นิทรรศการกว่า 200 โครงงาน ที่ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรม เทคโนโลยี หรือ เกษตร ชี้ผลงานเหล่านี้เกิดจากการ สร้างคน ร่วมกับปัญหาจริง พร้อมหนุนสู่ภาคอุตสาหกรรม
นักศึกษาทุนป.ตรีในโครงการ IRPUS ร่วมแสดงศักยภาพด้วยผลงานนิทรรศการกว่า 200 โครงงาน ที่ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรม เทคโนโลยี หรือ เกษตร ชี้ผลงานเหล่านี้เกิดจากการ สร้างคน ร่วมกับปัญหาจริง เชื่อมโยงโจทย์กับบทเรียน พร้อมหนุนสู่ภาคอุตสาหกรรม ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมผลงานได้ฟรี ณ งานแสดงผลงานพัฒนาเทคโนโลยีทุนปริญญาตรี สกว.ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2550 ณ ห้อง Royal Paragon Hall ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน |
. |
การพัฒนาการศึกษา เพื่อให้เกิดเป็นความรู้ที่สามารถนำไปสู่การใช้งานได้จริงนั้น ผู้เรียนควรได้รับโอกาสในการดำเนินงานวิจัย ทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานให้ทุนวิจัย และโอกาสในการฝึกฝนฝีมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชน โครงการสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี หรือ Industrial and Research Project for Undergraduate Students (IRPUS : ไออาร์พุด) ด้วยความสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จึงเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่กำลังอยู่ในชั้นปีสุดท้าย ได้มีโอกาสสร้างโครงงานวิจัยเพื่อทดลองหาประสบการณ์ และบางส่วนยังมีโอกาสสร้างโครงงานแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอกชนได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย |
. |
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า โครงการ IRPUS มีส่วนอย่างมากในภารกิจหลักของ สกว. ที่เน้นการสร้างความรู้ สร้างคน และสร้างระบบวิจัย แม้ว่าความรู้ที่ได้จากโครงการนี้อาจจะไม่ใช่ความรู้ที่ลึก เนื่องจากเป็นงานวิจัยขั้นต้นที่ทำโดยนักศึกษา แต่ก็เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับการใช้งานและในหลายกรณีก็เป็นความคิดริเริ่มจากมุมมองที่สดใหม่ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างคนและสร้างระบบวิจัยที่ดี เพื่อสนับสนุนการศึกษาอุดมศึกษาใน “การสร้างคน”โดยบูรณาการปัญหาจริงในอุตสาหกรรมผ่านทางวิชาโครงงานปีสุดท้ายและอาศัยการฝึกงานภาคฤดูร้อนของนักศึกษาเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงงาน โจทย์กับบทเรียน ระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย ถือเป็นกลไกสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ พร้อมเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจกันและสร้างประโยชน์ให้แก่กันมากยิ่งขึ้น |
. |
ด้านผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ กล่าวว่า โครงการ IRPUS เพื่ออุตสาหกรรมได้จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการคือ 1.สนับสนุนการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในการทำงานวิจัยและพัฒนาในโรงงานอุตสาหกรรมจริง 2.สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่ดีขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการ และ 3.สนับสนุนและส่งเสริมให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสสัมผัสกับการวิจัยและพัฒนาภาคปฏิบัติเพื่อเสริมทักษะและความเชื่อมั่น ด้วยเชื่อว่าทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาความรู้สาขาต่างๆเพื่อให้เกิดการรวมพลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต |
. |
สำหรับปีนี้มีโครงงานที่น่าสนใจมากมายหลายด้าน อาทิ การออกแบบ การผลิต และประเมินชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการถ่ายภาพรังสีฟลูออโรสโคปีในหน่วยรังสีวินิจฉัย จากผลงานของนักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้พัฒนาชุดอุปกรณ์ใช้ในห้องตรวจพิเศษทางรังสี |
. |
จากปัญหาที่แพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องอยู่ในห้องเอกซเรย์ขณะตรวจ ทำให้ได้รับรังสีกระเจิงจากการตรวจอย่างต่อเนื่อง และการป้องกันอันตรายจากรังสีเหล่านี้จะแนะนำให้ใช้อุปกรณ์กำบังรังสีทั้งแบบที่เป็นฉากกำบัง เสื้อและอุปกรณ์บังที่คอ แต่อุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะผลิตจากตะกั่วซึ่งมีข้อด้อยเรื่องความไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและหากชำรุดก็จัดเป็นขยะมลภาวะ คณะผู้วิจัยจึงได้ค้นคว้าและพัฒนาเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า โดยได้ปรับปรุงวัสดุและส่วนผสมของวัสดุที่จะนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์กำบังรังสี พร้อมทั้งได้ออกแบบลักษณะของอุปกรณ์กำบังที่เหมาะสมกับลักษณะของการใช้งาน รวมถึงการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายจากรังสี พร้อมทั้งได้ชิ้นงานที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของงานทางด้านรังสีวินิจฉัยต่อไป |
. |
โครงงาน การออกแบบและทดสอบหัวกระจายสารเคมีกำจัดปลวกแบบหมุนโดยใช้วิศวกรรมย้อนรอยและโปรแกรมพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ จากทีมนักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้มุ่งเน้นที่จะออกแบบและพัฒนาหัวกระจายสารเคมีกำจัดปลวกให้มีการกระจายสารเคมีกำจัดปลวกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อลดการสิ้นเปลืองสารเคมี พร้อมทั้งยังลดกลิ่นรบกวน และลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่อาจเกิดอันตรายแก่ผู้อาศัยหรือสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนลดการนำเข้าสารเคมีกำจัดปลวกที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ป้องกันการรั่วไหลของเงินตราออกนอกประเทศ และที่สำคัญที่สุดผู้บริโภคจะมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันและกำจัดปลวกลดลงมาก |
. |
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างงานวิจัยฝีมือคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมแสดงศัยภาพด้วยผลงานวิจัยกว่า 200 โครงงาน ครอบคลุม 7 สาขา เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ ,วิศวกรรม, วิศวกรรมอาหาร ,เทคโนโลยีสารสนเทศ, เทคโนโลยีชีวภาพ และเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมผลงานได้ฟรี ณ งานแสดงผลงานพัฒนาเทคโนโลยีทุนปริญญาตรี สกว.ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2550 ห้อง Royal Paragon Hall ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน |
. |
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) |