ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิจัยเครือข่ายของ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม งัดไอเดียแบบบรรเจิดคลายความร้อน ด้วยการจัดบ้านแบบง่าย ๆ แถมประหยัดไฟอีกด้วย
. |
เดือนเมษายน เดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปีกำลังจะผ่านไป หากแต่ความร้อนไม่ได้ผ่านไปด้วย แต่จะยิ่งทำให้เราร้อนอบอ้าวไม่สบายตัวมากขึ้น เนื่องจากเดือนพฤษภาคมเป็นการเริ่มต้นของฤดูฝน อากาศจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงทำให้รู้สึกอบอ้าว เมื่อรวมกับอุณหภูมิที่ร้อนอยู่แล้ว ทำให้ร่างกายของเราไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายออกไปได้ เป็นเหตุให้เรารู้สึกไม่สบายตัว และแม้ว่าการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เพื่อคลายร้อนจะเป็นทางออกที่คนส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติ แต่จริงๆ แล้วยังมีแนวทางอื่นๆ ที่ช่วยคลายร้อนได้ และยังเป็นการประหยัดไฟ เพื่อรับกับวิกฤตน้ำมันแพงได้อีกด้วย |
. |
ดร.พัฒนะ รักความสุข อาจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณะพลังงานและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิจัยเครือข่ายของ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า การที่คนเราจะรู้สึกสบายตัวได้นั้น ประกอบด้วยปัจจัยของอุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลมที่พัดผ่านร่างกาย กระบวนการเผาผลาญอาหาร (Metabolism) ในร่างกายของคนเราเปรียบเสมือนเครื่องจักรผลิตความร้อนขึ้นภายในตัว จึงจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนออกเพื่อให้อุณหภูมิภายในร่างกายลดลง การเกิดเหงื่อเป็นกระบวนการระบายความร้อนภายในตัวเรา หากร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกจากร่างกายได้ เราจะรู้สึกร้อนอบอ้าวไม่สบายตัว เช่น เมื่ออากาศมีอุณหภูมิที่สูง ร่างกายจะยิ่งร้อนและขับเหงื่อออกมามาก แต่หากบริเวณนั้นมีความชื้นสูง ความชื้นจะเป็นตัวสกัดกั้นการขับเหงื่อออกจากร่างกาย ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยไปได้ ประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนมีอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์สูงตามธรรมชาติของประเทศในเขตร้อนชื้น ดังนั้นการสร้างความสบายให้กับร่างกายโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศแต่อาศัย กระแสลม ให้พัดผ่าน และนำพาความร้อนออกจากร่างกายไปได้ |
. |
การทำให้ตัวเราสบายขึ้นในช่วงที่ทั้งร้อนและอบอ้าวเช่นนี้ ต้องพึ่งพากระแสลมที่จะพัดพาความเย็นสบายมาให้ วิธีการง่ายที่สุดที่จะสัมผัสกับลมเย็นได้ คือ การเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีความโปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอ อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถจะทำได้ คือ การปรับปรุงสภาพของตัวบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการระบายเข้าออกของลมได้อย่างสะดวก และระบายความร้อนที่สะสมอยู่ในตัวบ้านออกไป เริ่มโดยการสังเกตทิศทางของลม ซึ่งลมที่พัดผ่านในช่วงฤดูกาลนี้เป็นลมที่มาจากทิศใต้ จากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้านได้ ดังนี้ |
. |
1.เปิดช่องหน้าต่าง หรือช่องประตูด้านทิศใต้ และเปิดหน้าต่างหรือประตูด้านตรงข้าม เพื่อเปิดช่องทางให้ลมสามารถไหลเวียนภายในบ้านได้ จะเป็นการถ่ายเทความร้อนออกไปจากตัวบ้าน และลดความร้อนสะสม |
. |
2.ปลูกต้นไม้รอบบริเวณบ้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่มเตี้ย หรือหญ้าคลุมดิน พืชสีเขียวเหล่านี้เมื่อมีการสังเคราะห์แสงจะมีการคายน้ำซึ่งจะดูดซับความร้อนและระเหยสู่บรรยากาศ ทำให้สามารถลดอุณหภูมิรอบบริเวณบ้านได้ เมื่อกระแสลมพัดผ่านจะทำให้เย็นสบายขึ้นได้อีกทางหนึ่ง และการปลูกต้นไม้จะช่วยสร้างร่มเงาทำให้แสงแดดกระทบพื้นดินตลอดจนพื้นที่คอนกรีตน้อยลง พื้นที่เหล่านี้มีความสามารถในการดูดซับความร้อน และแผ่ความร้อนได้ดี ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้รอบๆ บริเวณบ้านมีอุณหภูมิสูงขึ้น |
. |
3.การหาอุปกรณ์บังแดด บริเวณหน้าต่างด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อบังเงาและไม่ให้แดดสามารถเข้าตัวบ้านได้ หรืออาจทำนั่งร้านปลูกพืชเถ้าไม้เลื้อย ที่จะช่วยเพิ่มความสวยงามและความร่มรื่น ให้กับบ้านได้อีกด้วย การลดความร้อนสะสมในตัวบ้าน ทำให้ภายในบ้านเย็นขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ หรืออาจช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ หากต้องการความเย็นสบายในเวลากลางคืน |
. |
. |
ดร.พัฒนะ ยังกล่าวอีกว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนประมาณ 22% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ภายในประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5% และเป็นที่ทราบกันดีว่าเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายในบ้านที่กินไฟมาก การลดความต้องการในการใช้เครื่องปรับอากาศจะช่วยให้ทั้งเจ้าของบ้านและประเทศประหยัดเงินและพลังงานได้อย่างมาก แต่หากจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็สามารถประหยัดพลังงานได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครื่องปรับอากาศ การตั้งอุณหภูมิไว้ประมาณ 27-28 องศาเซลเซียส พร้อมกับเปิดพัดลมตัวเล็กๆ เบาๆ ส่ายไปมาภายในห้อง ก็สามารถสร้างความสบายได้ และประหยัดพลังงานของเครื่องปรับอากาศได้ถึง 15 – 20% ส่วนพัดลมที่เปิดนั้นใช้ไฟฟ้าน้อยมากซึ่งโดยทั่วไปต้องการกำลังไฟฟ้าประมาณ 30 – 80 วัตต์ขึ้นอยู่กับขนาดและความเร็วของพัดลม ซึ่งน้อยกว่ากำลังไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศมาก เช่น กรณีเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ขนาด 1 ตันความเย็น อาจต้องการกำลังไฟฟ้าสูงถึง 1,100 วัตต์ ดังนั้น การตั้งอุณหภูมิที่ค่าดังกล่าวจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้อย่างมาก |
. |
ที่สำคัญและลืมไม่ได้กับการประหยัดพลังงานของเครื่องปรับอากาศได้แก่การบำรุงรักษาทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอซึ่งควรทำอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือนจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 5 - 10% ดังนั้นในช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ หากต้องการประหยัดไฟ และคลายร้อน ขอให้เราเริ่มมองหาวิธีปรับปรุงสภาพบ้านให้เหมาะสม และปรับพฤติกรรมการใช้เครื่องปรับอากาศ ก็จะทำให้เราสบายตัว สบายกระเป๋า พร้อมช่วยชาติประหยัดไฟได้อีกทางหนึ่ง |