เนื้อหาวันที่ : 2007-04-09 18:36:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1847 views

UN เตือน "โลกถึงจุดเปลี่ยน" Climate Change ป่วนชีวิต-เศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญ 285 รายจาก 124 ประเทศ พร้อมนักวิทยาศาสตร์กว่า 50 คน รายงานภาวะโลกร้อน ต่อองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

ผู้เชี่ยวชาญ 285 รายจาก 124 ประเทศ พร้อมนักวิทยาศาสตร์กว่า 50 คน ได้ร่วมกันจัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อนำเสนอในระหว่างการประชุมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IPCC ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 6 เมษายน 2550

.

การประเมินครั้งล่าสุดของยูเอ็นตอกย้ำว่า "มนุษย์" เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทั้งฤดูกาลที่จะยาวนานขึ้น และการละลายของ น้ำแข็งที่เพิ่มขึ้น

.

"นิวยอร์ก ไทม์ส" นำเสนอเนื้อหาโดยสรุป ของร่างรายงานฉบับนี้ ซึ่งได้รับมาจากแหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการจัดทำ โดยรายงานฉบับนี้เป็น รายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานที่ยูเอ็นได้เผยแพร่ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประเมินผลครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ยุค 90

.

รายงานฉบับนี้ระบุว่า มีโอกาสอย่างน้อย 90% ที่โลกจะเผชิญกับอากาศร้อนมากสุดนับตั้งแต่ ปี 2493 เป็นต้นมา ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซเรือนกระจกหลัก ๆ ที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ยังไม่นับรวมก๊าซอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ เชื้อเพลิงฟอสซิลและป่าไม้

.

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังอธิบายถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะเกิดต่อคน และระบบนิเวศวิทยา รวมถึงแยกแยะชนิดของสิ่งมีชีวิตและภูมิภาคที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงของโลก

.

น่าสนใจว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นนี้ นอกเหนือจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ก็มี บางส่วนที่ได้รับประโยชน์ด้วยเหมือนกัน แต่ในที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นับเป็นอันตรายในระยะยาวที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยง ได้พ้น

.

รายงานดังกล่าวชี้ว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่มีส่วนเปลี่ยนระบบนิเวศวิทยา รูปแบบของสภาพอากาศ มหาสมุทร และพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็ง ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลย้อนกลับมากระทบต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์ภายในไม่เกิน 1 ศตวรรษข้างหน้า

.

โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้คนล้มตาย เจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากคลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ไฟไหม้ และความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากความหนาวเย็นลดลง

.

จากการสังเกตด้วยภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80 เป็นต้นมา เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า มีแนวโน้มที่หลายๆ ภูมิภาคจะมีต้นไม้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิมากขึ้น และมีผลผลิตทางการเกษตร แบบปฐมภูมิมากขึ้น เนื่องจากฤดูของการเติบโตของต้นไม้ยาวนานขึ้น และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของต้นไม้เพิ่มขึ้น ทว่าอุณหภูมิในพื้นที่หนาวเย็นที่สูงขึ้นก็ส่งผล ที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรจะกลายเป็นผลดีต่อการทำการเกษตร แต่ขณะเดียวกันสภาวะเช่นนี้ก็เป็นผลดีต่อการเติบโตของวัชพืช แมลงศัตรูพืช และการเกิดอัคคีภัยที่จะทำให้ป่าไม้ตกอยู่ในอันตราย

.

ในระยะยาว ภูมิภาคต่างๆ ของโลกส่วนใหญ่จะตกอยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะภัยแล้ง พายุฝน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่อยู่ตามแถบพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกาะที่อยู่ระดับต่ำ หลายๆ ภูมิภาคของโลกจะตกอยู่ในสภาพไม่มั่นคงเกี่ยวกับสภาพอากาศและความเปลี่ยนแปลงแถบชายฝั่ง ซึ่งเกิดจากผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยากจนที่จะตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมีศักยภาพจำกัดในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประกอบกับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ทั้งในเรื่องน้ำดื่ม และการผลิตอาหาร

.

"อาชิม สไตเนอร์" เจ้าหน้าที่ยูเอ็นที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการพัฒนาหลายๆ โครงการในโลกจำเป็นต้องนำเรื่องอันตรายจากสภาพอากาศเข้าไปจัดการด้วย ดังจะเห็นได้จากเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่ลงทุนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคในประเทศกำลังพัฒนาเพียงอย่างเดียวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งความท้าทายคือ จะต้องทำให้แน่ใจว่า ความเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะถูกนับรวมอยู่ในการตัดสินใจลงทุนด้วย ซึ่งจะทำให้การสร้างถนน ทางรถไฟ หรือโรงงานไฟฟ้าต้องนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาประกอบการตัดสินใจด้วย

.

ขณะที่ "โกลบแอนด์เมล์" เผยแพร่รายงานเรื่อง "ใครได้ ใครเสียจากภาวะโลกร้อน" ว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อเศรษฐกิจของอเมริกาเหนือ และยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าใดก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย จากรายงานในส่วนของภูมิภาคอเมริกาเหนือที่มี 67 หน้า ระบุว่า ภาคการเกษตรของแคนาดา รวมถึงประมงและป่าไม้ จะเป็นอุตสาหกรรม ด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ผลกระทบทางกายภาพจากโลกร้อนยังจะส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น สาธารณูปโภคและพลังงาน ท่องเที่ยว บริการการเงิน การขนส่ง การดูแลสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์ด้วย

.

"ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะยิ่งทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งต้นทุนในแต่ละปีของอเมริกาเหนือที่ต้องเสียไปกับความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงความสามารถในการผลิต และชีวิตของผู้คน คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์"

.

สำหรับแคนาดานั้น ผลกระทบหลักๆ จะเกิดจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ทะเลสาบเกรท เลก จะมีระดับน้ำลดลง ฤดูหนาวจะสั้นลง ดินเย็นตลอดกาล (permafrost) จะหนาขึ้น และอุณหภูมิจะร้อนขึ้นด้วย แม้ความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ฤดูทำการเกษตรยาวนานขึ้น แต่ก็ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำให้ผลผลิตออกมาได้ดี ยิ่งกว่านั้น ป่าไม้ และต้นไม้ยังเสี่ยง ที่จะถูกคุกคามจากแมลง โรค และไฟป่าเพิ่มขึ้น

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ