นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม แบกหน้ายอมรับเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ขาลงสุด ๆ เผยแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนของมาตรการการคลังจะเน้นการทำรายจ่ายแบบขาดดุลมากที่สุด ด้วยการจัดสรรรายจ่ายให้กระจายไปสู่ประชาชนโดยตรงให้มาก หรือเพิ่มรายจ่ายด้านงานก่อสร้าง ด้านโยธาให้มากขึ้น
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศประจำเดือนก.พ.50 ว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออก 11,232.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.42% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 10,108.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.13% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1,123.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 21,720.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.07% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,716.6 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.79% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ารวมมูลค่า 2,003.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าในช่วง 2 เดือนจะเห็นว่าขยายตัวเพียง 2.79% เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จึงได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศไปดูรายละเอียดว่าการนำเข้าลดลงมากเพราะอะไร และสินค้าใดที่มีการนำเข้าลดลง เพราะหากเป็นการนำเข้าสินค้าทุน หรือวัตถุดิบลดลง อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในอนาคต เพราะเท่ากับว่ามีการผลิตลดลง |
. |
นายเกริกไกร กล่าวอีกว่า ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนขึ้นมา 1 ชุดเพื่อดูแลเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทกับความสามารถในการแข่งขันของไทย |
. |
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การนำเข้าในช่วง 2 เดือนแรกปี"50 ที่ขยายตัวลดลงเหลือเพียง 2.7% เนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตขยายตัวลดลงถึง 9.1% ซึ่งการที่มียอดนำเข้าสินค้าทุนโดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตลดลงชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมต่างๆ มีการชะลอการลงทุนในไทย ชะลอการขยายกำลังการผลิต เนื่องจากต้องการรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทย แต่ยังฟันธงตอนนี้ไม่ได้ว่าการลงทุน การผลิตภายในจะชะลอต่อเนื่องหรือไม่ เพราะเพิ่งเกิดขึ้น 2 เดือน แต่หากการนำเข้าสินค้าทุนชะลอต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคตได้ เพราะหากการผลิตลดลง ยอดส่งออกในอนาคตต้องลดลงด้วย |
. |
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถา เรื่อง "การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคภายใต้ทีมเศรษฐกิจใหม่" ว่า ยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจของไทยเริ่มชะลอตัวลง แต่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะพยายามทำให้เศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวนี้เป็นแค่เรื่องชั่วคราว โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และเศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวจากการเบิกจ่ายงบประมาณ คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4-5% ทั้งนี้ เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากเครื่องยนต์ที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีเพียงเรื่องเดียว คือ การส่งออก |
. |
สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะเร่งปรับบทบาทของชุมชนจากการเป็นจุดกระจายงบประมาณจากการขับเคลื่อนนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นสิ่งเสพติด มาเป็นการสร้างให้ชุมชนมีความสามารถในการดูแลตนเองและมีความเข้มแข็ง ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งความคิดไม่ใช่คอยรับเงิน โดยยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณไป 5 พันล้านบาท จะขอครม.เพิ่มอีก 5 พันล้านบาท |
. |
นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง กล่าวว่า แนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนของมาตรการการคลังจะเน้นการทำรายจ่ายแบบขาดดุลมากที่สุด ด้วยการจัดสรรรายจ่ายให้กระจายไปสู่ประชาชนโดยตรงให้มาก หรือเพิ่มรายจ่ายด้านงานก่อสร้าง ด้านโยธาให้มากขึ้น มีเป้าหมายเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณมากกว่า 90% โดยเตรียมลดภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และกระทรวงการคลังให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% ที่จะครบกำหนดในเดือนก.ย.50 ออกไปอีก 1 ปี |
. |
"แม้รัฐบาลจะมีแนวคิดใช้มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มาตรการด้านภาษีสามารถใช้ได้อย่างจำกัด การลดภาษีในภาพรวมคงทำได้ยาก เพราะปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยอยู่แล้ว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงจะพิจารณาลดภาษีแบบเฉพาะเจาะจงในบางธุรกิจเท่านั้น เช่น ภาษีของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ การขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ก็ทำได้ลำบาก เพราะที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแต่ละแห่งจะรอบคอบรัดกุมมากขึ้น เนื่องจากมีธนาคารบางแห่งถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบ จะปล่อยสินเชื่อจึงต้องระมัดระวัง" นายสมหมาย กล่าว |
. |
อย่างไรก็ตามทางกระทรวงการคลังได้พยายามเจรจาให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบเร็วขึ้น ส่วนมาตรการทางการเงินโดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ จะมีส่วนช่วยในการปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น |
. |
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รักษาการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนมี.ค.50 ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 103,343 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,636 ล้านบาท หรือ 3.4% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3% โดยเป็นผลจากกรมสรรพากร กรมธนารักษ์ และรัฐวิสาหกิจจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 3,358 ล้านบาท 157 ล้านบาท และ 2,895 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่ำกว่าประมาณการ 2,868 ล้านบาท เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ |
. |
สำหรับ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 50 (ต.ค.49-มี.ค.50) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 608,396 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,034 ล้านบาท หรือ 0.3% เป็นผลจากการคืนภาษีของกรมสรรพากร 89,429 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,780 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,968 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 432,325 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,813 ล้านบาท โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,594 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 50 นี้ อาจจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเอกสารงบประมาณ จำนวน 1.42 ล้านล้านบาท เล็กน้อย |
. |
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ประจำเดือนมี.ค.50 เบิกจ่ายเงินไปแล้ว 127,872.18 ล้านบาท หรือ 8.16% ของวงเงินงบประมาณจำนวน 1,566,200 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.1% ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 50 เบิกจ่ายเงินไปแล้ว 664,082.14 ล้านบาท หรือ 42.40% ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าปีก่อน 4.11% และต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย 0.06% |
. |
ที่มา : ข่าวสด |