สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 26 30 ก.ย.54
สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 26 – 30 ก.ย.54
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 19-23 ก.ย. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.60 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 106.38 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 4.31 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 107.9 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล
น้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 5.15 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 83.78 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยลดลง 1.04 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 123.45 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 1.23 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 122.01 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0-0.25 % และประกาศใช้มาตรการ Operation Twist แทนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่สามโดยใช้เงินมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีอายุการไถ่ถอน 6-30 ปี และขายพันธบัตรอายุ 3 ปีหรือต่ำกว่า ในวงเงินเท่ากัน กำหนดแผนการเริ่มต้นเดือน ต.ค. 54 และจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2555
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard&Poor (S&P) ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลง 1 ขั้น จาก A+/A-1+ มาอยู่ที่ A/A-1 และประกาศคงแนวโน้มความน่าเชื่อถือไว้ที่ "เชิงลบ"
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (European Union Statistics Office) รายงานยอดเกินดุลการค้าของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 17 ประเทศ ในเดือน ก.ค. 54 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 400 ล้านยูโร อยู่ที่ 4.3 พันล้านยูโร
- ผู้ค้าคาดการณ์อัตราการกลั่นของโรงกลั่นยุโรป ในเดือน ก.ย. 54 อยู่ที่ 77% ลดลงจากเดือน ส.ค. 54 ที่ระดับ 83% เนื่องจากผลตอบแทนจากการกลั่นอยู่ในระดับต่ำ
- National Oil Company (NOC) ของลิเบียมีแผนจะกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 54 ทั้งนี้ลิเบียมีระดับการผลิตที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนเกิดสงครามกลางเมือง
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. 54 ลดลง 7.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 339.0 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล และ Distillates ลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 157.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Gasoline เพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 214.1 ล้านบาร์เรล
- เลขาธิการโอเปค นาย Abdullah al-Badri เห็นว่าความต้องการใช้น้ำมันของกลุ่มโอเปค (Call-On OPEC crude) ในปี 2554 จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตในเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 29.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่น Bina กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน ของบริษัท Bharat Petroleum Corporation ประเทศอินเดียจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องภายในวันที่ 25 ก.ย. 54 ภายหลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 54 แล้วเสร็จ
ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลตามลำดับ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากนักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯที่ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวและขายพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง แทนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่สาม ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูงให้ฟื้นตัวขึ้น
ประกอบกับนักลงทุนมีความกังวลว่าปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันถดถอยจึงมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทุกชนิด อาทิ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน เหล็ก ทองคำ และตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกปีนี้และปีหน้า ลดอยู่ที่ 4% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% และ 4.5% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม โอเปคอาจลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เนื่องจากลิเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ตามปกติ และ International Energy Agency ประมาณปริมาณการผลิตน้ำมันสำรองของโอเปค (Spare Capacity) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้ม ลดลงสู่ระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2555