เนื้อหาวันที่ : 2011-10-05 11:00:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1943 views

คลังเผยเศรษฐกิจ ส.ค. ดีขึ้นการผลิต ส่งออกคึกคัก

ภาวะเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม ปรับตัวดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมภาคเกษตรเริ่มขยายตัว การส่งออกโตต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

กระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม ปรับตัวดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรเริ่มขยายตัว การส่งออกโตต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน การผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง

การผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากจีน การผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่นคลี่คลาย

การผลิตน้ำตาลและสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นตามวัตถุดิบที่มีมากขึ้น และการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากการเร่งผลิตก่อนโรงกลั่นจะปิดปรับปรุงคุณภาพในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2554 และเพื่อรองรับอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการลดราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี อุปสงค์จากตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอลง ส่งผลให้การผลิตในหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.5 จากที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในเดือนก่อน

โดยผลผลิตข้าวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากที่ลดลงมากในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากขึ้นเนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากราคาที่จูงใจ และปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งน้อยลง ด้านราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 9.0 ตามราคาข้าวและปศุสัตว์ที่เร่งสูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ราคายางพารายังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวร้อยละ 12.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อน

รายได้เกษตรกรที่ขยายตัว ประกอบกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากการขยายตัวของเครื่องชี้ทุกรายการ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ในประเทศที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล ที่เร่งขึ้นหลังจากนโยบายลดราคาน้ำมันโดยงดเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของรัฐบาลซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งประเทศและปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับภาครัฐในเดือนนี้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลขยายตัวดีในทุกฐานภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบครึ่งปีที่เพิ่มขึ้นมากแต่เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ ทำให้ดุลเงินสดขาดดุล 9.8 พันล้านบาท

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดีทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 20,940 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 28.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตรจากการส่งออกข้าวไปไนจีเรีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน และการส่งออกยางพาราที่ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการผลิตยานยนต์ทั่วโลกที่กลับมาฟื้นตัว

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติกเคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารพร้อมปรุง และผลิตภัณฑ์ยางพารา สำหรับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 35.7 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ โดยภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากนักเนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวและอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 45.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เร่งขึ้นมากกว่าปกติเพื่อนำมาผลิตก่อนปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน และหมวดสินค้าทุนที่มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการขุดเจาะน้ำมันเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.29 และ 2.85 ตามลำดับ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง