เนื้อหาวันที่ : 2011-10-07 10:11:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1124 views

ทูตญี่ปุ่นพบรมว.แรงงานถกปัญหาขาดแคลนแรงงาน

          เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 นายเซะอิจิ  โคะจิมะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (Ambassador Extraordinary Plenipotentiary) เข้าเยี่ยมคารวะ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เพื่อแสดงความยินดีที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปรึกษาในเรื่องสถานการณ์การจ้างงาน การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของสถานประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าตนเข้าใจสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานดี ทั้งญี่ปุ่นเอง และผู้ประกอบการไทยก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการใช้แรงงานต่างด้าว ที่ก็มีปัญหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้พยายามแก้ไขผ่อนผันให้ถูกกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว และยังมีแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นการแจ้งขอบริการจากหน่วยงานของกรมการจัดหางานทั่วประเทศ

การนำเข้าแรงงานต่างประเทศทดแทนแรงงานไทยในกิจการที่แรงงานไทยไม่ทำ คืองานสกปรก(dirty) งานตรากตรำ(difficult)  และอันตราย (dangerous) ส่วนการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่ไม่ใช่ระดับชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สามารถแก้ไขได้โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพัฒนายกระดับทักษะ

ส่วนการขาดแคลนแรงงานระดับชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าแรงงานเหล่านี้เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตได้  และหากสถานประกอบการมรการบริหารจัดการที่ดี เช่นการจัดระบบค่าจ้าง สวัสดิการที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก และระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ก็จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการเข้าออกงานสูง หรือปัญหาการประท้วงต่างๆ

          แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว  แก้ไขโดยการเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ประกอบด้วย กลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ ผู้ว่างงาน แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานต่างด้าว  แก้ไขโดยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้น ทั้งผลิตและพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ สนับสนุนการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต

การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจสถานประกอบการให้เพิ่มผลิตภาพแรงงาน การจัดที่พักราคาถูกใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรม การให้ข้อมูลข่าวสาร การเสริมสร้างค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ดีในการทำงานผ่านสถานีโทรทัศน์เลเบอร์ แชนแนล และการเพิ่มแรงจูงใจแก่แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเพิ่มสวัสดิการค่าจ้าง และจัดให้มีความก้าวหน้าทางอาชีพ (career path) แก่แรงงานในสถานประกอบการ  

          สำหรับจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าการไปฝึกงานนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ขอให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาโอกาสให้แรงงานเหล่านั้นได้รับการบรรจุงานกับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยหลังเสร็จสิ้นการฝึกงานให้มากขึ้น  และข้อมูลของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2554 พบว่ามีแรงงานไทยไปโดยวิธีต่างๆ 5 วิธี และกลับเข้าไปใหม่ (reentry) จำนวนทั้งสิ้น 3,740 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ เช่น พนักงานทั่วไป หัวหน้างานทั่วไป ผู้ควบคุมงานผลิต เป็นต้น

โดยจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ฝึกงานตามโครงการ ไอเอ็ม แจแปน 242 คน  (International Manpower Development Organization, Japan : IM Japan)  ส่วนจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับการบรรจุงานในสถานประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้น ข้อมูลกองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 มีแรงงานไทยได้รับการบรรจุงานเฉพาะที่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ จำนวน 57 คน