เนื้อหาวันที่ : 2007-04-20 10:02:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2014 views

อุตฯพลาสติก 4,000 รายสะเทือนพิษบาท แห่ปักหลักเวียดนาม

อุตฯพลาสติกระส่ำ วิกฤตบาทแข็ง แห่ปักหลักเวียดนาม ด้านกระทรวงอุตฯเพิ่งตื่นตั้งคณะกรรมการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งชาติผลักดันเอกชนผลิตสินค้าราคาแพงลดการนำเข้า

อุตฯพลาสติกระส่ำ วิกฤตบาทแข็ง-แรงงานขาดหวดซ้ำ แห่ปักหลักเวียดนาม เผยปีนี้มีทุนถอยเข้าเวียดนามเพิ่มเป็นผู้ผลิตถุงพลาสติก ขนาดกำลังการผลิตเกือบครึ่งของตลาด ด้านกระทรวงอุตฯเพิ่งตื่นตั้งคณะกรรมการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งชาติผลักดันเอกชนผลิตสินค้าราคาแพงลดการนำเข้า

.

นายสมศักดิ์ บริสุทธนกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทย จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกอันดับหนึ่งของประเทศ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึง ทิศทางอุตสาหกรรมพลาสติกไทยในปีนี้และในอนาคตว่า จากปัญหาค่าเงินบาทและภาวะขาดแคลนแรงงานส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกมีการย้ายฐานผลิตและขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างมีเสถียรภาพกว่า รวมถึงมีจำนวนแรงงานค่อนข้างมาก และตลาดเติบโตต่อเนื่อง

.

 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าพลาสติกในประเทศไทยปัจจุบันมีประมาณ 4,000 รายโดยมีประมาณ 100 รายที่ทำการส่งออกซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีทั้งบริษัทต่างชาติ บริษัทร่วมทุนและเป็นบริษัทที่มีคนไทยถือหุ้นเองทั้งหมด

.

อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดที่แสดงว่าปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยคือ การที่มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยในปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 129,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐ 17% เงินบาท 3.1% ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ แต่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 72,900 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐเพียง 10% และเงินบาท 1% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าส่งออกของผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยโตต่ำกว่าตลาด

.

"อุตสาหกรรมพลาสติกที่มีผลิตภัณฑ์หลายชนิดทั้ง ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และชิ้นส่วน ทุกโรงงานต่างขาดแคลนแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทยฯ ต้องใช้คนงานประมาณ 1,500 คนขณะนี้ขาดคนอยู่อีกประมาณ 100-200 คน ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวเรื้อรังมานานแล้ว และมองเห็นชัดเจนขึ้นในช่วง 3-5 ปีมานี้ "

.

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่าในปีนี้จะมีโรงงานผลิตถุงพลาสติกอีกประมาณ 1-2 แห่งจะย้ายและขยายการลงทุนไปที่เวียดนาม ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีขนาดกำลังการผลิตคิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของตลาดและเป็นบริษัทร่วมทุนและบริษัทคนไทย เช่น กรณีที่บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทยฯที่มีกำลังการผลิต 7,000ตัน/เดือน มีแผนย้ายกำลังการผลิตประมาณ 5% รวมกับของใหม่อีก 5% ไปตั้งโรงงานที่เวียดนามด้วยในเร็วๆนี้ คาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะเดินการผลิตได้ในช่วงปลายปี รวมถึงบริษัท ยูนิเวอร์แซล โพลีแบค จำกัด ผู้ผลิตถุงพลาสติกกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อเดือนและมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่นั้นได้มีการย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามแล้วในขณะนี้ จากที่ก่อนหน้านั้นกลุ่มบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ก็ประกาศชัดถึงการออกไปขยายทุนในเวียดนามแล้ว โดยให้เหตุผลหลักว่าขาดแคลนแรงงาน

.

อย่างไรก็ตามล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับกลุ่มพลาสติกส.อ.ท.และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งประเทศไทยตั้งคณะกรรมการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยลดการนำเข้า เพราะในแต่ละปีจะมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยเฉลี่ย 80,000 -90,000 ล้านบาทต่อปี แต่มีการส่งออกเพียง 60,000-70,000 ล้านบาท โดยการดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายว่าจะลดการนำเข้าให้ได้ทั้งหมด ทั้งนี้คาดว่าจะได้เห็นผลในอีก 1-2 ปีนับจากนี้ไป

.

ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มทุนไทยและต่างชาติเริ่มหันไปมองการขยายทุนในเวียดนามมากขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง ถ้าดูในแง่นักลงทุนแล้วไม่มีประเทศไหนจะไปทุ่มทุนอยู่ในประเทศเดียว และต้องยอมรับว่าการลงทุนในไทยเริ่มมีข้อจำกัดในเรื่องแรงงานที่มีทักษะขาดแคลน รวมถึงค่าแรงสูงขึ้น นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมไทยถึงต้องมีแรงงานต่างด้าวเข้ามา ในขณะที่เวียดนามมีค่าแรงถูก และ มีแรงงานรองรับอีกจำนวนมาก และรัฐบาลเวียดนามก็เปิดกว้างในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นประเทศสังคมนิยม แต่นักลงทุนจากทั่วโลกก็ต้องออกไปแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีค่าแรงถูก

.

"ผมจะแปลกใจด้วยซ้ำไป ถ้าทุนญี่ปุ่นอยู่แต่ในเมืองไทยตลอด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ว่าทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยจะยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วน และปิโตรเคมีเป็นหลัก ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมากๆ อย่างผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอก็ต้องออกไปลงทุนในที่ที่มีค่าแรงต่ำกว่า "

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ