บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เผยผลประโยชน์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมรถยนต์ภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ทำให้อัตราภาษีนำเข้าเหล็กและชิ้นส่วนยานยนต์แบบ OEM ลดลง เป็นผลดีต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์
บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เผยผลประโยชน์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมรถยนต์ภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ทำให้อัตราภาษีนำเข้าเหล็กและชิ้นส่วนยานยนต์แบบ OEM ลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ที่จะมีต้นทุนการผลิตต่ำลง |
. |
บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมรถยนต์ภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยระบุว่า ภายใต้ข้อตกลง Japan-Thailand Economic Partnership Agreement (JTEPA) ดังกล่าวจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าเหล็กและชิ้นส่วนยานยนต์แบบ OEM ลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ที่จะมีต้นทุนการผลิตต่ำลง |
. |
"ภัทร" ชี้ว่าการส่งออก อุตฯรถยนต์ของไทยยังจะมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะยาว โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะได้รับประโยชน์แบบอ้อมๆ จากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มาจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาสู่อุตฯรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะได้รับคำสั่งผลิตมากขึ้น และเข้าไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น บริษัทอาปิโก้จะสามารถผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ของโตชิบาได้ นอกเหนือจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบ OEM |
. |
นอกจากนี้ในฐานะผู้ผลิตรถปิกอัพรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ต้นทุนการผลิตที่ลดลงน่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนให้กับผู้ผลิตไทย ซึ่งจะช่วยให้เจาะตลาดส่งออกใหม่ ๆ ได้ อาทิ ตลาดยุโรป และจากจำนวนการส่งออกรถปิกอัพที่จะเพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลให้บริษัท อาปิโก้และบริษัทสมบูรณ์ แอดวานซ์ เทคโนโลยีได้รับประโยชน์แบบอ้อม ๆ เนื่องจากสินค้าหลักที่ผลิตอยู่เป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในรถปิกอัพ |
.. |
ภัทรคาดว่าผลประโยชน์ในระยะสั้นที่จะเกิดกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อาจจะมาจากต้นทุนที่ลดลงจากการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กที่ไม่สามารถผลิตในได้ อาทิ เหล็กรีดร้อน เหล็กแท่งกลม และเหล็กแผ่นบาง ที่จะได้ลดภาษีจาก 1-20% เหลือ 0% |
. |
แต่ผลประโยชน์จากภาษีที่ลดลงอาจจะมีเฉพาะในระยะสั้น เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้ผลิตรถยนต์มักจะให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าที่ได้รับการรับรอง และมักจะตรวจสอบราคาการซื้อสินค้าเป็นรายไตรมาสอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้มากที่ผู้ผลิตรถยนต์จะเรียกร้องให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนลดราคาสินค้าลง เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้จากภาษีที่ลดลง |
. |
รายงานของภัทรยังระบุด้วยว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในส่วนของซัพพลายเออร์มากขึ้น โดยจะมีการร่วมทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะ JTEPA จะทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถหาทำเลใหม่ๆ ในไทยเพื่อตั้งโรงงานได้ แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์รายเล็กๆ ของไทย |
. |
"เราคาดว่าจะได้เห็นการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตไทยกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งในด้านเทคนิคในการผลิต รวมถึงเพิ่มการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ได้มากขึ้น" |
. |
แต่ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยดึงให้ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทยมากขึ้น และจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากผู้เล่นรายเล็ก จะมีเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 (Tier-1) หรือบริษัทที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ได้จากคู่แข่งจากญี่ปุ่น อาทิ อาปิโก ไฮเทค, สมบูรณ์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี, ยานภัณฑ์ และไทย สแตนเลย์ อิเล็กทริก "เราคาดว่าจะเห็นซัพพลายเออร์ท้องถิ่นยอมรับการร่วมทุนกับผู้ผลิตจากญี่ปุ่น เพื่อจะรักษาสัดส่วนการตลาดในอนาคตเอาไว้" |
. |
อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่นำเข้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยได้ เนื่องจากการลดภาษีลง แต่ผลกระทบที่จะมีต่อซัพพลายเออร์รายหลักๆ จะไม่มากนัก เพราะเชื่อว่าชิ้นส่วนที่นำเข้าจะไม่สามารถแทนที่ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศได้ เนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นนั้น ผู้ผลิตจะต้องมีภาระเกี่ยวกับพื้นที่เก็บสินค้าและมีความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเกี่ยวกับต้นทุนการขนส่งสินค้า |
. |
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |