เนื้อหาวันที่ : 2007-04-10 09:46:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1038 views

รัฐไร้น้ำยาปั๊ม ศก. ลุยตัวช่วยสุดท้าย แจกรากหญ้า-บี้รัฐเร่งเบิกจ่าย

เสียงที่บ่นดังขึ้น ๆ ของภาคเอกชน และการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ปรับลดจีดีพีปีนี้ลง ทั้งๆ ที่เพิ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เพียง 3 เดือน บ่งบอกสัญญาณได้ชัดเจน เราจึงได้เห็นรัฐบาล "พอเพียง" พึ่งตื่นตัวหามาตรการกระตุ้นดีมานด์ในประเทศในทุก ๆ ด้าน สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้น "ประชานิยม" สูตรทักษิโณมิกส์ อีกแล้ว

เสียงที่บ่นดังขึ้น ๆ ของภาคเอกชน  และการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ปรับลดจีดีพีปีนี้ลง ทั้งๆ ที่เพิ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เพียง 3 เดือน บ่งบอกสัญญาณได้ชัดเจน เราจึงได้เห็นรัฐบาลตื่นตัวหามาตรการกระตุ้นดีมานด์ในประเทศในทุก ๆ ด้าน

.

จะว่าไปแล้วเศรษฐกิจถอยหลังตั้งแต่ต้น ปี 2549 ปัจจุบันยังคงชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ จนออกอาการน่าเป็นห่วง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 42.9% (เกณฑ์ 50%) เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคหล่นมาอยู่ที่ 79% ยิ่งถ้าดูดัชนีที่ชี้วัดเศรษฐกิจจริงๆ ก็สอดรับกันตั้งแต่อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม จาก 76.3% ในเดือนก่อนลงมาอยู่ที่ 73.5% ด้านดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ยิ่งสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวเพียง2.7% (เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน)

.

ใช้เครื่องมือกระตุ้นรากหญ้า

มาตรการที่ที่ปรึกษาของนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมกันจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเลือกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เข้าไปช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อ และให้เน้นในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อด้วย ควบคู่กันไปก็จัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับภาระการคลังในปัจจุบันและอนาคตแจกแจงให้สาธารณชนทราบด้วย

.

ขณะเดียวกันเล็งเห็นว่ายอดการปล่อยสินเชื่อของภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงไปมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ เพราะรอดอกเบี้ยลดลงก่อนถึงจะเข้าไปซื้อ และอีกส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ได้สั่งการให้ทีมงานที่ปรึกษาไปศึกษาอย่างละเอียดเพื่อที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป

.

แบงก์รัฐรับลูก

ในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. เสนอที่จะจัดทำ "โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนในระดับฐานราก" ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดย อปท.อาจจะไปหาที่ดินที่อยู่ในความครอบครองอยู่แล้ว หรืออาจจะไปซื้อมาจากเอกชน เพื่อมาทำที่อยู่อาศัยและ ธอส.จะเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้กับประชาชน นอกจากนี้ทีมงานที่ปรึกษาได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปศึกษาแผนการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ, ค่าธรรมเนียมการโอนและอากรแสตมป์มา สนับสนุนด้วย

.

ในส่วนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทยจะมีการจัดทำโครงการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับลูกค้าชั้นดีของธนาคาร สำหรับลูกค้าของธนาคารที่มีผลประกอบการดี มีกำไรติดต่อกัน 3 ปี มีหนี้สินต่อทุนต่ำ และเป็นธุรกิจ SMEs ที่มีอนาคตสดใส โครงการนี้ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ลบ 0.5-1% ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ลำดับเครดิตเรตติ้งของบริษัท

.

เฉพาะโครงการนี้ ธพว.ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะขยายสินเชื่อไว้ 3,000 ล้านบาท คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนอีกโครงการจะเป็นโครงการลดอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกค้า SMEs ลูกค้าเก่าของธนาคาร หากมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จะลดอัตราดอกเบี้ยให้อีก 1%

.

ธนาคารออมสินให้ไปทำแผนการปล่อยสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ร่วมกับ ธพว. ในอัตรา ดอกเบี้ยพิเศษ และ ธ.ก.ส.มีโครงการรับจ้างปลูกป่าเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งรายละเอียดของมาตรการทั้งหมดทางทีมงานที่ปรึกษาจะต้องเร่งศึกษาในรายละเอียดให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

.

บี้รัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีการหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 17 แห่ง เพื่อกำหนดแนวทางในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนประมาณ 354,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการเบิกจ่ายไปประมาณ 50,000 ล้านบาท ตน ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ เร่งเบิกจ่ายงบฯลงทุนโดยเร็ว ซึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้เบิกจ่ายให้ได้ 85%

.

ในส่วนของการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของส่วนราชการ ก่อนหน้านี้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการ ได้เรียกหน่วยงานที่มีงบฯลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท มาหารือถึงปัญหาอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการ ทำให้ได้ตามเป้าหมาย 92% ของวงเงิน งบประมาณ รายจ่ายในปีนี้

.

นอกจากนี้ทางรัฐบาลได้มีการจัดงบประมาณพิเศษวงเงิน 5,000 ล้านบาท อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในระบบฐานราก ตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข นอกจากนี้นายโฆสิตเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า จะเร่งแก้ปัญหามลพิษในนิคมมาบตาพุดให้เร็ว เพราะมีโครงการเอกชนที่รอการลงทุนอยู่ประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท

.
กดดันลดดอกเบี้ย 1.5-2.0%

ขณะที่กระแสกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีกอย่างน้อย 1.5-2.0% จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25% โดยเล็งเห็นว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องเงินทุนไหลเข้าจะได้ชะลอลง รวมทั้งจะช่วยลดภาระหนี้ให้ทั้งภาค ธุรกิจและครัวเรือน และเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

.

ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 11เมษายนนี้ หาก ธปท.จะลดดอกเบี้ยลง 0.50% ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายของตลาด และคาดกันว่าจะลดอีก 0.25-0.50% ในวันที่ 23 พฤษภาคม

.

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทยแห่งธนาคารโลก กล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่า ปีนี้จะลดลงประมาณ 2% อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การลดดอกเบี้ยจะไม่มีผลด้านกระตุ้นการลงทุนมากนัก เพราะปัจจัยลบการลงทุนขณะนี้ คือความเชื่อมั่นของนักลงทุน

.

"ตอนนี้ลดดอกเบี้ยไปถึง 3% นักลงทุนก็ยัง ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะเขาไม่มีความแน่ใจในสถานการณ์ขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบเข้ามาทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน แค่เพียงรัฐบาลออกมา บอกว่า มีแผนที่จะเปิดเสรีบริการบางตัว ความมั่นใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็จะดีขึ้น" ดร.กิริฎากล่าว

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ