ไอดีซี คาดวิกฤติน้ำท่วมไทยส่งผลให้ยอดผลิตพีซีร่วงกว่า 20% ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขาดตลาด คาดเริ่มฟื้นตัวไตรมาสแรกปี 55
ไอดีซี คาดวิกฤติน้ำท่วมไทยส่งผลให้ยอดผลิตพีซีร่วงกว่า 20% ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขาดตลาด คาดเริ่มฟื้นตัวไตรมาสแรกปี 55
มหาอุทกภัยในประเทศไทยนั้นกำลังสร้างความเสียหายอันประเมินค่ามิได้ต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อันเป็นผลจากการที่โรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์กว่า 6 โรงงานได้รับความเสียหายต้องหยุดการผลิตไป โดยงานวิจัยฉบับใหม่ของบริษัทวิจัยไอดีซีชี้ว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดการจัดจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ทั่วโลกเช่นกัน
ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้นั้น ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตหลักของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดยมีจำนวนการผลิตเป็น 40-45% ของโลก แต่หลังจากต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา น้ำที่หลากอยู่ทั่วที่ราบภาคกลางได้ทำให้สายการผลิตเกือบครึ่งต้องหยุดชะงักไป ไม่เพียงแต่โรงงาน และ สายการ ผลิตเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย
แต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยังส่งผลให้พนักงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ และไฟฟ้าเองก็ใช้การไม่ได้ในหลายพื้นที่อีกด้วย ถึงแม้การประเมินความเสียหายทั้งหมดจะยังคงไม่สามารถทำได้จนกว่าระดับน้ำจะลดลง แต่ในขณะนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าอย่างแน่นอน
ความร้ายแรงของภาวะการขาดแคลนครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของอุตสาหกรรมในการฟื้นตัวจากความเสียหายที่มีต่อสายการผลิตในประเทศไทย ไอดีซีเชื่อว่าผู้ผลิตจะฟื้นตัวและกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นปกติได้ในระยะเวลาอันไม่นานนัก แต่อย่างไรก็ตามสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะยังคงขาดตลาดต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าพีซีควรจะมีแผนรองรับสิ่งต่อไปนี้
- การขาดตลาดของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อย่างรุนแรงตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2554 และส่งผลต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 1 ของปี 2555
- การผลิตสินค้าพีซีส่วนใหญ่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 นั้นสามารถทำได้โดยการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีอยู่ในคลังของโรงงาน นั่นทำให้ยอดการผลิตพีซีในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยกว่า 10% แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือยอดการผลิตพีซีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 นั้นอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 20% ซึ่งนี่คือผลมาจากการขาดแคลนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของพีซีนั่นเอง
- ราคาฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะถีบตัวสูงขึ้นเพราะปริมาณสินค้ามีน้อยกว่าความต้องการซื้อ อีกทั้งต้นทุนของผู้ผลิตเองก็สูงขึ้นอันเนื่องมาจากต้นทุนของวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการเร่งขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายในการย้ายฐานการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น
- อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า และราคาของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะคงที่ภายในเดือนมิถุนายน โดยสิ่งต่างๆ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในครึ่งหลังของปี 2555
- ผู้ผลิตพีซีรายเล็กจะสูญเสียลูกค้าระดับองค์กรให้กับผู้ผลิตรายใหญ่กว่า ซึ่งอาจนำไปสู่การควบรวมกิจการระหว่างผู้ผลิตด้วยกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง
นายจอห์น ริดนิ่ง รองประธานฝ่ายงานวิจัยตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และเซมิคอนดัคเตอร์ของไอดีซีได้แถลงว่า “เพื่อที่จะรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะให้ความสำคัญกับการจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าที่มียอดการสั่งซื้อสูงอย่างเช่นผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ๆ ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นไปที่การจัดส่งสินค้าที่มีกำไรสูงซึ่งก็คือสินค้าที่เป็นส่วนประกอบของเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจระดับองค์กร แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์คงไม่สามารถละเลยลูกค้ารายเล็กๆ ได้ เพราะลูกค้าเหล่านี้จะยังคงมีความสำคัญเมื่อกำลังการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว”
“เราน่าจะได้เห็นวิธีการจัดการด้านการผลิตและการทำข้อตกลงกับลูกค้าแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิต และในขณะเดียวกันจะต้องวางแผนที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วย”
นายไบรอัน มา รองประธานฝ่ายงานวิจัยตลาดอุปกรณ์ต่อพ่วงประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของไอดีซีได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ตลาดพีซีในเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าตลาดในภูมิภาคอื่นๆ เพราะยอดขายของพีซีที่ประกอบตามร้านนั้นมีปริมาณสูงในภูมิภาคนี้ แต่นั่นก็อาจเป็นโอกาสอันดีของผู้ผลิตพีซีแบรนด์เนมที่สามารถสั่งซื้อฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้ในปริมาณมาก ในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้”
“การบริโภคสินค้าพีซีภายในประเทศไทยเองก็ยังเป็นคำถามสำคัญ เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายตั้งแต่เรื่องของความสามารถในการขนส่งและกระจายสินค้าไปจนถึงแผนการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่เราเคยเห็นตัวอย่างจากในอดีตมาหลายครั้งแล้วว่าตลาดในประเทศไทยมักจะฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และเราก็หวังว่าจะไปเห็นการฟื้นตัวแบบนั้นอีกครั้งหนึ่งในครึ่งปีหลังของปีหน้า”