หลายคนที่กำลังมองหารถคันแรก หรือรถคนใหม่ อาจต้องปวดหัวกับการหาข้อมูลทั้งเรื่องสเปครถ และแหล่งเงิน สำคัญอย่างยิ่งคือ เงิน ต้องศึกษาให้รอบคอบ
หลายคนที่กำลังมองหารถคันแรก หรือรถคนใหม่ อาจต้องใช้เวลาหาข้อมูลทั้งเรื่องสเปครถ และสำคัญอย่างยิ่งคือ เงิน ต้องศึกษาให้รอบคอบ
การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางคนเดินทางทุกวันเพื่อไปทำงาน ไปเรียน หรืออาจเดินทางเพื่อติดต่องาน นัดสังสรรค์ หรือไปต่างจังหวัด บางครั้งเดินทางใกล้ บางครั้งอาจต้องเดินทางไกลๆ การมีรถไว้ใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จึงสะดวกต่อการเดินทาง สามารถกำหนดเส้นทางและเวลาได้ ตอบโจทย์ความต้องการและกลายเป็นปัจจัยที่ห้าโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำ
ยิ่งในขณะนี้นับเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่มีความจำเป็นในการใช้รถยนต์ เพราะรัฐบาลมีมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกสำหรับผู้ที่จองซื้อรถตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 และทำสัญญาซื้อขายรถภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้อรถส่วนตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้จะมีประโยชน์แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ก็จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าจากประโยชน์ใช้สอยและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา และค่าเบี้ยประกัน และหากผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้บริการสินเชื่อยานยนต์ ก็ควรต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการสินเชื่อ
ในปัจจุบันการแข่งขันของผู้ประกอบการทำให้มีทางเลือกด้านสินเชื่อและ บริการหลังการขาย ประกันภัย ซึ่งบางแห่งมีการอำนวยความสะดวกแบบวันสต็อปเซอร์วิส หรือมีเครือข่ายกิจการที่ครอบคลุมพื้นที่ รองรับความต้องการได้อย่างครบครัน
เอาล่ะ ในเมื่อจะมองหารถไว้ใช้สักคัน มาเริ่มนับหนึ่งกันเลย
1. เลือกรถให้ได้ก่อน
จะซื้อรถ ก็ต้องเลือกรถที่ถูกใจให้ได้ก่อน อาจมีตัวเลือก 2-3 คันเพื่อเปรียบเทียบ เช่น เปรียบเทียบประโยชน์ใช้สอย เช่น ต้องการรถไว้ใช้ในเมืองหรือนอกเมืองเป็นส่วนใหญ่ หรือต้องการแบบเอนกประสงค์สำหรับทั้งในและนอกเมือง ต้องการรถสำหรับครอบครัวหรือสำหรับคนโสดที่ต้องการความคล่องตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งค่ารถ ค่าโอน ค่าประกัน พ.ร.บ. รวมทั้งค่าบำรุงรักษา ทั้งนี้เพื่อให้ทราบต้นทุนโดยรวม และประเมินได้ว่า จะซื้อรถรุ่นใด ปีใด มือหนึ่งหรือมือสอง จะซื้อรถบ้านหรือรถจากเต๊นท์ เป็นต้น หากสามารถหาข้อมูลเปรียบเทียบจากหลายๆ แหล่งได้ ก็จะประเมินราคากลางที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งควรไปตรวจสอบสภาพรถด้วยตนเอง และทดลองขับด้วย
2. เงินไม่พอ ขอสินเชื่อช่วย
เมื่อเล็งรถที่ถูกใจได้แล้ว แต่เงินเก็บไม่พอหรืออยากจะกันเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แผนการซื้อรถก็ยังเป็นไปได้ เพียงมองหาสินเชื่อรถไม่ว่ารถนั้นจะเป็นรถใหม่หรือรถมือสอง การขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน มีโปรแกรมที่สามารถเลือกให้เหมาะกับรายได้ ยอดเงินดาวน์ อัตราดอกเบี้ย หรือค่างวดที่สามารถผ่อนได้ในแต่ละเดือน
โดยลูกค้าควรมีภาระค่างวดพร้อมดอกเบี้ยในแต่ละเดือนไม่เกินครึ่งหนึ่งของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่หนักจนเกินไป เช่น ลูกค้ามีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 20,000 บาท/เดือน ซื้อรถยนต์ราคา 600,000 บาท มีเงินดาวน์ 20% หรือ 120,000 บาท ที่เหลือขอสินเชื่อจำนวน 480,000 บาท ระยะเวลาผ่อน 60 งวด ค่างวดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่ากับ 10,000 บาท/เดือน เป็นต้น หากยอดสินเชื่อสูงเกินกำลัง ก็ควรมองหารถยนต์ที่ราคาถูกลงมา หรือไม่ก็เลือกหาโปรแกรมสินเชื่อแบบดาวน์น้อย ผ่อนนานก็อาจจะเหมาะกว่า
3. เลือกไฟแนนซ์ไหนดี
ตอนนี้ รถพร้อม เงินดาวน์พร้อม ค่าผ่อนรถในอนาคตก็ประเมินไว้พร้อม ขั้นต่อไปก็ติดต่อบริษัทสินเชื่อหรือไฟแนนซ์กันเลยดีกว่า แล้วจะเลือกไฟแนนซ์ไหนดี? ก็ต้องหาข้อมูลก่อนเหมือนกับการหาข้อมูลรถเช่นกัน ไม่ว่าจะค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนบริการหลังการขาย ทั้งจากการสอบถามจากญาติสนิทมิตรสหาย หรือจะติดต่อธนาคารที่เรามีธุรกรรมอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้ให้บริการสินเชื่อยานยนต์มีหลายแห่ง และบางแห่งก็ให้บริการตลอด 7 วัน ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปปรึกษาได้เมื่อต้องการ
บางครั้งคุณอาจไม่ต้องเดินไปหาสถาบันการเงินด้วยซ้ำ เพราะสถาบันการเงินหลายแห่งมีทั้ง Call Center และเว็บไซต์ และสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อยานยนต์บางแห่งก็มีสาขาตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็ประหยัดเวลาและมีความสะดวกสบายในการใช้บริการ
ใช้เอกสารอะไรบ้าง? สิ่งสำคัญคือ เอกสารทางการเงิน ได้แก่ เอกสารรับรองรายได้ ในรูปจดหมายหรือสลิปเงินเดือน รวมทั้งรายการสมุดบัญชีย้อนหลัง ซึ่งหากเป็นบัญชีเงินเดือนที่มีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ ก็จะยิ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางเครดิต และที่ขาดไม่ได้คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อยืนยันตัวตนและแหล่งที่อยู่ของเรานั่นเอง
4. รถพร้อม เงินพร้อม ก็รับรถไปสบายๆ
เมื่อตกลงจะผ่อนรถกับบริษัทใดแล้ว อย่าลืมเตรียมค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากเงินดาวน์งวดแรกไว้ด้วย เช่น ค่าโอนรถ ค่าอากรแสตมป์ ค่าทำประกันภัย ค่าภาษีรถยนต์ เป็นต้น เมื่อผ่านงวดแรกไปแล้ว จึงจะทยอยผ่อนจ่ายค่ารถเท่าๆ กันทุกเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว โอนรถแล้ว บริษัทไฟแนนซ์จะเก็บสมุดทะเบียนรถตัวจริงไว้ (เพราะเรายังผ่อนรถไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของตัวจริง) และมอบสำเนาให้เราเก็บไว้ เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานต่างๆ เช่น การเคลมประกัน หรือใช้เป็นหลักฐานยืนยันการเป็นเจ้าของรถ เป็นต้น
5. บริการหลังการขาย ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น
ในที่สุดก็มีรถส่วนตัวมาใช้งานแล้ว ก็ใช้ไป ผ่อนไปได้ โดยยังมีเงินส่วนเกินจากค่าผ่อนรถรายเดือนมาใช้จ่ายในด้านอื่น และหากบริษัทใดมีบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ประกันภัย เครือข่ายการซ่อมบำรุง ส่วนลด โปรโมชั่นจากธุรกิจพันธมิตร ก็ยิ่งสะดวกกับเรามากขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป ความไม่แน่นอนอาจเกิดขึ้นได้ อาจมีบางจังหวะที่ไม่สามารถบริหารเงินให้พอกับค่าผ่อนรถ หรือจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ฉุกเฉิน จะทำอย่างไรดี? ในเมื่อเรามีรถเป็นทรัพย์สินแล้ว รถจึงมีประโยชน์ในการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมได้ด้วย โดยสามารถนำรถไปเป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อหรือวงเงินนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็นได้ ซึ่งอาจติดต่อบริษัทไฟแนนซ์เดิม หรือที่อื่นที่ให้เงื่อนไขเหมาะสมในแง่ดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน)