เนื้อหาวันที่ : 2011-10-17 14:15:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3150 views

ชีวิตหลังเกษียณ ที่เรียบง่าย

หลายคนอาจกำลังกังวลว่า เมื่อเกษียณไปแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร จะปฏิบัติ ปรับจิตใจอย่างไร เมื่อต้องกลายเป็นผู้สูงวัย

ธนสาร สาสังข์

          ผมเชื่อว่ามีหลายท่านอาจกำลังเป็นกังวลว่า เมื่อเราเกษียณไปแล้ว จะใช้ชีวิตอย่างไรดี และจะปฏิบัติตัวของเรา จะปรับจิตปรับใจของเรา จากที่เคยทำงานเคยมีเพื่อนร่วมงาน สนุกสนานในการทำงานเมื่อเกษียณอายุออกมาเสมือนเป็นผู้อาศัยลูกหลาน ดูเหมือนจะไม่มีค่าอีกแล้วเมื่อกลายเป็นผู้สูงวัย หรือเรียกว่าผู้สูงอายุ จะเรียกว่าอย่างไรก็คงยังเป็นคนแก่อยู่ดีนั่นแหละนะครับ

          มีคนเปรียบเปรยว่า “คนแก่เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง” คิดแล้วนับวันรอการจากไปเท่านั้น แล้วแต่ว่าใครเขาจะเห็นความสำคัญของเรา เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าทุกคนต้องแก่ แต่เราจะแก่อย่างมีคุณค่าได้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร บางท่านก่อนเกษียณออกมามีหน้าที่การงานใหญ่โตสูงส่ง มีบริวารคอยเอาใจใส่ดูแลสารพัด แต่ต้องออกมาอยู่บ้านเลี้ยงหลานมีอยู่มมากมายที่ทำใจไม่ได้ ทุกท่านย่อมทราบดี

          ผู้เขียนคงมิบังอาจไปวิจารณ์ถึงท่านผู้ใด เพียงสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่งของชีวิตคนเราเท่านั้น เพราะแต่ละท่านฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกันไป จึงขอเพียงยกตัวอย่างเล่าเรื่องกิจกรรมส่วนตัวที่ได้ปฏิบัติตั้งแต่เกษียณออกมาเป็นผู้สูงวัย ว่าได้ยึดหลักการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบสบายๆ มีความเป็นอยู่ตามอัตภาพ คือ มีความพอเพียง ความพอดี มีเหตุมีผลในการใช้ชีวิต จะพยายามไม่ให้เป็นภาระของลูกหลานมากจนเกินไป และจะใช้หลักความสงบความสุขทางใจ เมื่อเราพอใจในความเป็นอยู่กับปัจจุบันแล้ว เราจะไม่เครียดและเป็นทุกข์ ทำใจให้รู้เท่าทันว่าความทุกข์ความสุขของคนเราอยู่ที่ใจเพียงเท่านี้ก็พอ

          อย่างไรก็ตามทุกท่านที่ได้เกษียณไปแล้ว ถือว่าท่านได้พักผ่อนตามอัธยาศัย มีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม ได้อยู่กับครอบครัว ให้ความอบอุ่นกับลูกหลาน นับว่าท่านนั้นมีความสุขแล้ว สำหรับผู้เขียนในฐานะผู้สูงอายุกิจวัตรประจำวันที่ได้ปฏิบัติดังนี้

          1. ได้ดูแลสุขภาพพลานามัยของตัวเองมากขึ้นพิเศษกว่าตอนทำงาน เพราะมีเวลาอยู่กับบ้านจัดสรรเวลาของตัวเองอย่างอิสระ เริ่มจากการนอนแต่หัวค่ำ ตื่นนอนตามสบาย คงไม่ต้องรีบเร่งออกไปทำงานเหมือนก่อน ไม่ต้องกังวลไม่เครียด

          2. ได้ดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้สูงวัย

          3. ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะมีเวลาจะเป็นเช้าหรือตอนเย็น แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังตัวเองมาก อีกอย่างหนึ่งคือจะไม่ให้ตัวเองหกล้มเด็ดขาด เพราะผู้สูงวัยมีความเสียงในเรื่องความพลาดพลั้งอยู่มากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ หรือการขึ้นลงบันไดบ้าน ที่ใช้อยู่ประจำวันก็อาจเกิดขึ้นได้

          4. ได้ออกไปท่องเที่ยวตามโอกาสที่เห็นสมควร เช่น การเดินทางไปพักผ่อนตามชายละเท หรือป่าเขาลำเนาไพรที่มีอากาศบริสุทธิ์ตามต่างจังหวัด และบางครั้งได้ไปเยี่ยมเยียนลูกหลานญาติพี่น้อง ได้ร่วมรับประทานอาหารว่างร่วมกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

          5. ได้พาลูกหลานไปทำบุญตามเทศกาลที่มีตามวัดวาอารามได้มากขึ้นกว่าเดิม

          6. ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคมมากขึ้น และได้มีเลาว่างอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เพื่อเสริมสร้างสมองสติปัญญาของตัวเองให้กับมูลนิธิ สมาคม และทางราชการเท่าที่พอจะทำได้ด้วยความเต็มใจ ด้วยความสุขและภาคภูมิใจ ที่ได้ปฏิบัติในสิ่งที่คิดว่าตัวเองมีความถนัดพอเหมาะพอควรกับวัยสังขาร

          ให้ลูกหลานได้รับความอบอุ่นสมกับที่ได้ให้เกียรติเชิดชูว่า “เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน” อันหมายถึงความร่มเย็นผาสุกที่ทุกคนปรารถนาอยากจะอยู่ใกล้ได้พึ่งพา สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆ น้อยๆ ของผู้สูงวัยคนหนึ่งเท่านั้น ตามคติบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้สูงวัยมีใจที่หนักแน่น เป็นไม้แก่นเสาหลักปักให้มั่น เป็นแบบอย่างทางดีมีแบ่งปัน คอยสร้างสรรค์สิ่งดีงามตามสมควร”

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine