เนื้อหาวันที่ : 2007-04-17 11:15:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4666 views

Mega Project กับ การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ในช่วงตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและภาคสาธารณะได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากการขยายตัว

ความเป็นมาและความสำคัญ                       

ในช่วงตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและภาคสาธารณะได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่แท้จริง (Gross fixed capital formation) ที่มีอัตราเป็นลบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากรายจ่ายลงทุนมีลักษณะยืดหยุ่นมากกว่ารายจ่ายประจำ ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุน ในช่วงที่รัฐบาลมีภาระรายจ่ายด้านการชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการขาดดุลมากเกินไป

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังได้เปลี่ยนแปลงไป การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น และทำให้ภาวการณ์ขาดดุลการคลังของรัฐบาลลดลง จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถลดบทบาทในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลง และสามารถผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นแกนนำในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ประกอบกับการขยายตัวของรายจ่ายประจำของภาครัฐมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและมั่นคงนี้ ทำให้รัฐบาลและภาคสาธารณะมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

.

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะอธิบายความสำคัญและกระบวนการของ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project Investment) ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย แต่ก่อนที่เราจะกล่าวเข้าไปในตัวรายละเอียดของตัวโครงการทางคณะผู้เขียนอยากจะอธิบายให้ทราบถึงความเป็นมาของการลงทุนใน Mega Project ในอดีตและกระบวนการจัดทำ รวมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมาก่อน ทั้งนี้ทางคณะผู้เขียนแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.กระบวนการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ 2.อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา

3.Mega Project ในอนาคต: ผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหา

.
กระบวนการจัดทำโครงการขนาดใหญ่

โครงการขนาดใหญ่นั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาบริการพื้นฐานที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม โดยการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2504 ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยหันมารับความช่วยเหลือจาก World Bank รวมทั้งได้รับการสนับสนุนการพัฒนาประเทศจากอเมริกา ทำให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ขึ้น แผนดังกล่าวมีระยะเวลา 6 ปี (2504-2509) มุ่งขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเน้นเฉพาะการลงทุนสิ่งก่อสร้างขั้นพื้นฐาน (Infrastructure) ผลของการพัฒนาตามแผนที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวออกไปถึงร้อยละ 8.1 ต่อปี ภาคเกษตรมีการขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 10.5 ต่อปี ช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยมีการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและชลประทาน เช่น เขื่อนภูมิพล มีการก่อสร้างถนน เช่น ถนนมิตรภาพที่ช่วยสนับสนุนระบบการตลาด และการขนส่งสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีความสำคัญมากในฐานะที่มีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งเป้าหมายการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ มักจะให้ความสำคัญกับ ด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านการสื่อสารและพลังงาน ด้านที่อยู่อาศัย และการตัดสินใจลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐในแต่ละครั้งนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากโครงการแต่ละโครงการมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อคนจำนวนมาก เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น แม้ว่าจะมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม ดั้งนั้น รัฐบาลจึงต้องมีความรอบคอบในการเลือกที่จะตัดสินใจลงทุนในโครงการต่าง ๆ นอกจากที่การบริหารโครงการขนาดใหญ่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหากการบริหารงานโครงการไม่ดีพอ โครงการนั้น ๆ อาจไม่สำเร็จ

.

กระบวนการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เริ่มต้นจากการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทำโครงการนั้นขึ้นมา เพื่อตอบสนองความขาดแคลนหรือความต้องการของคนส่วนใหญ่ เช่น ทางเลือกที่จะทำโครงการโรงไฟฟ้าก็ต้องมาจากการประมาณการความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องขยายโรงผลิตกระแสไฟฟ้า หรือกรณีที่มีการจราจรในกรุงเทพ ฯ ที่ติดขัดมากขึ้น จำเป็นต้องขยายถนน ทางด่วน สิ่งเหล่านี้ก็มาจากความขาดแคลนหรือความต้องการของคนส่วนใหญ่ทั้งสิ้น หลังจากที่พิจารณาเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทำโครงการนั้นแล้ว ขั้นต่อมาคือ ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ หรือ Pro Feasibility Study ระยะเวลาที่ใช้ประมาณ 2-3 ปี จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) โดยจะศึกษาถึงอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือความคุ้มค่าของการลงทุน ความเหมาะสมด้านเทคนิค การหาแหล่งเงินกู้ ผู้ลงทุน ตลอดจนผลกระทบของโครงการที่มีต่อสิ่งแวดล้อม (การทำ EIA) เมื่อได้ผลสรุปว่า โครงการดังกล่าว เหมาะสมที่จะดำเนินการหาผู้รับผิดชอบโครงการ โดยจะเสนอกระทรวงต้นสังกัด และทางกระทรวงจะเสนอโครงการมาให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาอีกครั้งก่อนสรุปข้อพิจารณาเสนอต่อ ครม. เช่น รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เห็นความสำคัญของสภาพัฒน์ในฐานะเป็นเลขานุการโครงการขนาดใหญ่ โดยสภาพัฒน์ ฯ จะทำหน้าที่ศึกษาถึงความพร้อมของโครงการว่า สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐหรือไม่ ต่อจากนั้นก็จะศึกษาต่อว่า โครงการดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ มีความเหมาะสมทางเทคนิคในการดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากบางโครงการมีความซับซ้อนในด้าน Tech ขั้นสูงมาก หลังจากนั้น สภาพัฒน์ ฯ จะทำการวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของโครงการ ตลอดจนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับต้นทุน ดอกเบี้ย ตลอดจนรายได้หรือผลตอบแทนของโครงการในอนาคต และสุดท้ายจะพิจารณาว่าโครงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ในตัวโครงการมีการวางแผนป้องกันหรือไม่ ซึ่งเมื่อสภาพัฒน์ ฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการแล้ว ก็จะส่งความเห็นไปยังรัฐบาลต่อไป แต่หากมีข้อบกพร่องก็จะส่งโครงการดังกล่าวกลับไปให้ผู้รับผิดชอบโครงการทบทวนอีกครั้ง โครงการบางโครงการที่ สภาพัฒน์ ฯ ไม่เห็นด้วย เช่น โครงการที่ กฟผ.เสนอขอก่อสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณู เมื่อปี 2519 โดย กฟผ.เสนอขอสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณู 600 mega wat t วงเงินลงทุน 9 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อ สภาพัฒน์ ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะความต้องการไฟฟ้ายังไม่เพิ่มมากนัก ประกอบกับเกิดวิกฤตการณ์ทางน้ำมัน เมื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ ฯ แล้วจะส่งกลับไปที่ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ แล้วส่งกลับไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

.

แต่ปัจจุบัน กระทรวงต้นสังกัดผู้รับผิดชอบโครงการอาจจะชงเรื่องเข้า ครม.ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านสภาพัฒน์ (ปัจจุบันบทบาทของสภาพัฒน์ ฯ ลดน้อยถอยลงไปในยุคของรัฐบาลไทยรักไทย หลังจากที่รัฐบาลไม่ได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งอาจทำให้โครงการบางโครงการเกิดการซ้ำซ้อนในส่วนผู้รับผิดชอบ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ปรากฏว่า มีหน่วยงานเข้ามาทำโครงการนี้พร้อมกันถึง 3 หน่วยงาน คือ การทางพิเศษ ฯ การรถไฟ ฯ และ กทม. ทำให้แต่ละโครงการมีการวางแบบสร้างขึ้นลงที่ซ้ำซ้อนกัน เป็นต้น

.
อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา

โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการประสบปัญหาในเรื่องของการเงินเนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการสูงมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้แนวทางการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโดยพยายามกระจายวิธีการระดมทุนให้มากขึ้น เช่น การแก้ไขกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ทั้งนี้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่าน ๆ มา ตลอดจนถึงการบริหารโครงการก็ยังประสบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น

.

1.โครงการขนาดใหญ่บางโครงการยังผูกขาดโดยภาครัฐอยู่ และมีข้อจำกัดของวิธีการลงทุน ตลอดจนยังขาดบทบาทของภาคเอกชน ทำให้ไม่สามารถขยายบริการได้ทันต่อความต้องการ

2.ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้วยกฎ ระเบียบ และขั้นตอน การดำเนินงานที่ยุ่งยาก ทำให้การบริหารโครงการขาดความคล่องตัว จนทำให้บางโครงการก่อสร้างล่าช้า

3.ขาดการวางแผนระยะยาว ทั้งนี้หน่วยงานที่ให้บริการส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดทำแผนระยะยาวในการขยายโครงข่ายบริการพื้นฐาน

4.คุณภาพบริการพื้นฐานบางอย่างยังไม่มีมาตรฐานเพียงพอ

5.ขาดองค์กรกลางระดับนโยบายที่ช่วยประสานโครงข่ายให้เป็นระบบ

6.ราคาและอัตราค่าบริการยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ที่รัฐบาลประกาศลดอัตราค่าทางยกระดับ Toll Way ให้เหลือ 20 บาท แสดงว่า ราคาและอัตราค่าบริการยังไม่แสดงต้นทุนที่แท้จริง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพในการจัดการโครงการ

7.ปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมยังขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจัง โครงการขนาดใหญ่บางโครงการอย่างบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน พบว่ามีผลกระทบต่อการทำลายป่าชายเลน ป่าโกงกางในบริเวณดังกล่าว

8.ขาดแคลนบุคลากร บุคลากรด้านบริการพื้นฐานยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการโดยเฉพาะช่างเทคนิค วิศวกร ตลอดจนผู้มีความรู้ในการวิเคราะห์โครงการขนาดใหญ่

.

Mega Project ในอนาคต: ผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหา

ก่อนที่เราจะพูดโครงการ Mega Project อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะเข้าใจก่อนคือ หลักการในเรื่องของ รายจ่ายลงทุนภาคสาธารณะ 

.

รายจ่ายลงทุน คือรายจ่ายเพื่อจัดหาทรัพย์สินประเภททุน โดยส่วนใหญ่ เป็นรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่ ระบบคมนาคม และสาธารณูปโภค เป็นต้น รายจ่ายประเภทนี้ จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต รายจ่ายลงทุนภาคสาธารณะ อาจแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณ รายจ่ายลงทุนจากเงินกู้ต่างประเทศ รายจ่ายลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ นโยบายการคลังของรัฐบาล หรือ G หรือถ้าพูดให้ง่ายก็คือเครื่องมือของภาครัฐที่นำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเอง

.

นโยบายการคลังของรัฐบาล หรือ G (ภาครัฐบาล) นับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายต่อระบบเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น นโยบายรายได้ (Government Revenue Policy) นโยบายรายจ่าย (Government Expenditure Policy) และนโยบายภาคสาธารณะ (Public Choices) สำหรับการดำเนินการลงทุนภาคสาธารณะนั้น ตัวนโยบายที่เข้ามามีส่วนในการพิจารณาจะมุ่งเน้นไปที่ นโยบายการคลังที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยตรง หรือก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยตรง ทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน และนโยบายที่มีส่วนในการดำเนินการคือ นโยบายรายได้หรือนโยบายภาษี และนโยบายรายจ่าย กล่าวคือ นโยบายรายได้หรือนโยบายภาษีเป็นนโยบายที่ทำให้รัฐบาลดึงเงินหรืออำนาจซื้อจากภาคเอกชนหรือภาคครัวเรือนมาสู่ภาครัฐ (ดึงเงินมาสู่มือของรัฐ) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่นโยบายรายจ่ายเป็นนโยบายที่รัฐบาลอัดฉีดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีทรัพยากรหมุนเวียนมากขึ้น จากการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ (Consumption) รวมถึงการจ้างงานของภาครัฐ ซึ่งทำให้ภาคเอกชนมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งผลกระทบของนโยบายดังกล่าวมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ นโยบายทั้งสองจะให้ผลในทิศทางตรงกันข้ามกัน ซึ่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project Investment) จะอยู่ในด้านของนโยบายรายจ่าย

.

นโยบายการคลังด้านรายจ่ายสามารถแบ่งการวิเคราะห์เป็นสองส่วนใหญ่ ได้แก่ รายจ่ายประจำ และ รายจ่ายลงทุน รายจ่ายประจำของรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ในหมวดของเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการบริโภคของประชาชน โดยจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในส่วนของภาคการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่รายจ่ายลงทุน เป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อการจัดหาทรัพย์สินประเภททุน โดยส่วนใหญ่ เป็นรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในระยะยาว 

.

Mega Project ในอนาคต

ในช่วงปี 2548-2551 นี้ รัฐบาลไทยรักไทยมีแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่มูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนครั้งใหญ่นี้ รัฐบาลมุ่งหวังให้การลงทุนดังกล่าว เป็นตัวกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 ให้ขยายตัวในระดับ 5-6% เพราะการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อการกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะไม่เพียงพอ และไม่ได้ส่งผลให้ภาคการผลิตจริงขยายตัวเท่าใดนัก และในส่วนของความสามารถในการผลิตของประเทศโดยรวม (Aggregate Production Capacity) ก็เริ่มแตะหรือเข้าใกล้ระดับ Full Capacity ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดก่อให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ โครงการลงทุนขนาดใหญ่จึงอยู่ในประเด็นที่จะต้องคำนึงถึง โดยตัวเลขเบื้องต้นที่กระทรวงการคลัง สรุปออกมาว่า ในปี 2548-2551 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีความต้องการลงทุนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,508,156 ล้านบาท โดยด้านคมนาคมมีการลงทุนสูงสุดถึง 765,890 ล้านบาท รองลงมาได้เป็นด้านอสังหาริมทรัพย์ 270,405 ล้านบาท ด้านพลังงาน 252,171 ล้านบาท และด้านชลประทาน 170,158 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปลงทุนในโครงการสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการในอนาคต เช่น

.

- โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าใต้ดิน

- โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ)

- โครงการพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก

- โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สุราษฎร์ธานี พังงา

- โครงการก่อสร้างโรงกลั่น และท่อส่งน้ำมันภายใต้ Land Bridge

- โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 200-1x ในส่วนภูมิภาค

- โครงการก่อสร้างและขยายงานประปาส่วนภูมิภาค

- โครงการท่อส่งน้ำ Water Grid

- โครงการบ้านเอื้ออาทรระยะ 4-5

.
ทั้งนี้ ประเมินกันว่า สัดส่วนเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้จะมาจาก 5 แหล่ง ได้แก่

1.เงินงบประมาณประเทศ  484,650 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32%

2.เงินกู้ในประเทศ  498,644 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34%

3.เงินกู้ต่างประเทศ  275,482 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18%

4.เงินจากรัฐวิสาหกิจ 229,007 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15%

5.ออกหุ้นใหม่ 20,365 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1%

.

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งเงินทุนเมื่อมาดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกันคิดเป็นร้อยละ 52 ของแหล่งเงินทุน เงินกู้เหล่านี้ถือเป็น หนี้สาธารณะ (Public Debt) ก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่เป็นภาระต่อลูกหลานไทยในอนาคต

.

และสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจต่อไปคือ ผลกระทบของรายจ่ายลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐต่อระบบเศรษฐกิจนั้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ ผลในทางบวกของรายจ่ายลงทุนที่ใช้จ่ายลงไปในระบบเศรษฐกิจในอันดับแรกก่อให้เกิดการเปลี่ยนการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อนำสินค้าและบริการเหล่านั้นมาเป็นสินค้าประเภททุน เช่น ซื้อวัสดุก่อสร้าง และว่าจ้างผู้ประกอบการในการสร้างอาคาร ถนน เขื่อน หรือซื้อเครื่องมือเครื่องจักร เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ มาใช้ในการทำงาน และในขั้นต่อไปเมื่อนำสินค้าทุนเหล่านี้มาเป็นปัจจัยในการผลิตก็จะส่งผลให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอีกทอดหนึ่ง เมื่อรายได้ประชาชาติสูงขึ้นก็จะส่งผลให้การบริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น ในทางตรงข้าม การได้มาซึ่งงบประมาณหรือเงินทุนที่ใช้ในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อการลงทุนนี้ รัฐบาลได้มาจากการเก็บภาษี หรือการกู้เงินจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบของการเก็บภาษีคือจะทำให้รายได้ของประชาชนลดลง มีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยลดลง ก็จะทำให้รายได้ประชาชาติลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนบริโภคน้อยลง ในอีกทางหนึ่ง เมื่อรัฐบาลกู้เงินจากระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการเงินทุนในตลาดเงิน จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นราคาของเงินทุนมีการปรับตัวสูงขึ้น และผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้การลงทุนของภาคเอกชนลดลง ในที่สุดจะส่งผลให้รายได้ประชาชาติลดลง ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า Crowding out Effect หรือการที่รัฐเข้ามาแย่งชิงสภาพคล่องทางการเงินกับภาคเอกชน ผลกระทบดังกล่าว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น และอาจทำให้การลงทุนในภาคอื่น ๆ หดตัวลงไป ดังนั้นรัฐจะต้องคำนวณน้ำหนักของผลกระทบทั้งสองข้างเป็นอ่างดีก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการ เพราะคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโครงการโฮปเวลล์ที่ยังเป็นปัญหาอยู่จนถึงทุกวันนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

.

ผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นคือ การใช้สัดส่วนในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ (Import Content) โครงการก่อสร้างเหล่านี้ต้องอาศัยวัตถุดิบ และสินค้าทุนที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก หรือพูดอีกในหนึ่งว่าทำให้การเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้านำเข้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจจะเป็นการบริโภคสินค้านำเข้าโดยตรง หรือเป็นการบริโภคสินค้าที่มีสินค้านำเข้าแฝงอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าทั่วไปในประเทศ แต่ผู้บริโภคไม่อาจรู้ได้ว่าในสินค้าชนิดนั้นอาจจะมีบางชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้วจึงทำการประกอบหรือผลิตในประเทศไทย การบริโภคในส่วนนี้เป็นการรั่วไหลของรายได้ไปสู่ต่างประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยหดตัวลง

.

โดยสรุปแล้ว Mega Project ในอนาคตที่รัฐบาลไทยรักไทยมุ่งหมายจะให้เกิดขึ้นนั้น แม้ว่าจะเกิดผลกระทบเชิงบวกกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในแง่การจ้างงานเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ แต่ปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเผชิญคือ การหากแหล่งเงินทุนที่จะมาดำเนินการ เพราะข้อจำกัดสำคัญคือ การก่อหนี้สาธารณะ (Public Debt) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวการณ์ขาดสภาพคล่องในตลาดเงิน เนื่องมาจากภาครัฐเข้าไปแย่งใช้สภาพคล่องทางการเงินจากภาคเอกชน แม้ว่าการก่อหนี้สาธารณะเพื่อมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับคนรุ่นหลัง (Next Generation) โดยหลักการแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และในระยะยาวโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้น การพิจารณาดำเนินการก่อสร้างโครงการเหล่านี้จึงต้องมีความระมัดระวังและโปร่งใส เพื่อให้เกิดโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และที่สำคัญจะต้องไม่เป็นภาระที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังซึ่งเป็นลูกหลานของเรา

.

เอกสารอ้างอิง

1.Post Today, ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2547 บันทึกประเทศไทย, ปี 2547

2.สยามรัฐ ฉบับเกียรติยศ, พลิกแฟ้มโครงการหมื่นล้าน, ก.ค. 35

3.ประสบการณ์วิชาชีพ ศ.ศ. มสธ. จำหน่าย 8-15

4.การลงทุนขนาดใหญ่: 1992-2007 อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร (TDRI) 1994