ยักษ์ปิโตรนาส ประกาศเทียบชั้นเมเจอร์ออยล์ในไทย ดันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันให้ยิ่งใหญ่เท่ามาเลเซีย ยันไม่ถอดใจ แม้ค่าการตลาดต่ำ จนคิวเอทและเจ็ทโบกมือลาไปก่อนแล้ว ขอเวลา1 ปี ปรับโฉมปั๊มใหม่
ยักษ์ปิโตรนาส ประกาศเทียบชั้นเมเจอร์ออยล์ในไทย ดันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันให้ยิ่งใหญ่เท่ามาเลเซีย ยันไม่ถอดใจ แม้ค่าการตลาดต่ำ จนคิวเอทและเจ็ทโบกมือลาไปก่อนแล้ว ขอเวลา1 ปี ปรับโฉมปั๊มใหม่ งัดกลยุทธ์ดึงบริการแบบครบวงจร สร้างแบรนด์ร้านค้าสะดวกซื้อ"ซีเรีย"จากมาเลเซียเป็นตัวเสริมรายได้ มองการไกลตั้งโรงกลั่นในไทย |
. |
นายอามิน โมฮัมเหม็ด ฮุสเซ็น ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ฝ่ายพาณิชย์ และกลุ่มค้าปลีกธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปิโตรเลียม เนชั่นแนล เบอร์ฮาด หรือปิโตรนาส ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากได้รับเชิญเยี่ยมชมกิจการของปิโตรนาส เมื่อวันที่7-12 เมษายนที่ผ่านมาถึงแผนการดำเนินงานธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยว่า หลังจากที่ปิโตรนาสใช้เงินประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว2,400 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง40-41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ซื้อปั๊มน้ำมันคิวเอทจำนวน 117 แห่ง เมื่อปี 2548 ถือเป็นก้าวสำคัญที่ปิโตรนาสเข้ามาลงทุนธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในประเทศไทยอย่างเต็มตัว หลังจากได้ทดลองตลาดโดยมีจำนวนปั๊มเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น |
. |
ทั้งนี้ การที่ปิโตรนาสตัดสินใจซื้อปั๊มคิวเอท เนื่องจากมีแผนที่จะขยายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนตั้งปั๊มในประเทศเวียดนามและพม่าแล้ว ขณะที่ไทยถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้ไทยเป็นฐานการตลาดในการหารายได้เข้ามาเลเซียต่อไปด้วย แม้ว่าค่าการตลาดจะอยู่ในระดับต่ำแทบไม่มีกำไรเหลือก็ตาม |
. |
นอกจากนี้ยังมองว่าการลงทุนประเทศไทย ไม่ได้เข้ามาลงทุนระยะสั้นๆ แต่เป็นการลงทุนระยะยาว ที่หวังจะก้าวขึ้นมาเป็นเมเจอย์ออยล์ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของเมืองไทย มียอดจำหน่ายน้ำมันหรือรายได้เท่าเทียมกับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในมาเลเซีย จากปัจจุบันที่มีปั๊มน้ำมันอยู่ 797 แห่ง มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 41 % |
. |
"แม้ว่าบริษัทน้ำมันข้ามชาติ อย่างคิวเอท และเจ็ท ที่ได้ถอนการลงทุนไปแล้วก็ตาม แต่ปิโตรนาสเอง ยังเชื่อมั่นว่าจากการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในมาเลเซียจะช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกในไทยประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับมาเลเซียได้ แม้ว่าขณะนี้ปิโตรนาสจะมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยอยู่เพียง 1 % ก็ตาม" |
. |
สำหรับการลงทุนในประเทศไทย นายฮุสเซ็นกล่าวว่าจะเน้นในส่วนของการปรับปรุงสถานีบริการที่ซื้อมาจากคิวเอทให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจะใช้งบไม่มากนักเมื่อเทียบกับเงินที่นำไปซื้อปั๊มคิวเอท โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการปรับปรุงและเปลี่ยนแบรนด์ไปแล้วประมาณ 50 แห่ง และที่เหลือคาดว่าจะดำเนินการอย่างเร็วให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ |
. |
ส่วนการจะขยายจำนวนปั๊มเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้ต้องนำปัจจัยเรื่องค่าการตลาดน้ำมันที่ต่ำ ค่าที่ดินมีราคาแพงมาพิจารณา ประกอบกับอยู่ในช่วงการปรับปรุงปั๊มน้ำมัน ในระยะสั้นนี้ จึงยังไม่มีแผนเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมัน แต่หากปรับปรุงปั๊มเสร็จหมดแล้ว อาจจะนำแผนมาทบทวนอีกครั้งว่าจะลงทุนขยายปั๊มออกไปอย่างไร เพราะแผนเดิมที่วางไว้ในการซื้อปั๊มเจ็ทไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเมื่อบมจ.ปตท.ชนะการประมูลโดยใช้เงินทุน275 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 9,556 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน34.75บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)เข้าซื้อกิจการน้ำมันเจ๊ทและร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ในประเทศไทย147 แห่งไปแล้ว |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งโรงกลั่นน้ำมันเพื่อใช้เป็นฐานในการส่งออกและการป้อนน้ำมันให้กับสถานีบริการน้ำมันในไทย เนื่องจากปัจจุบันปิโตรนาสมีโรงกลั่นผลิตน้ำมันได้เอง 367,300 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ไม่ได้ส่งมาจำหน่ายให้กับปั๊มในไทย แต่จะรับจากโรงกลั่นเอสโซ่มาจำหน่าย อย่างไรก็ดีขณะนี้ได้เริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้แล้วว่า จะนำน้ำมันดิบมาจากไหน เนื่องจากน้ำมันดิบที่ปิโตรนาสผลิตได้ ส่วนหนึ่งต้องส่งออกไปต่างประเทศ เพราะได้ราคาดีกว่านำมากลั่นเอง ขณะที่โรงกลั่นของปิโตรนาสส่วนหนึ่งต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่น เพราะคุ้มกว่าใช้น้ำมันดิบที่ผลิตได้เอง ดังนั้นต้องพิจารณาแหล่งที่มาของน้ำมันดิบด้วย |
. |
นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของที่ตั้งโรงกลั่น เนื่องจากจะต้องมีความพร้อมของท่าเรือน้ำลึกในการรับเรือขนาดใหญ่เพื่อรับส่งน้ำมัน ซึ่งเวลานี้การหาสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกของไทยมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องนำมาพิจารณา ส่วนจะตัดสินใจตั้งโรงกลั่นเมื่อใดนั้น ในขั้นต้นคงจะต้องพิจารณาถึงจำนวนปั๊มน้ำมันของปิโตรนาสต้องมีมากพอที่จะรองรับการป้อนน้ำมันจากโรงกลั่นได้มากน้อยเพียงใดด้วย |
. |
นายฮุสเซ็น กล่าวเสริมอีกว่า ถึงแม้ว่าการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทยจะรุนแรงมาก และค่าการตลาดต่ำ ดังนั้นการหารายได้จากธุรกิจน้ำมัน จึงเป็นปัจจัยรองลงไป เมื่อเทียบกับธุรกิจค้าปลีกในปั๊มน้ำมัน ที่ปิโตรนาสจะนำรูปแบบการบริการแบบครบวงจร ที่ดำเนินการอยู่ในมาเลเซียมาใช้ ซึ่งเน้นการบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เมื่อเข้ามาในปั๊มน้ำมันแล้วสามารถใช้บริการได้ครบโดยไม่จำเป็นต้องไปที่อื่น จึงได้นำเอาร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์"ซีเรีย" ที่ประสบความสำเร็จในมาเลเซีย มาเปิดให้บริการผู้บริโภค ตอบสนองการใช้ชีวิตแบบคนเมืองด้วยซึ่งถือเป็นจุดแข็งของปิโตรนาส เมื่อรวมกับการบริการที่ครบวงจรแล้ว จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจน้ำมันอยู่รอดได้ |
. |
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถยนต์ โดยปิโตรนาสได้เจรจากับทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในการตั้งปั๊มเอ็นจีวีเบื้องต้น 7-8 แห่ง จะช่วยให้มีรายได้เข้ามาอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่สามารถเปิดบริการได้ก็ตาม เนื่องจากติดปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติงาน |
. |
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |