ไทโก้ อิเล็กทรอนิกส์ ควบรวม ADC Krone เสริมศักยภาพธุรกิจรองรับการเติบโตของตลาดระบบเขื่อมต่อสื่อสาร
ไทโก้ อิเล็กทรอนิกส์ ควบรวม ADC Krone เสริมศักยภาพธุรกิจรองรับการเติบโตของตลาดระบบเขื่อมต่อสื่อสาร
ไทโก้ อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สายสัญญาณและอุปกรณ์เชื่อมต่อในแบรนด์ AMP Netconnect ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ หลังควบรวม ADC Krone เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ รองรับการเติบโตของตลาดระบบเชื่อมต่อสื่อสาร โดยตั้งเป้าครองส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์
นายรักเกียรติ หงส์กาญจนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภาคพื้นอาเซียนเหนือ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัท ไทโก้ อิเล็กทรอนิกส์ ได้ควบรวมกิจการกับ เอดีซี โครเน่ (ADC Krone) ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ จำกัด ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์และเน็ตเวิร์กโซลูชั่นที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
โดยปัจจุบัน ทีอี มีมูลค่าทางการตลาดถึง 12,100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในราว 363,000 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์รวมกันกว่า 5 แสนผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานกันอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน ครอบคลุมการดำเนินงานใน 3 ธุรกิจหลัก คือ โซลูชั่นเพื่อระบบคมนาคม โซลูชั่นระบบอุตสาหกรรมและระบบสื่อสาร และโซลูชั่นระบบเครือข่าย ซึ่งในประเทศไทย ทีอี ให้ความสำคัญกับธุรกิจโซลูชั่นระบบเครือข่าย
เนื่องจากปัจจุบันตลาดไอทีของไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) การติดตั้งเครือข่ายสำนักงาน (Office Network) เพื่อรองรับการใช้งานและสำรองข้อมูลของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค่าธุรกิจประเภทการเงิน การธนาคาร ระบบ E-banking หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของระบบ 3G ในไทย ซึ่งทำให้เหล่าโอเปอเรเตอร์มีความต้องการที่จะขยายเครือข่ายให้รองรับการใช้งานของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ทำให้ตลาดส่วนนี้เติบโตขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ รวมไปถึงตลาดระบบเครือข่ายไร้สาย ที่ยังต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อผ่านสายที่มีประสิทธิภาพ รองรับการใช้งานที่มีการรับส่งข้อมูลในขนาดใหญ่ขึ้น รวมไปถึง อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงตามบ้านที่เติบโตและแข่งกันเรื่องของความเร็วอินเตอร์เน็ต ล้วนมีความต้องการด้านการใช้งานด้านสายเชื่อมต่อคุณภาพสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตลาดของอุปกรณ์เชื่อมต่อเติบโตขึ้นอย่างมาก
ปัจจุบันทีอีมีสำนักงานในเมืองไทย รวมถึงคลังสินค้าและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความได้เปรียบเหนือคู่แข่งและในปีหน้าทีอียังมีแผนที่จะขยายสำนักงานรวมถึงคลังสินค้าไปตั้งที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เรามีการขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้นและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้ทั้งภูมิภาคเอเชีย
ปัจจุบันทีอีในประเทศไทยมีช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทางหลักอยู่ 2 ช่องทาง โดยช่องทางแรกจะผ่านตัวแทนจำหน่าย (Distributor) 4 รายหลัก ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเน็ต เน็ตเวิร์ค โซลูชั่น จำกัด และ บริษัท เอดับบลิวเอส. ไวร์ เวิร์คส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะทำการขายทั้งในรูปแบบขายปลีก และการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้า
และช่องทางที่สองผ่านตัวแทนจำหน่ายโครงการ (Value Added Reseller) ได้แก่ บริษัท แลนโทร (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สเกต เน็ตเวิร์คส์ อินติเกรเตอร์ จำกัด บริษัท ทรีไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ไซท์ เพรพพาเรชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด และ บริษัท พีแอนด์พี เทเลคอม จำกัด ซึ่งคู่ค้าของเราในกลุ่มนี้ จะทำการขายเข้าไปสู่โครงการต่าง ๆ
และด้วยการขายผ่านช่องทางหลักทั้งสองช่องทางเราเชื่อว่า เป็นการขายที่ครบวงจร ทั้งด้านการขายเป็นโซลูชั่นใหญ่ระดับโครงการ และการขายปลีกไปยังผู้บริโภคตามบ้าน ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของทีอีเป็นที่รู้จักได้กว้างมากยิ่งขึ้น และรองรับการเติบโตของตลาดไอทีในอนาคตอีกด้วยนายรักเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย