ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะไทยเร่งเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุก่อนจะสาย สร้างมาตรการรองรับรูปแบบเฉพาะสำหรับสังคมไทย
ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะไทยเร่งเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุก่อนจะสาย สร้างมาตรการรองรับรูปแบบเฉพาะสำหรับสังคมไทย
ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะไทยเรียนรู้จากญี่ปุ่น เร่งสร้างมาตรการรองรับ ก่อนสังคมไทยจะมีคนสูงอายุจำนวนมาก การจัดการสังคมสูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมระยะยาว และสร้างรูปแบบเฉพาะสำหรับสังคมไทย
เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรมหาวิทยาลัยนิฮอน (NUPRI) ได้จัดสัมมนาเรื่องบัญชีเงินโอนประชาชาติ (NTA) สำหรับประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ นาโอะฮิโร โอกาวา จาก NUPRI ผู้คร่ำหวอดในการศึกษาการจัดการสังคมสูงอายุในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี กล่าวปาฐกถาเรื่องผลการศึกษา NTA ในประแถบเอเชีย และถ่ายทอดประสบการณ์จากญี่ปุ่นถึงประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรอย่างฉับพลัน ที่ทุกปีจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่อัตราการเกิดและวัยแรงงานมีน้อยลง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมและภาระในการดูแล เนื่องจากในปัจจุบันคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับ ซึ่งประเทศสามารถเรียนรู้บทเรียนและเตรียมความพร้อมได้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่ผ่านช่วงการปันผลทางประชากรช่วงที่สอง หรือสังคมสูงอายุมาแล้ว
บัญชีเงินโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts: NTA) เป็นการศึกษาเศรษฐศาสตร์ชั่วคน ที่ทำให้เห็นวงจรชีวิตทางเศรษฐกิจและระบบการโอนทรัพยากรระหว่างประชากรวัยต่าง ๆ โดยเป็นบัญชีรายได้ประชาชาติอีกแบบหนึ่งที่มีการวัดรายละเอียดด้านประชากรโดยเฉพาะรายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อการบริโภค และการโอนทรัพยากรระหว่างวัยต่างๆตั้งแต่เด็กจนกระทั่งสูงอายุอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบบัญชีเงินโอนประชาชาติใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก โดยในทวีปเอเชียมี NUPRI เป็นศูนย์กลางการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การใช้กรอบคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ข้ามรุ่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่จะมาจัดการกับสังคมที่มีคนสูงอายุมากขึ้นอย่างเช่น ในประเทศไทย
ศ.โอกาวา ยกตัวอย่างการจัดการในญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สองคนญี่ปุ่นมีลูกน้อยลง 50% ซึ่งคาดได้ว่าในอนาคตสังคมญี่ปุ่นจะมีแต่คนแก่ ตอนนั้นไม่มีใครสนใจ เพราะกำลังยินดีกับการมีวัยแรงงานมาก เศรษฐกิจเติบโต และญี่ปุ่นก็มีระบบประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 1961 รัฐบาลก็สัญญาว่าจะรับภาระดูแลเรื่องผู้สูงอายุ คนญี่ปุ่นจึงใช้ชีวิตกันอย่างสบาย ๆ ไม่ใส่ใจ คือตอนเศรษฐกิจดี รัฐบาลก็สัญญาอะไรได้สารพัด แต่หลังจากนั้นจะเป็นปัญหา เมื่อพบว่าสัญญาที่ใช้ไว้เป็นเรื่องยากมากที่จะปฏิบัติตามสัญญา
ในญี่ปุ่นตอนเริ่มทำประกันถ้วนหน้าเราระมัดระวังมาก ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น ให้ทีละนิด ไม่ให้อย่างใจป้ำเหมือนประเทศตะวันตก ที่ประกาศจะเป็นรัฐสวัสดิการในช่วงปี 1950 ซึ่งญี่ปุ่นก็เลียนแบบ สิบปีให้หลังจึงรู้ว่าบางอย่างเป็นไปไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นก็มีปัญหาวิกฤติการเงินและวิกฤติน้ำมัน จึงต้องเปลี่ยนระบบจากเน้นสวัสดิการมาเน้นเรื่องการจ้างงาน และประกันสังคม
ที่น่าสนใจคือประเทศเกาหลีได้สร้างรูปแบบการจัดการของตัวเองขึ้นมา โดยหลังจากวิกฤติการเงิน เกาหลีก็ใช้ประกันสังคมปี 1999 แล้วบอกว่าจะไม่เลียนแบบญี่ปุ่นจะเน้นให้สวัสดิการ แต่มีเงื่อนไขบังคับให้คนทำงานด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบ Workfare ศ.โอกาวาแนะว่า ประเทศไทยก็น่าจะพัฒนาโครงการหรือมีนโยบายการคุ้มครองทางสังคม ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา โดยคำนึงถึงจุดเด่นของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวที่มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน
ศ.โอกาวา กล่าวว่า ประเทศไทยมาถึงจุดที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนา ทำอย่างไรจะกระตุ้นการลงทุนและการตักตวงรายได้จากการปันผลทางประชากรครั้งที่สองนี้ โดยเฉพาะผลจากการลงทุนด้านการศึกษาซึ่งที่ผ่านมาไทยทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับเรื่องนี้ ไปกับคนรุ่นใหม่ที่มีลูกน้อยลงแต่ต้นทุนการศึกษาสูงขึ้น บทเรียนจากญี่ปุ่นในอดีตความผิดพลาดของญี่ปุ่นคือไม่เข้มงวดในเรื่องการศึกษามากนัก ให้เด็กเรียนกันสบาย ๆ ทำให้เกิดปัญหาตามมา ความสามารถของเด็กญี่ปุ่นลดลง ประเทศไทยควรทำหลักสูตรของตัวเองให้สร้างหลักประกันคุณภาพว่าเด็กจะมีทักษะที่เหมาะสมจะแข่งขันได้ในสังคมโลกาภิวัฒน์ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเรียนรู้ได้จากญี่ปุ่น หากไม่อยากให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าก็ควรเน้นคุณภาพให้มาก
“ประเทศไทยยังมีโอกาสเตรียมความพร้อมเพราะเพิ่งเริ่มต้นที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งตัวอย่างในญี่ปุ่นตอนนี้มีคนแก่อายุ 100 ปีขึ้นไปมากถึง 44,000 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วที่มีเพียง 153 คน การเพิ่มขึ้นทุกปีของกลุ่มสูงอายุ ทำให้ต้องมาดูว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล เมื่อโครงสร้างประชากรและการโอนย้ายทรัพยากรข้ามรุ่นที่เคยดูแลกันได้ในอดีตนั้น ปัจจุบันพึ่งได้ยาก ประเทศไทยต้องคิดว่าใครจะมาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดูแลประชากรผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนระยะยาว คอยติดตามและมีนโยบายที่สอดคล้องกับค่านิยมของคนในสังคม
นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการลงทุนเพื่อการออมและการวิธีบริหารจัดการ เพราะในญี่ปุ่นคนส่วนใหญ่กว่า 70% ไม่รู้เรื่องการลงทุน จนในปี ค.ศ.2007 รัฐบาลผ่านกฎหมายที่กำหนดให้การลงทุนในสถาบันการเงินของผู้สูงอายุต้องมีการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวด้วย ให้รับรู้และเข้าใจตรงกัน เพราะคนแก่ในญี่ปุ่นมีเงินแต่มีปัญหาหลงลืมกันมาก ตอนนี้ญี่ปุ่นมีคนแก่มากกว่า 2 ล้านคนที่หลงลืม ดังนั้นการจัดการเรื่องผู้สูงอายุจึงใหญ่มากสำหรับญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทย อาจเป็นเรื่องตลกร้ายที่ตอนนี้ในเมืองมีปัญหารถติดแต่ในอนาคตอันใกล้เมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุเราจะพบว่ามีคนขับรถหลงทางหรือผิดทางมากขึ้น(เป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น) ดังนั้นโครงสร้างทางอายุประชากรที่เปลี่ยนไปไม่ใช่เฉพาะเรื่องการโอนทรัพยากรข้ามรุ่น แต่รวมถึงกฎระเบียบทางสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมทุก ๆ ด้านเพื่อที่จะมาจัดการกับสังคมสูงอายุที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต้องวางแผนระยะยาวและทำอย่างจริงจัง เพราะการจัดการกับสังคมสูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังกลไกที่มีอยู่น่าจะยังไม่เพียงพอ.
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย