มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไอเดียแจ๋วผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเก็บได้นานถึง 2 ปี เร่งเดินหน้าผลิตวันละ 500 กระป๋อง
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตปัตตานีผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เผยเก็บไว้บริโภคได้นานถึง 2 ปี เดินหน้าผลิตวันละ 500 กระป๋อง ก่อนส่งความช่วยเหลือล็อตแรก 1,000 กระป๋อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
รวมทั้งยังประสบกับภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้ดำเนินการรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยขึ้น โดยได้รับเงินบริจาค และคณะหน่วยงานในมหาวิทยาลัยร่วมสมทบอีกรวมเป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว
ดังนั้น จึงได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดทำถุงยังชีพ เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบอุกทกภัย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล และภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตปัตตานี ได้ผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง พร้อมทั้งจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมาบรรจุถุงยังชีพเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง ที่ดำเนินโดยศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล และภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตปัตตานีนั้น สามารถแปรรูปและถนอมอาหารได้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม นับเป็นอาหารฮาลาล ที่สามารถเก็บไว้เพื่อการบริโภคได้นานกว่า 2 ปี โดยไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการ
ทั้งนี้ การผลิตมัสมั่นไก่กระป๋องของคณะฯสามารถผลิตได้วันละประมาณ 500 กระป๋อง โดยจะเริ่มผลิตเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2554 รวมประมาณ 1,000 กระป๋อง และได้เชิญชวนผู้มีจิตอาสาร่วมบรรจุถุงยังชีพ โดยจะบรรจุถุงยังชีพรอบแรกในวันที่วันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2554 และรอบที่ 2 ในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี