48 จังหวัดเห็นด้วยขึ้นค่าจ้าง 40% และ 300 บาทใน 1 ปี ผู้ประกอบการวอนช่วยเหลือ ลดเงินสมทบประกันสังคม ลดภาษี
กระทรวงแรงงาน เปิดศูนย์อำนวยการยกระดับค่าจ้าง 300 บาท รวบรวมข้อมูล ลดผลกระทบให้สถานประกอบการ ขณะที่กว่าร้อยละ 63.15 เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างร้อยละ 40 ในวันที่ 1 มกราคม
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการยกระดับค่าจ้าง 300 บาท ที่กระทรวงแรงงาน ชั้น 5 โดยกล่าวว่า ศูนย์มีหน้าที่เก็บข้อมูล ประเมินผล วิเคราะห์ และรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศ ให้คำปรึกษา รับฟังปัญหา ให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนนำมาตรการการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายไปดำเนินการในพื้นที่ มีนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน
ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ 77 จังหวัด ร้อยละ 63.15 หรือ 48 จังหวัด เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าจ้างร้อยละ 40 และ 300 บาทใน 1 ปี รองลงมา 23 จังหวัด ให้ปรับขึ้นค่าจ้างต่ำกว่าร้อยละ 40 ขณะที่อีก 4 จังหวัด(สมุทรปราการ/สมุทรสาคร/ระยอง/สุราษฐร์ธานี) ไม่มีการลงมติ
ส่วนสมุทรสงคราม มีมติให้ 2 แนวทาง คือ ปรับร้อยละ 40 ภายในวันที่ 1มกราคม 55 และปรับเป็น 300 บาทภายใน 3 ปี ส่วนแนวทางที่ 2 คือ ปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 40 ภายใน 3 ปี คาดว่าภายใน 2 วัน อีก 6 จังหวัด ที่ยังได้ข้อสรุปไม่ชัดเจน ต้องส่งข้อมูลเข้ามายังส่วนกลาง เพื่อให้ทันต่อการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เวลา 09.30 น.
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ หากมีการปรับค่าจ้างตามนโยบาย คือ ลดส่งเงินสมทบประกันสังคม ลดภาษีรายได้นิติบุคล และภาษีบุคคลธรรมดา ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สถานประกอบการ รวมไปถึงให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่ม ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าไปฝึกทักษะเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้า และลดค่าครองชีพด้วย
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ