รฟม.-กทม.โล่งอก บอร์ด สวล.ไฟเขียวรายงานอีไอเอรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ สายสีเขียว ส่วนต่อขยายสุขุมวิท ช่วง "สำโรง-สมุทรปราการ" และ "ตากสิน-บางหว้า" หลังลุ้นระทึกมานาน เพราะจ่อคิวจะเปิดประกวดราคาอยู่รอมร่อ เตรียมเสนอ ครม.พร้อมผลศึกษาแนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนอนุมัติประมูลก่อสร้าง
รฟม.-กทม.โล่งอก บอร์ด สวล.ไฟเขียวรายงานอีไอเอรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ สายสีเขียว ส่วนต่อขยายสุขุมวิท ช่วง "สำโรง-สมุทรปราการ" และ "ตากสิน-บางหว้า" หลังลุ้นระทึกมานาน เพราะจ่อคิวจะเปิดประกวดราคาอยู่รอมร่อ เตรียมเสนอ ครม.พร้อมผลศึกษาแนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนอนุมัติประมูลก่อสร้าง |
. |
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ด สวล.) ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟฟ้า 3 สายทาง ประกอบด้วยสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-สะพานพระนั่งเกล้า โดยให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการช่วงสะพานพระนั่งเกล้า-บางซื่อ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอสสายสีเขียว สายสุขุมวิท สำโรง-สมุทรปราการ และสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) |
. |
เมื่อรวมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่บอร์ด สวล.ได้ให้ความเห็นชอบรายงานอีไอเอในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว เท่ากับว่าขณะนี้มีโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะผลักดันก่อสร้าง ผ่านการพิจารณารายงานอีไอเอรวมทั้งสิ้น 3 โครงการ จากก่อนหน้านี้ยังไม่ผ่านการพิจารณา แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติให้ดำเนินโครงการ |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง บอร์ด สวล.กำหนดให้จัดทำมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมด้วย โดยให้ผู้ดำเนินการหรือผู้รับผิดชอบโครงการเป็นผู้ดำเนินการ เช่น ในการเจาะเสาเข็มโครงสร้างตอม่อของสะพาน รองรับรางรถไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระนั่งเกล้า ให้ผู้ดำเนินการติดตั้งม่านดักตะกอนในการดำเนินการทุกครั้งจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ |
. |
นอกจากนี้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานชดเชยทรัพย์สิน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน และการรื้อย้ายที่อยู่อาศัยจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยให้คณะทำงานประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ เจ้าของโครงการ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้จัดหาบุคคลที่ 3 (third party) ตรวจสอบการดำเนินงาน |
. |
ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสำโรง- สมุทรปราการ และสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า ก็ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ ให้มีการจัดภูมิสถาปัตย์บริเวณใต้โครงสร้างทางยกระดับ กำหนดให้ควบคุมดูแลและกำกับให้ผู้รับจ้างออก แบบก่อสร้าง หรือผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการ ทำตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดหาบุคคลที่ 3 มาตรวจสอบ พร้อมกับระบุให้แจ้งให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา เป็นต้น |
. |
"บอร์ดสิ่งแวดล้อม ระบุให้ทั้ง รฟม.และ กทม. นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเสนอให้ ครม.ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในขั้นต่อไป เนื่องจากนโยบายรัฐบาลชุดนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าจะให้ดำเนินการรถไฟฟ้า 5 สายหรือไม่ ถ้าให้ดำเนินการ ก็จะต้องจัดทำรายงานอีไอเอให้แล้วเสร็จก่อนจะอนุมัติโครงการ" |
. |
แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า มติของ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ให้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนจะดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย จากนั้นจึงเสนอให้ ครม.อนุมัติประกวดราคา ซึ่งในส่วนของ รฟม.ที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสายสีม่วง ก่อนหน้านี้เคยเสนอบอร์ด สวล.พิจารณารายงาน อีไอเอแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา เพราะช่วงนั้นอยู่ระหว่างรอสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และได้จัดส่งรายงานอีไอเอให้บอร์ด สวล.พิจารณาใหม่ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดจึงได้รับความเห็นชอบ |
. |
"ขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอให้ ครม.รับทราบผลการดำเนินการ โดยจะเสนอพร้อมกับแผนการดำเนินการประกวดราคาและผลศึกษาภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนด้วย ที่ผ่านมาสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว สายสีม่วงจะเปิดประกวดราคาอยู่แล้ว แต่อีไอเอยังไม่ผ่าน" |
. |
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ขณะนี้รายงานอีไอเออยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นจะเสนอให้บอร์ด สวล.พิจารณาต่อไป |
. |
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |