการควบคุมป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน ด้วยวิธีต่าง ๆ นั้น จะนำมาซึ่ง

 

.

-  การเพิ่มความปลอดภัย (Improve Safety)

 

-  การเพิ่มผลิตผล (Increased Productivity)

.

แต่อย่างไรก็ตามก็ควรมีการวางแผนในการทำงานเพื่อที่ผู้ปฏิบัติงานจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน

.

เอกสารอ้างอิง

.

- Working in the Heat,Work Safe Alberta ,Revised April 2004.

- Heat Stress Prevention Program ,Environmental Health & Safety, University of Florida , 2001.

- Working in the Heat: Guide for supervisors, University of Nebraska Lincoln , 2003.