เนื้อหาวันที่ : 2007-04-18 09:19:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 906 views

คลังประเมินจีดีพีโตต่ำ 4% พิษการเมือง! ทำคนไม่กล้าตัดสินใจ

คลังประเมินจีดีพีโตต่ำ 4% เหตุพิษการเมืองปั่นป่วน ทำให้นักลงทุนอยู่ในภาวะไม่กล้าตัดสินใจ และผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมากในปีนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ข้างหน้า จี้รัฐ "พอเพียง" หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว

คลังประเมินจีดีพีโตต่ำ 4% เหตุพิษการเมืองปั่นป่วนขั้นวิกฤตไร้ทางแก้ปัญหา ทำให้นักลงทุนอยู่ในภาวะไม่กล้าตัดสินใจ และผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมากในปีนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ข้างหน้า

.

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจทุกด้านเพื่อนำมาประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งปี โดยจะประเมินในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ ณ ขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจหลักที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เช่น การส่งออก การลงทุน การบริโภค และการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ยังไม่สะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ในระดับที่ประมาณการไว้เดิม คือ 4-5% และเท่าที่ประเมินเบื้องต้น เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่า 4% อย่างแน่นอน แต่จะต่ำกว่ามากน้อยแค่ไหนจะต้องรอดูตัวเลขทั้งหมดอีกครั้ง

.

ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสศค.จะเปลี่ยนแปลงเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนหรือประกาศเป็นตัวเลขเพียงตัวเลขเดียว จากเดิมที่จะมีการประกาศเป็นช่วงของอัตราการเติบโต เช่น เดิมประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่าง 4-5% แต่การประกาศครั้งนี้จะเจาะจงให้ชัดเจนว่า จะอยู่ที่ตัวเลขใด เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับทราบทิศทางการประเมินเศรษฐกิจของทางการที่ชัดเจน และนำไปประเมินทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต และ สามารถปรับตัวได้ทัน

.

สำหรับตัวเลขการส่งออกนั้นเขาประเมินว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะขยายตัวได้ต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของการส่งออกในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ในเลขสองหลัก โดยยอดการส่งออกในเดือนมีนาคมจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทในระยะ 3 เดือนก่อนหน้า เพราะเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า ขณะเดียวกัน ระยะต่อไปภาคการส่งออกก็จะขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจาก ระดับของเงินบาทยังคงแข็งค่าแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาตรการกันสำรอง 30% แล้วก็ตาม ส่วนสาเหตุที่ยอดการส่งออกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี เพราะช่วงที่มีคำสั่งซื้อนั้นหรือระยะ 3 เดือนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังไม่แข็งค่ามากนัก

.

ด้านดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า หวังจะให้การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปคงจะเป็นเรื่องที่ยาก และเชื่อว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคมจะไม่แข็งอย่างที่คิด และต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจริงๆ จากการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในด้านมูลค่านั้น จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างแน่นอน

.

ปมการเมืองไม่กล้าตัดสินใจ

ดร.คณิศ กล่าวว่า ส่วนการลงทุนและการบริโภคนั้น ยังว่าถือเป็นเรื่องที่เป็นห่วงเช่นกัน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศอยู่ภายใต้ความไม่มั่นใจจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่งหรืออยู่ในภาวะที่เรียกว่า Uncertainty หรือภาวะที่ไม่กล้าตัดสินใจ โดยนักลงทุนก็ยังเป็นกังวลว่า หากลงทุนในขณะนี้แล้ว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นโยบายจะมีการปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่

.

ดังนั้น การรอท่าทีของสถานการณ์ทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยหลักของการลงทุนในขณะนี้ โดยระยะ 6 เดือนหรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ การลงทุนใหม่น่าจะยังไม่มีการเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะความไม่ชัดเจนทางการเมือง ขณะเดียวกัน ด้านการบริโภคก็ยังอยู่ในระดับลดลงหรือทรงตัวจากภาวะดังกล่าว ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีแนวโน้มลดลงได้มากน้อยแค่ไหน

.

"แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงก็จะไม่ทำให้การลงทุนใหม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่ชัดเจน ทุกคนอยู่ในภาวะที่มีความกังวลใจ ดังนั้น การรอคอยความชัดเจนจึงเป็นภาวะของการลงทุนในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจจะช่วยเรื่องการบริโภคได้บ้าง แต่ก็ช่วยไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหมาะสม" เขากล่าว

.

ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันลดลงมาอยู่ในระดับ 4% เมื่อเทียบกับภาวะปกติที่สามารถขยายตัวได้ในระดับ 8% สะท้อนการบริโภคและการลงทุนที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ ภาวะเช่นนี้ก็ยังคงต่อเนื่องไปอีกและจะทำให้ระดับของสินเชื่อขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% จนกว่าความกังวลในด้านดังกล่าวจะคลี่คลาย

.

สำหรับการเบิกจ่ายของภาครัฐที่คาดว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เขากล่าวว่า แม้เม็ดเงินจะถูกปล่อยจากส่วนกลางไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)แต่การใช้จ่ายจริงจะยังไม่สามารถทำได้เต็มที่

.

"ด้วยภาวะดังกล่าว จะทำให้ภาวะการว่างงานในประเทศมีมากขึ้นนับจากนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ ที่จะไม่มีงานทำ และขณะนี้หลายภาคธุรกิจได้ชะลอการจ้างงานแล้ว เพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจ" เขากล่าวและว่า ผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมากในปีนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้รับผลกระทบจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ลดลงในปีนี้และอาจต่อเนื่องไปอีก2-3ปีข้างหน้า

.

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้( 18 เม.ย.) สศค.จะเชิญผู้แทนจากธนาคารเฉพาะกิจ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาหารือเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือประชาชนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพื่อกำหนดเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2550

.
"โฆสิต" ชี้การเมืองคลี่คลายเศรษฐกิจดีขึ้น

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถจะขยายตัวได้ เนื่องจากมีผลกระทบจากปัจจัยการเมือง ว่า ในภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศยอมรับว่าขณะนี้ชะลอตัว แต่มาจากหลายเหตุผลและคิดว่าเป็นเพียงภาวะชั่วคราว รัฐบาลก็พยายามแก้ไขเพื่อให้ภาวะชั่วคราวหายไป และเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปแล้วก็คิดว่าอุปสรรคดังกล่าวที่มีผลต่อความมั่นใจในการบริโภคก็จะหายไป

.

ผู้สื่อข่าวถามว่าการปรับ ครม.จะทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ นายโฆสิต กล่าวว่า การดำเนินนโยบายแบบต่อเนื่องจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่ตนไม่คิดว่าเราต้องการแผนใหม่ เราเพียงแต่ทำตามแผนเดิมที่ผ่านความเห็นชอบแล้วให้เร็วและต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นทางด้านทีมเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มใครเข้ามา

.
"เศรษฐพุฒิ" ห่วงการเมืองทำบริโภคแย่

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า หากดูตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ไตรมาสสุดท้ายปี 2549 พบว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตระดับ 4.2% แต่ในจำนวนนี้มาจากการบริโภคเพียง 1.3% เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายไตรมาสที่ผ่านมา เพราะโดยปกติแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมาจากการบริโภคในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 2% ตัวเลขการบริโภคที่ออกมาจึงสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคอย่างชัดเจน

.

ทั้งนี้การบริโภคที่ลดลงยังส่งผลต่อเนื่องถึงการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย และถ้าวิเคราะห์ถึงสาเหตุการลดลงของการบริโภค ประเด็นหนักน่าจะมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง เพราะหากดูภาพรวมของเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลงจึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคได้

.

"การบริโภคที่ลดลงนั้น ถ้ามาจากความกังวลเรื่องการเมืองจริง โอกาสที่จะให้กลับฟื้นขึ้นมาในระยะสั้นก็คงเป็นไปได้ยาก และแม้แบงก์ชาติจะลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงอีก 0.5% ก็ตาม แต่ดูแล้วไม่น่าส่งผลต่อการบริโภคเท่าไรนัก เพราะความกังวลโดยหลักมาจากเรื่องการเมืองจึงต้องรอให้สถานการณ์เหล่านี้คลี่คลายลงในทางที่ดีขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อการบริโภคลดลง การลงทุนก็ชะลอลงตามไปด้วย เพราะเวลาผู้ประกอบการลงทุนอะไรจะดูตัวเลขการบริโภคประกอบ" ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

.

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงการปรับประมาณการขยายตัวของจีดีพีของ ธปท.ในวันที่ 24 เมษายนที่จะถึงนี้ว่าน่าจะมีการปรับลดในส่วนของการลงทุนและการบริโภคอุปโภคเนื่องจากข้อมูลดัชนีการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนทำให้ที่เคยคาดไว้ว่าการลงทุนและการใช้จ่ายจะฟื้นได้ในไตรมาสแรกต้องเลื่อนออกไป

.
"ณรงค์" เสนอกระตุ้นกลุ่มลูกจ้าง

ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยว่าหากรัฐบาลต้องการรักษากำลังซื้อของประชาชนไว้ควรจะแบ่งเงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 10% ของเงินที่มีอยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือเป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านบาทมาปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกจ้างทุกประเภทซึ่งมีอยู่เกือบ 17 ล้านคน เป็นกำลังซื้อที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็น 43% ของกำลังซื้อของคนทั้งหมดในประเทศ ภาคชนบทมีกำลังซื้อ 21% ขณะที่ภาคธุรกิจมีกำลังซื้อคิดเป็นสัดส่วน 17% เท่านั้น

.

ทั้งนี้ สาเหตุที่กำลังซื้อของกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดมีสัดส่วนสูงเนื่องจากกลุ่มลูกจ้างเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากกว่าอาชีพอื่นๆ โดยคนไทยประมาณ 65 ล้านคน เป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังแรงงานประมาณ 36 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างเกือบ 17 ล้านคน ขณะที่เกษตรกรมีประมาณ 12 ล้านคนเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอาวุโส

.

โดยจำนวนเงิน 40,000 ล้านบาทที่แบ่งมาจากกองทุนประกันสังคมนั้น จะเป็นเหมือนเงินทุนประเดิมที่เอามาปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างและข้าราชการ โดยรัฐบาลจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมประมาณ 7-7.5% บวกกับเงินที่หักไว้เป็นเงินกองทุนในการทำธนาคารลูกจ้างอีก 10% รวมเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายในการกู้ยืมประมาณ 17% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอัตราที่สูงแต่หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของหนี้ส่วนบุคคลที่กลุ่มลูกจ้างได้กู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ก็ยังถูกกว่าและเงินที่ได้มาสุดท้ายก็จะเข้าไปสู่กองทุนประกันสังคมที่จะได้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 6-6.5% ส่วนธนาคารของรัฐที่ดำเนินการปล่อยกู้ก็อาจจะได้ค่าดำเนินการประมาณ 1% ส่วนเงินที่หักไว้อีกประมาณ 10% ก็จะเก็บไว้ในธนาคารลูกจ้างซึ่งลูกจ้างเป็นเจ้าของเองไม่ใช่ภาคเอกชน

.

ทั้งนี้เงินที่แบ่งมาจากกองทุนประกันสังคมจำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาทดังกล่าว สุดท้ายกองทุนก็จะได้เงินคืนโดยรัฐบาลจะต้องขอให้นายจ้าง ต่างๆ ทำหน้าที่ในการหักเงินกู้ยืมคืนผ่านระบบการจ่ายเงินเดือน

.

ดร.ณรงค์ กล่าวว่าธนาคารลูกจ้างที่จัดตั้งจากเงินที่หักไว้จากเงินที่ให้กู้ยืมนั้นเพื่อเป็นการรองรับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเพราะจะเป็นแหล่งกู้ยืมและฝากเงินของกลุ่มลูกจ้าง โดยลูกจ้างจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดการบริหารและเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างที่กู้ยืมเงินหรือไม่ก็ตาม ทำให้ธนาคารดังกล่าวเป็นเหมือนฐานเงินทุนของกลุ่มลูกจ้างทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องการมีภูมิคุ้มกัน

.
"วิรไท" จี้วางเศรษฐกิจระยะกลางและยาว

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คือความมั่นใจและทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากรัฐบาลในขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ จึงมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือภาคธุรกิจไม่สามารถมองภาพเศรษฐกิจในอนาคตได้ว่าจะเดินในทิศทางใดทั้งจากพรรคการเมืองและหน่วยงานราชการที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ ธปท.และกระทรวงพาณิชย์

.

5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานเหล่านี้ฟังนโยบายการเมืองเป็นหลัก ทำให้บทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจหายไป แต่ขณะนี้ภาคการเมืองไม่พูดนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทุกคนพูดแต่เรื่องในอดีต ไม่มองไปข้างหน้าทั้งระยะกลางและระยะยาว ซึ่งหน้าที่สำคัญของพรรคการเมืองและหน่วยงานราชการที่จะชี้แนะทิศทางที่จำเป็นและแสดงบทบาทให้เป็นรูปธรรม ขณะนี้คนมองภาพไม่ออกจึงกังวลและเกิดความกลัว ซึ่งในอนาคตพรรคการเมืองอาจจะไม่แข็งเพราะมีหลายพรรค เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐต้องเข้มแข็ง ต้องปรับมุมมอง และมองยุทธศาสตร์ที่รับผิดชอบว่าจะเดินยังไงเพื่อสนับสนุนเอกชนให้เดินต่อและแข่งขันได้

.

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการที่มีผลต่อการลดต้นทุนของภาคเอกชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว เช่นโครงการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ(LOGISTIC) การจัดการการท่องเที่ยวหรือการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจรวดเร็วกว่าโครงการเมกะโปรเจค เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายงานประมาณได้เร็วและก่อให้เกิดการจ้างงานในชนบท

.

ดร.วิรไท กล่าวว่า พรรคการเมืองสามารถประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจได้ล่วงหน้า และให้เป็นประเด็นสำคัญของนโยบายพรรคที่จะใช้ในการหาเสียง โดยที่ไม่ต้องรอความชัดเจนในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ

.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์