เนื้อหาวันที่ : 2011-11-09 10:48:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1971 views

คลังกำชับออมสินสำรองเงินจ่าย 5,000 แทนรัฐ

เปิดแพกเกจช่วยผู้ประสบอุทกภัย 3 แสนล้านบาท ออมสินสำรองเงินทดรองจ่ายครอบครัวละ 5,000 บาทแทนรัฐคาดใช้เงินกว่า 1.85 แสนล้านบาท และสมทบอีก 4 หมื่นล้านบาทช่วยเอสเอ็มอี

           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแพกเกจช่วยผู้ประสบอุทกภัย 3 แสนล้านบาท กำชับธ.ออมสินสำรองเงินทดรองจ่ายครอบครัวละ 5,000 บาทแทนรัฐคาดใช้เงินกว่า 1.85 แสนล้านบาท และสมทบอีก 4 หมื่นล้านบาทช่วยเอสเอ็มอี

           สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือประชาชน ธุรกิจเอสเอ็มอี และนิคมอุตสาหกรรม 


             นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือประชาชน ธุรกิจเอสเอ็มอี และนิคมอุตสาหกรรม ในแพ็กเกจเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบภัยกว่า 300,000 ล้านบาท 4 ประเด็น คือ กำชับให้ธนาคารออมสินติดตามการบริการเงินสดอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นหน่วยงานหลักในการทดรองจ่ายชดเชยครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม 5,000 บาทแทนรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ขยายวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย คาดว่าธนาคารออมสินจะใช้เงิน 185,000 ล้านบาท

           นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีภาระในการนำเงินไปสมทบกับธนาคารพาณิชย์อีก 20,000 ล้านบาท รวมเป็น 40,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดอกเบี้ยผ่อนปรน ซึ่งส่วนนี้ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้ ธนาคารออมสินไม่ต้องรับความเสี่ยง และใช้เงินอีก 15,000 ล้านบาท ในการปล่อยกู้ให้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วม ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 นาน 7 ปี สำหรับใช้สร้างคันกั้นน้ำที่มีท่อระบายน้ำอยู่ด้านล่าง คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 1 ปี เพื่อประโยชน์ในการทำประกันภัยต่อได้ โดยส่วนนี้ธนาคารออมสินต้องรับความเสี่ยงเอง และรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้

            ต่อมาคือ การค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ที่ขอให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมใช้วงเงินดังกล่าวด้วย แม้จะกำหนดเงื่อนไขปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ช่วง 3 ปีแรก ซึ่งไม่จูงใจให้ธนาคารพาณิชย์เข้าร่วม แต่ทั้งนี้ต้องการให้มองในแง่ความเสี่ยงที่ บสย.เข้ามารับแทนร้อยละ 30 ของมูลหนี้ที่ปล่อย น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์รับความเสี่ยงได้ และให้มองว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาของธนาคารเองด้วย หากไม่ช่วยลูกหนี้ที่ถูกน้ำท่วม ท้ายสุดจะกลายเป็นหนี้เสียของธนาคารเอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากเอกชน

             พร้อมกันนี้ได้พิจารณาถึงปัญหาของธนาคารของรัฐบางแห่งที่มีเงินทุนดำเนินการไม่เพียงพอ และขอให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนให้ โดยกระทรวงการคลังได้ขอให้รีบกลับไปทำบัญชีตามมาตรฐานสากลโดยเร็ว เพื่อดูฐานะที่แท้จริง ก่อนจะสนับสนุนการเพิ่มทุนต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วและทันกับการปล่อยกู้ในโครงการนี้ สุดท้ายขอให้ธนาคารรัฐเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อ การรับเรื่องขอกู้และการให้คำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

           นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้เตรียมวงเงินในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมไว้ทั้งหมดขณะนี้ 65,000 ล้านบาท โดยใช้ปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการและผู้ประสบภัยที่มาติดต่อกับธนาคารโดยตรง นอกจากนี้ ใช้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้นิคมอุตสาหกรรมทำแนวป้องกันน้ำถาวร 15,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสมทบกับธนาคารพาณิชย์อีก 20,000 ล้านบาท ในส่วนของการพักชำระหนี้ที่ต่ำกว่า 500,000 บาท เป็นเงินเดือนละ 210 ล้านบาท จากลูกค้าที่ขอเข้าร่วมโครงการกว่า 250,000 ราย ซึ่งถือว่าไม่มากนัก

              “ขณะนี้ออมสินมีสภาพคล่องกว่า 130,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะดำเนินการใด ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ประสบภัยครอบครัวละ 5,000 บาท ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยส่งรายชื่อมาให้ ธนาคารออมสินก็พร้อมที่จะโอนเงินให้ทันที และขณะนี้ธนาคารออมสินได้โอนเงินช่วยเหลือดังกล่าวไปแล้ว 431,000 ครอบครัว จากทั้งหมดที่แจ้งเข้ามา 3.7 ล้านครอบครัว เป็นส่วนภูมิภาค 2.7 ล้านครอบครัว และ กทม.กว่า 620,000 ครอบครัว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,500 ล้านบาท”