นายกฯ ยิ่งลักษณ์แถลงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบฯ 2555 ต่อสภาผู้แทนราษฎร
คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2554 เวลา 10.00 น.
หลักการ
ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นจำนวนไม่เกิน 2,380,000,000,000 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น จำนวน 2,326,082,048,600 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 53,917,951,400 บาท
เหตุผล
1. เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น/ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินแผ่นดิน
2. เพื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว
รัฐบาลขอเสนอคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ฉบับสมบูรณ์เป็นเอกสาร และขอเรียนสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทย มีความเจริญรุ่งเรือง มีความสามัคคี ปรองดอง มีความยุติธรรม พร้อมทั้งสามารถแข่งขันได้อย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก และที่สำคัญรัฐบาลจะนำความสุขกลับคืนมาให้พี่น้องประชาชน
แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ปัญหาอุทกภัยได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง กระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม ทั้งในระดับมหภาค และในระดับครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทาง ที่จะเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บังเกิดผลชัดเจน และเป็นรูปธรรม ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ
โดยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติฉบับนี้ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูให้กลไกทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างความสมานฉันท์และความสันติสุขของคนในชาติ การแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอุทกภัย การยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เป็นต้น
2. ระยะการบริหารราชการ 4 ปี ของรัฐบาล เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย ในไตรมาสที่สองหดตัว ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ซึ่งได้สร้างความกังวลและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
รวมทั้งการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งส่งผลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ประกอบกับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐได้ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 2.9
ดังนั้นในการจัดเตรียมงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2555 จึงคาดว่า เฉลี่ยทั้งปี 2554 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 ถึงร้อยละ 4.0 ตามการฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดอาเซียน และความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนจากสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง โดยมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.6 ถึงร้อยละ 4.0
อย่างไรก็ตามจากภาวะวิกฤติอุทกภัยในปัจจุบัน รวมถึงความล่าช้าของการนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีปัจจัยลบ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี และคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ภาคการผลิตบางส่วนในช่วงต้นปีจะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 แต่เมื่อปัญหาดังกล่าวบรรเทาเบาบางลงแล้ว รัฐบาลจะเร่งรัดการลงทุนเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย ดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
และจัดมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อและมาตรการภาษีที่จะเป็นส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนเครื่องจักรใหม่และซ่อมแซมเครื่องจักร ซึ่งจะช่วยสร้างงานงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชนและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะขยายฐานเศรษฐกิจภายในประเทศและช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ยังมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และความชัดเจนของมาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป
ประกอบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในภาวะเกินดุล หนี้ต่างประเทศและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะยังสามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.5 ถึงร้อยละ 5.5 และในส่วนของอัตราเงินเฟ้อรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายไว้ให้อยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 ถึงร้อยละ 4.0
ฐานะและนโยบายการคลัง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,066,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากปีก่อน และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จำนวน 86,900 ล้านบาทแล้ว คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ/ที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 1,980,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับการบริหารจัดการรายจ่าย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาอุทกภัยร้ายแรงในช่วงปลายปี 2554 ควบคู่กับการเร่งรัดสร้างรายได้ของประชาชน เพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และการสร้างภูมิคุ้มกันจากภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยน้อมนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศ/ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณและนโยบายงบประมาณไว้ 4 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง เพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุน เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการผลิต โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ ของหน่วยงาน ควบคู่กับการพิจารณาแหล่งเงินอื่น รวมทั้งพิจารณาทบทวนเพื่อเพิ่มเป้าหมายในภารกิจสำคัญที่ส่งผลต่อประโยชน์โดยรวมของประเทศ และลดเป้าหมายการดำเนินงานที่มีลำดับความสำคัญลดลง หรือหมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและสถานการณ์ในปัจจุบัน
ประการที่สาม ส่งเสริมการสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประการที่สี่ ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังและความจำเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ
ภายใต้กรอบแนวทางและนโยบายงบประมาณดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,380,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2554 จะเพิ่มขึ้นจำนวน 210,032.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 โดยเป็นการกำหนดนโยบายขาดดุลงบประมาณ จำนวน 400,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2554 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 3.7
ทั้งนี้ การกำหนดวงเงินงบประมาณขาดดุลดังกล่าว เป็นการแสดงความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมทั้งยังคงสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 321,401.5 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ได้จัดสรรงบประมาณเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวนทั้งสิ้น 53,918 ล้านบาท เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 วรรคหนึ่ง
สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2554 มีจำนวนร้อยละ 40.22 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้
ฐานะและนโยบายการเงิน
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินโลกในทุกองค์ประกอบ ส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อทยอยเพิ่มขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงเริ่มดำเนินนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะสมดุล สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 9 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 3.5 ต่อปี เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน ให้มีเสถียรภาพและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และปัญหาอุทกภัย ขณะที่แรงกดดันด้านราคาเริ่มทรงตัว คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามผลการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2554
ฐานะการเงินของประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 มีจำนวน 180,112.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไว้ 8 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติราชการตามภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2558 และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญและวงเงินงบประมาณ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม จัดสรรงบประมาณจำนวน 475,062.6 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
1.1 การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ฟื้นฟูประชาธิปไตยและปฏิรูปการเมือง งบประมาณ จำนวน 528.1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ปลูกฝังจิตสำนึกความสามัคคี ความปรองดอง และสมานฉันท์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
1.2 การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด งบประมาณ จำนวน 9,695.2 ล้านบาท เพื่อให้สังคมเข้มแข็ง มีความปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกันจากภัยยาเสพติด โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ ปราบปรามลงโทษผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า ผู้มีอิทธิพลและผู้ประพฤติมิชอบ 99,700 ราย
ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศในการควบคุม และสกัดกั้นยาเสพติด สารเคมี สารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดมิให้มีการลักลอบเข้าสู่ประเทศ และป้องกันมิให้กลุ่มเสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้แก่ เยาวชนกลุ่มเสี่ยง 200,000 คน และหมู่บ้านและชุมชน 60,600 แห่ง รวมทั้ง บำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ 400,000 ราย โดยมีกลไกติดตามช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
1.3 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ งบประมาณ จำนวน 206.3 ล้านบาท เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการปลูกจิตสำนึก ค่านิยมของสังคมเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และถูกต้องชอบธรรม โดยการให้ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีการทุจริต รวมทั้งสร้างเครือข่าย
เฝ้าระวังในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
1.4 การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ งบประมาณ จำนวน 45,286.3 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบให้สามารถป้องกัน บรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก โดยสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวง เพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำและขยายเขตพื้นที่ชลประทาน 302,000 ไร่ บริหารจัดการระบบชลประทาน 24 ล้านไร่ ผันน้ำและกระจายน้ำในพื้นที่วิกฤต รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำในไร่นา
1.5 การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ จำนวน 16,277.6 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อยและให้ความสำคัญกับระบบข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การให้บริการสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพบนพื้นฐานของวิถีชีวิตของประชาชนทั้งทางขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
1.6 การฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค งบประมาณ จำนวน 373.4 ล้านบาท เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง
เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เสริมสร้างเครือข่ายด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในรูปแบบการเยือนของผู้นำระดับสูงของประเทศ การดำเนินความร่วมมือทวิภาคี ควบคู่กับการส่งเสริมกิจกรรมทางการทูตในระดับประชาชน และการสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในทุกภาคส่วน
1.7 การแก้ไขความเดือนร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน งบประมาณ จำนวน 72,273.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและยกระดับรายได้ของแรงงาน การเพิ่มเงินค่าครองชีพในบุคลากรภาคราชการสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ฟื้นฟูและพักชำระหนี้ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย สนับสนุนหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ 7 ล้านคน ให้ได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือนเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได รวมทั้งสนับสนุนมาตรการด้านพลังงาน และบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
1.8 การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน งบประมาณ จำนวน 92,356.2 ล้านบาท เพื่อให้ภาคเกษตรเป็นฐานการผลิตที่ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ โดยดำเนินการยกระดับรายได้เกษตรกรตามโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร
จัดหาสินเชื่อปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร ส่งเสริมให้หมู่บ้านและชุมชนมีศักยภาพ และขีดความสามารถในการพัฒนาระดับฐานราก พัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติให้สามารถยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนและหมู่บ้าน โดยสนับสนุนการเพิ่มทุนระยะที่ 3
1.9 การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณ จำนวน 6,642.6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปีเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา และปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยพระบาทวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เชิดชูพระอัจฉริยภาพทางด้านการกีฬา สนับสนุนโครงการส่งเสริมปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ ส่งเสริมและเผยแพร่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม
รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมนักเดินทางธุรกิจกลุ่มการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติให้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยสนับสนุนการทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
1.10 การสนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน งบประมาณ จำนวน 571.2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จากการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับองค์ความรู้สมัยใหม่ ให้มีศูนย์กระจายและแสดงสินค้าในพื้นที่เป้าหมาย ส่งเสริมภารกิจของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ และพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเข้าสู่ระดับสากล
1.11 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ งบประมาณ จำนวน 108,916.1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มเป็น 2,755.60 บาท ต่อคนต่อปี เพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนที่ขึ้นทะเบียน 48.3 ล้านคน รวมทั้งให้บริการและรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 157,600 ราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 21,500 ราย ให้บริการรักษาพยาบาล
ควบคุมและป้องกันโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง 1.6 ล้านราย บริการผู้ป่วยจิตเวช 111,200 ราย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะโภชนาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ตลอดจนการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
1.12 การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา งบประมาณ จำนวน 1,936.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสนับสนุนการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาหรือแท็บเล็ต ให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนที่มีความพร้อมไม่น้อยกว่า 569,400 คน ควบคู่กับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมเพื่อบรรจุลงในคอมพิวเตอร์พกพา
1.13 การเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ งบประมาณ จำนวน 120,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากอุทกภัยในลักษณะบูรณาการทุกภาคส่วน โดยให้ความช่วยเหลือเยียวยา ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัย
รวมทั้งปรับปรุง ซ่อมแซม ก่อสร้าง ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และสาธารณประโยชน์อื่นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ให้สามารถป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อรวมกับเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติและสาธารณภัย อีกจำนวน 10,000 ล้านบาท จะมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความมั่นคงแห่งรัฐ จัดสรรงบประมาณจำนวน 189,109.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
2.1 การเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ งบประมาณ จำนวน 11,209.9 ล้านบาท เพื่อเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้มีผู้ใดล่วงละเมิด น้อมนำพระราชดำริไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
2.2 การเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ งบประมาณ จำนวน 163,324.4 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบบป้องกันประเทศให้มีความพร้อม มีศักยภาพในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ ปลอดภัยจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนสิทธิและหน้าที่ และปรับปรุงสวัสดิการกำลังพลทุกระดับ
2.3 การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ งบประมาณ จำนวน 14,575.6 ล้านบาท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาคมโลกในการอำนวยความปลอดภัย
เตรียมความพร้อมและจัดการวิกฤติการณ์ที่เกิดจากภัยก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และภัยคุกคามทุกรูปแบบ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง และแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพให้ชัดเจน ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรองของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จัดสรรงบประมาณจำนวน 173,121.8 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
3.1 การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน งบประมาณ จำนวน 20,119.3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางการคลัง โดยดำเนินนโยบายการเงินการคลังให้เกิดความสมดุล เพิ่มประสิทธิภาพด้านการงบประมาณและบริหารจัดการหนี้สาธารณะ พัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน มีเสถียรภาพ และสามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
3.2 การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าภาคการเกษตร งบประมาณ จำนวน 33,116 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างให้ฐานการผลิตภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ และมีเหลือสำหรับการผลิตพลังงานทางเลือกและการส่งออก
สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร โดยการทำบัญชีต้นทุนอาชีพเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร การพัฒนาที่ดิน การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร พัฒนาการผลิตและจัดการสินค้าเกษตร พัฒนาและฟื้นฟูอาชีพการทำการเกษตรยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รวมทั้งอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 2,076,000 ไร่ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ กำกับ ดูแลแหล่งผลิต ปัจจัยการผลิต ผลผลิต และผลิตภัณฑ์เกษตร พัฒนาคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร ตลอดจนติดตามดูแลรักษาระดับราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนภายใต้ระบบตลาดที่เป็นธรรม
3.3 การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม งบประมาณ จำนวน 8,683.2 ล้านบาท เพื่อสร้างคุณค่าสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร พัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เร่งฟื้นฟูการลงทุน กำกับดูแลสถานประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและได้มาตรฐาน ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในลักษณะกองทุนตั้งตัวได้ รวมทั้งดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
3.4 การเพิ่มประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้าและการลงทุน งบประมาณ จำนวน 6,959.5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ผ่านกลไกมาตรการทางการค้า การลงทุนและการตลาด ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการส่งออก โดยการรักษาตลาดเดิม และขยายการส่งออกไปตลาดใหม่
ผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สนับสนุนให้ผู้ประกอบการและเครือข่ายได้รับความรู้ ความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางเศรษฐกิจการค้าเพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและสามารถแข่งขัน
ดูแลให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในด้านราคา ปริมาณ คุณภาพสินค้า รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการกลุ่มโลจิสติกส์ไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้
3.5 การส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ งบประมาณ จำนวน 270 ล้านบาท เพื่อเพิ่มมูลค่าในการปรับโครงสร้างภาคการผลิตสินค้าและบริการตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนากลุ่มสินค้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผสมผสานภูมิปัญญา เอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการให้มีความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่เศรษฐกิจสมดุลและยั่งยืน
3.6 การพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ งบประมาณ จำนวน 2,692.1 ล้านบาท เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวและบริการของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่งเสริม ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนามาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวและบริการ
ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมการประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้นำเที่ยว และการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นกับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยและการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
3.7 การส่งเสริมและพัฒนากีฬาและนันทนาการ งบประมาณ จำนวน 7,653 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและสมรรถภาพทางกายที่ดี โดยส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ผู้พิการ และประชาชนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการกีฬาและกิจกรรมนันทนาการ สนับสนุนการจัดการศึกษาด้านกีฬาแก่นักเรียนและนักศึกษา พัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านกีฬาและนันทนาการ ส่งเสริมการให้บริการด้านวิชาการและอาคารสถานที่ แก่ผู้รับบริการ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการบริหารจัดการด้านกีฬาและนันทนาการ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศและอาชีพในระดับนานาชาติ
3.8 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณจำนวน 89,340.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้การขนส่งสินค้าและบริการ เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งภายในและระหว่างประเทศ สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ 5 แห่ง และเพื่อการสัญจรทางน้ำ 3 แห่ง ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และป้องกันตลิ่งพัง ขุดลอกร่องน้ำภายในประเทศและชายฝั่งไม่น้อยกว่า 90 ร่องน้ำ ก่อสร้างและพัฒนาท่าอากาศยานและสำนักงานขนส่งสาขา เร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร ก่อสร้างทางและสะพานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
สร้างทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก บูรณะทางหลวงสายหลัก ก่อสร้างถนนลาดยางและบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวงชนบทกว่า 115,100 กิโลเมตร ศึกษาออกแบบเพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ระหว่าง กรุงเทพ - พิษณุโลก กรุงเทพ - นครราชสีมา และกรุงเทพ - หัวหิน และศึกษาออกแบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
3.9 การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งบประมาณ จำนวน 1,594.5 ล้านบาท เพื่อจัดหาพลังงานให้เพียงพอ มีเสถียรภาพ และลดสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และให้สิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 70 แปลง
จัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการพลังงาน จัดทำแผนพลังงานระดับชุมชน 675 ชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ 115 แห่ง และพัฒนาพลังงานทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ จำนวน 6 โครงการ
3.10 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งบประมาณ จำนวน 2,693.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง พัฒนาข้อมูลสถิติและสารสนเทศแห่งชาติให้เป็นเอกภาพในภาครัฐ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพและได้มาตรฐาน เสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท บ่มเพาะผู้ประกอบการ และจัดให้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ 112 หน่วยงาน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลและข่าวสาร
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม จัดสรรงบประมาณจำนวน 597,468.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
4.1 การสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบประมาณ จำนวน 83,144.9 ล้านบาท เพื่อให้ประชากรวัยเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ 12.8 ล้านคน ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและมาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสนับสนุนการจัดหาหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ
4.2 การขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา งบประมาณ จำนวน 336,362.4 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยได้มีโอกาสเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต ปฏิรูประบบการผลิตครู สร้างครูเก่ง ครูดี มีคุณธรรม สนับสนุนให้มีครูเพียงพอในโรงเรียน ส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สรรหาผู้มีความรู้ ความสามารถและปราชญ์ชาวบ้านให้เป็นครูคลังสมอง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในสถานศึกษา 32,000 แห่ง
ส่งเสริมการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมโลก สนับสนุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศตามโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน 1,606 คน จัดสรรเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่น้อยกว่า 991,100 คน รวมทั้งสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา สนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาของรัฐ ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องตามความต้องการของประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและสังคมอย่างทั่วถึง โดยจัดตั้งศูนย์ ฝึกอาชีพชุมชนกว่า 7,800 แห่ง เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่ประชาชน และสนับสนุนศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน
4.3 การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานแรงงาน งบประมาณ จำนวน 26,108.5 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารด้านตลาดแรงงาน 7 ล้านคน สร้างโอกาสการมีงานทำไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านคน รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการอีกจำนวน 6,700 คน จัดทำฐานข้อมูลแรงงานทักษะพิเศษ 5,000 คน จัดกิจกรรมนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ และพัฒนาฝีมือแรงงานในสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านคน
ส่งเสริมการขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ ดูแลความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับบุตรผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ ในชุมชนและพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในระบบประกันสังคม 9.9 ล้านคน ควบคู่กับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านคน เสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ให้เป็นธรรมภายใต้กรอบของกฎหมาย
รวมทั้งบริหารจัดการควบคุมแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง และพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานไทย เพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
4.4 การพัฒนาด้านสาธารณสุข งบประมาณ จำนวน 113,314 ล้านบาท เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน เสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดี พัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพเทคโนโลยีด้านงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ส่งเสริมการให้บริการรักษาและฟื้นฟูสภาพโรคติดต่อสำคัญ โรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพ
สนับสนุนการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์บริการสุขภาพและเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียและระดับนานาชาติ พัฒนาศักยภาพและแก้ไขปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอย่างต่อเนื่อง
เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนและสนับสนุนครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างประกอบ จัดตั้งศูนย์อภิบาลผู้ป่วยเรื้อรังแบบครบวงจร พัฒนาศูนย์ดูแลอุบัติภัย พัฒนาระบบสื่อสารสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินและระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างทดแทนและปรับปรุงซ่อมแซมสถานบริการสาธารณสุข เร่งการผลิตและเพิ่มสมรรถนะบุคลากรแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพอกับประชากรและกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
สนับสนุนการปฏิบัติงานของมูลนิธิแพทย์อาสา (พอ.สว.) โครงการฟันเทียมพระราชทาน พัฒนา ขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรตั้งแต่ในครรภ์และทุกช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ สนับสนุนโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารไม่น้อยกว่า 459 แห่ง พัฒนาสุขภาพอนามัยครอบครัว
สนับสนุนศูนย์เด็กเล็กในชุมชน ศูนย์ 3 วัยสานสายใยรัก โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อสตรีไทย รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของมัสยิดในการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมและกำกับโรค 400 แห่ง ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่น และสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย เพื่อความเป็นเลิศและครบวงจร
4.5 การอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม งบประมาณ จำนวน 9,048.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกและค่านิยม ที่ดีงาม มีหลักธรรมทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต โดยจัดให้มีการบวชและอบรมจริยธรรมเด็กภาคฤดูร้อน 200,000 คน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 850,000 คน สนับสนุนการอบรมศาสนา
ส่งเสริมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและศาสนาผ่านโครงการลานบุญ ลานปัญญา 1,150 แห่ง การศึกษาพระปริยัติธรรม บูรณปฏิสังขรณ์วัดและศาสนสถานของศาสนาอื่น ตลอดจนส่งเสริม ฟื้นฟู และรักษาศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนองค์กรเครือข่ายสภาวัฒนธรรมทุกระดับทั่วประเทศ 7,930 แห่ง อนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน ที่เป็นมรดกโลก ทำนุบำรุงมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม พัฒนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมทั้งให้บริการและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมให้แก่ประชาชน
4.6 การเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและสังคม งบประมาณ จำนวน 22,545.3 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต การทำงานและจัดสวัสดิการทางสังคม เพิ่มพูนความรู้ พัฒนาอาชีพ และพัฒนาศักยภาพเพื่อการพึ่งตัวเองของประชาชน พัฒนาวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น โดยสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้ชุมชนท้องถิ่นในศูนย์พัฒนาครอบครัว 7,775 แห่ง
รวมทั้งสนับสนุนการยุติความรุนแรงในครอบครัว การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน สนับสนุนการพัฒนาแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สนับสนุนบทบาทสตรีไทยให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาค โดยส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 77 จังหวัด เสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม หาอาชีพที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ
สร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินชีวิตให้คนพิการ โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนเบี้ยคนพิการ 1.1 ล้านคน ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงในชีวิตและดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ
4.7 การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยทางถนน งบประมาณ จำนวน 6,944.4 ล้านบาท เพื่อลดการเกิดอุบัติภัยและความสูญเสียทางอุบัติเหตุจราจรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยแก้ไขจุดเสี่ยงและบริเวณอันตรายบนโครงข่ายทางหลวงให้มีความปลอดภัย 480 แห่ง อำนวยการจราจรเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการใช้ยานพาหนะ รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสำคัญ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ด้านอุบัติภัยเพื่อลดอุบัติภัยทางถนน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบประมาณจำนวน 45,148.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
5.1 การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณ จำนวน 20,368.7 ล้านบาท เพื่อการคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรธรณี ให้มีความสมดุลและคงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยการผลักดันให้มียุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
จัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดิน 700 ครัวเรือน ป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ 141 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้ทางทะเลและชายฝั่ง 1.7 ล้านไร่ ให้บริการการท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 300 แห่ง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่เสื่อมโทรม 14,600 ไร่ จัดทำแปลงสาธิต การปลูกป่าเศรษฐกิจ 6,100 ไร่ จัดทำรังวัดแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ออกเอกสารสิทธิ์การถือครองการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน 100,000 แปลง จัดทำฐานข้อมูลรูปแปลงที่ดินในระบบสารสนเทศ 1.7 ล้านแปลง อนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์ 34 ชนิด เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่แหล่งน้ำที่ได้รับการจัดการและฟื้นฟู 9 ล้านไร่ ให้บริการด้านทรัพยากรธรณีและธรณีวิทยา 450,000 ราย และส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์เป็นแหล่งการศึกษาและเรียนรู้ของประชาชน
5.2 การจัดการสิ่งแวดล้อม งบประมาณ จำนวน 2,817.3 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษอย่างเหมาะสมต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยการป้องกัน ควบคุม ลด และขจัดมลพิษ เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ น้ำเสีย กลิ่น เสียง และขยะทุกประเภทในพื้นที่เป้าหมาย 95 แห่ง
จัดตั้งเครือข่ายที่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม 228 เครือข่าย กำหนดเครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนแผนปฏิบัติการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของตนเองได้
5.3 การจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณ จำนวน 7,924.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนากลไกการบริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม สอดคล้องกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตและการผลิตที่มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบูรณาการน้ำผ่านเครือข่ายประชาชน องค์กรลุ่มน้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง 287 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำบาดาลสะอาดสำหรับโรงเรียนและหมู่บ้านภัยแล้ง 1,047 แห่ง และการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงภัย 832 หมู่บ้าน
5.4 การป้องกัน เตือนภัย แก้ไขและฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ งบประมาณ จำนวน 13,937 ล้านบาท เพื่อจัดให้มีระบบการป้องกัน เตือนภัย และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติและ สาธารณภัย รวมถึงบริเวณพื้นที่ชายแดนและชายฝั่ง โดยการเฝ้าระวังและเตือนภัย การวางแผนช่วยเหลือ และการฟื้นฟูบูรณะ จัดตั้งอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติ 1,500 คน ในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติ 503 แห่ง ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน 34 แห่ง ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน 10 แห่ง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายแดนและชายฝั่งทะเลกว่า 45,400 เมตร และจัดทำผังนโยบายบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำ 10 ผัง
5.5 การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณ จำนวน 101.7 ล้าน เพื่อจัดทำแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกอย่างมีส่วนร่วม โดยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการจัดการก๊าชเรือนกระจกแก่ผู้รับบริการ 400 ราย ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเอกชน 500 ราย รวมทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าที่เข้าร่วมโครงการฉลากลดก๊าซ 60 ผลิตภัณฑ์
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม จัดสรรงบประมาณจำนวน 18,037.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
6.1 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม งบประมาณ จำนวน 7,370 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยประชาชนได้รับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน ให้บริการสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าและคุณภาพการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และบริการข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาล 1,400 ทุน พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 20,000 คน และผู้ประกอบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 290 ราย บริการข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ 5,000 รายการ ตลอดจนส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 18,000 คน
6.2 การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย งบประมาณ จำนวน 10,667.7 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาขั้นสูง ให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งบริหารงานวิจัยให้เกิดประสิทธิภาพสูง
สนับสนุนทุนการวิจัยที่สามารถนำผลไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและการป้องกันด้านสาธารณภัย ยกระดับนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ 100 เรื่อง ขอจดสิทธิบัตร 24 เรื่อง มีบทความวิชาการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ 620 เรื่อง และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 5,000 โครงการ
ยุทธศาสตร์ที่ 7 : การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จัดสรรงบประมาณจำนวน 7,839.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ดังนี้
7.1 การขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งบประมาณ จำนวน 7,839.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และได้รับประโยชน์จากการเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ
ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมสถานะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ การให้บริการด้านต่างประเทศ ด้านการกงสุล งานพิธีการทูต การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 8 : การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จัดสรรงบประมาณจำนวน 313,293.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
8.1 การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน งบประมาณ จำนวน 44,234.3 ล้านบาท เพื่อยกระดับการบริหารงานระบบราชการให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเพิ่มคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชน ปรับปรุงการให้บริการเชิงรุกของภาครัฐ บริหารทรัพยากรบุคคล และเพิ่มสมรรถนะข้าราชการไปสู่ระบบสากลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารของทางราชการสู่สาธารณชนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม
8.2 การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ จำนวน 142,340.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจัดบริการสาธารณะตามความต้องการของประชาชนและผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่
เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการให้ครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างศักยภาพและเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการรองรับการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง
8.3 การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด งบประมาณ จำนวน 18,588.3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอย่างบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วน ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรักษาความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาจังหวัด โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและการสร้างรายได้ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และพัฒนาการบริหารจัดการให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ
8.4 การสนับสนุนการจัดการของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ งบประมาณ จำนวน 32,750.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการบริหารงานของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ดำเนินงานได้อย่างอิสระ มีประสิทธิภาพ และเน้นความสำคัญในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
รวมทั้งพัฒนาระบบอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาค ทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เสริมสร้างมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่งเสริมให้ภาครัฐและประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริต ประพฤติ มิชอบให้เกิดความโปร่งใส
8.5 การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณ จำนวน 75,380.5 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวดเร็ว และเป็นธรรม พัฒนากระบวนการยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยมาตรการเชิงรุก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น เสริมสร้างการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม และพัฒนาระบบการสืบสวน
9. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จัดสรรงบประมาณจำนวน 560,917.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
9.1 การบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบประมาณ จำนวน 68,700 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาในสภาวะฉุกเฉินให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น สามารถนำไปใช้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
9.2 การบริหารบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ จำนวน 216,201.1 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินสมทบของลูกจ้างประจำตามสิทธิทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
9.3 การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 222,098.3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ การดำเนินการและติดตามการชำระหนี้
ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ผูกพันไว้
9.4 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 53,918 ล้านบาท เพื่อเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายและสนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงทางการคลัง
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า "ดิฉันและคณะรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ที่นำเสนอนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลในการใช้งบประมาณรายจ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองและแข่งขันในเวทีโลกได้ รวมทั้งเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ/บนพื้นฐานของความพอเพียงในระยะยาว
ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขและประโยชน์ที่จะตกสู่ประชาชนเป็นสำคัญ จึงหวังว่าท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะได้ให้การสนับสนุนและพิจารณารับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป"
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย