เนื้อหาวันที่ : 2011-09-30 14:00:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1924 views

เอกชนยันขึ้นค่าแรง 300 ทำไม่ได้แนะโมเดลค่าแรงรวม

สมาคมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ชี้ห่วงขึ้นค่าแรง 300 บ. ทำต้นทุนพุ่ง ยันนายจ้างรับไม่ไหว แนะนับรวมรายได้อื่นด้วย

สมาคมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ชี้ห่วงขึ้นค่าแรง 300 บ. ทำต้นทุนพุ่ง ยันนายจ้างรับไม่ไหว แนะนับรวมรายได้อื่นด้วย

นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน   เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ โดยมีนายสัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (President of Electronic and Computer Employers’ Association) และคณะเป็นตัวแทนร่วมประชุม

ในการประชุมหารือครั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานได้ขอรับทราบปัญหาที่แท้จริง ซึ่งทางตัวแทนสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ระบุว่าหากจะปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบกิจการด้านนี้ถึงประมาณ 47 แห่ง พนักงานราวแสนกว่าคน แม้แต่การจะปรับขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์จากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันตามนโยบายของรัฐบาลก็จะทำให้นายจ้างโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้นมหาศาล

ต่อเรื่องนี้ ทางสมาคมฯ จึงขอนำข้อเสนอให้นำรายได้รวมนอกเหนือจากเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาผนวก ทางฝั่งนายจ้างก็ยินดีและพร้อมจะทำ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ค่อยเป็นค่อยๆป ไม่ใช่ปรับขึ้น 300 บาทรวดเดียวตามที่รัฐบาลเสนอ แม้ว่าจะตอบโจทย์ได้ว่าเป็นการขึ้นครั้งเดียวที่ขึ้นไปรออัตราเงินเฟ้อที่จะไล่หลังตามมาในภายหลัง และทำให้ดูเป็นค่าจ้างเพื่อการยังชีพ (living wage) ก็ตาม

แต่จากการพูดคุยทางนายจ้างไม่สามารถทำได้ ควรนำรายได้รวมด้านอื่นๆ มาผนวก เช่น ค่ากะกลางวัน กลางคืน ค่าอาหาร ค่าเดินทางและอื่นๆ บนพื้นฐานการทำงานวันละ 8ชั่วโมง ซึ่งนี่ยังไม่รวมเบี้ยขยัน ค่าฝีมือแรงงานตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือทักษะงานยาก ที่จะตกอยู่วันละประมาณ 30 – 60 บาทต่อวัน แล้วแต่บริษัท หรือตกประมาณไม่เกิน 8,000บาทต่อเดือน

ยิ่งถ้ารวมโอทีจะได้รับถึงเดือนละประมาณ 10,000 – 12,000 บาท ซึ่งมีทั้งรูปแบบสวัสดิการในรูปแบบตัวเงิน และไม่ใช่ในรูปแบบตัวเงินที่ทางนายจ้างจะให้กับลูกจ้างอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าจะสูงกว่าอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาทด้วยซ้ำ และได้ยกตัวอย่างว่าเฉพาะค่าทำงานล่วงเวลาในทุกวันนี้ทางฝ่ายนายจ้างต้องจ่ายถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว หากต้องมาเพิ่มค่าจ้างอัตราวันละ 300 บาท ทางนายจ้างกว่าครึ่งก็ย่อมจะลดการทำล่วงเวลาลงเพื่อรักษาผลกำไรแน่นอน

ด้านปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าหน่วยราชการถือว่าอยู่ระหว่างกลาง ซึ่งรับโจทย์มาว่าต้องผลักดันนโยบายค่าจ้างวันละ 300บาท ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่านโยบายค่าจ้างวันละ 300 บาทมีผลกระทบโดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และเห็นควรขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์จาก 300 บาทก่อน ซึ่งตามนโยบายต้องทำทันที แต่เมื่อเห็นว่ากระชั้นเกินไปก็ควรก้าวเข้ามาคนละครึ่งทาง ซึ่งถ้าภายใน 1 ปีเห็นว่าเร็วไป แต่หากจะยืดขยายถึง 3 ปี ก็นานไป ก็ควรยืดหยุ่นเป็นภายใน 1 ถึง 2 ปี ก็น่าจะสมเหตุผล ซึ่งเรื่องนี้สมาคมให้ข้อสรุปว่าต้องย้อนไปพิจารณาเรื่องค่าแรงรวมแล้วนำเสนอมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในนามสมาคมอิเล็กทรอนิกส์ฯ ก่อน