สกพ.ลงพื้นที่สังเกตการณ์เวทีประชาคมเลือกผู้แทนหมู่บ้าน เป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าราชบุรี เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนด้วยความโปร่งใสและตรงความกับต้องการชุมชน
สกพ.ลงพื้นที่สังเกตการณ์เวทีประชาคมเลือกผู้แทนหมู่บ้าน เป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าราชบุรี เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนด้วยความโปร่งใสและตรงความกับต้องการชุมชน
สกพ. ร่วมสังเกตการณ์เวทีประชาคมเลือกผู้แทนหมู่บ้าน เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี เผยมียอดเงินเข้ากองทุนจังหวัดราชบุรีกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยเวทีประชาคมบางหมู่บ้านคึกคักเข้มข้นยิ่งกว่าเลือกตั้งเวทีใหญ่
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวภายหลังจากเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกผู้แทนระดับหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดราชบุรีว่า “ขณะนี้ สกพ. ได้ประกาศพื้นที่ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแล้ว 145 กองทุน ซึ่งคาดว่าจะมีเงินนำส่งเข้ากองทุนปีละกว่า 2,000 ล้านบาททั่วประเทศ
ขณะนี้ สกพ. ได้เร่งดำเนินการเลือกผู้แทนระดับหมู่บ้านโดยต้องจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่งเพื่อให้ได้ผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็น คพรฟ. ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรีมีกำลังการผลิตสูงโดยจะมีเงินกองทุนกว่า 200 ล้านบาทต่อปี จึงจัดเป็นกองทุนประเภท ก ซึ่งมีพื้นที่ประกาศในรัศมี 5 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ใน 4 อำเภอ 9 ตำบล 84 หมู่บ้าน
ขณะนี้ได้มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อคัดเลือกตัวแทนระดับหมู่บ้านไปแล้วกว่า 70 หมู่บ้านและคาดว่าภายในกลางเดือนกันยายน 2554 นี้จะสามารถคัดเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ครบถ้วนทั้ง 84 หมู่บ้าน เพื่อดำเนินการสรรหาผู้แทนในระดับตำบลเข้าร่วมเป็น คพรฟ. ภาคประชาชนต่อไป โดยผู้แทนหมู่บ้านทุกหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้าราชบุรีนี้จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของ คพรฟ. อีกด้วย”
นางสาวนฤภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากได้รายชื่อผู้แทนภาคประชาชนและผู้แทนภาครัฐจากกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และ สกพ. แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนนำเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาทุกภาคส่วนเสนอต่อ กกพ. เพื่อประกาศแต่งตั้ง คพรฟ. ต่อไป โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดราชบุรีจะมี คพรฟ. รวมทั้งหมด 27 คน แบ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน 19 คน คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 และมีผู้แทนภาครัฐ 6 คนและผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน
นายสัมพันธ์ เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการสำนักงานประจำเขต 10 (ราชบุรี) ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 6 จังหวัดได้แก่ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม ชุมพร เพชรบุรี และระนอง เปิดเผยว่า “การสรรหา คพรฟ. โรงไฟฟ้าราชบุรีนั้น หลังจากประกาศพื้นที่ทั้ง 84 หมู่บ้านและได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำการคัดเลือกผู้แทนหมู่บ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
พบว่าประชาชนในจังหวัดราชบุรีตื่นตัวในการเข้าร่วมการสมัครและคัดเลือกผู้แทนหมู่บ้านเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารเงินกองทุนเพื่อสร้างความโปร่งใสและตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เช่น ในหมู่ 3 ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม มีประชาชนเข้าร่วมการประชาคมกว่า 600 คน และในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดราชบุรี ก็มีการตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยบางเวทีมีผู้เข้าร่วมมากกว่าการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเสียอีก”
อนึ่ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าราชบุรี จะประกอบด้วย โรงไฟฟ้า 2 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 4,881 เมกะวัตต์ คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,481 เมกะวัตต์ และบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติ โดยหลักเกณฑ์กำหนดให้นำส่งเงินเข้ากองทุนตามประเภทเชื้อเพลิงคือ 1 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ยอดเงินส่งเข้ากองทุนสูงกว่า 200 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งการเลือกผู้แทนหมู่บ้านในครั้งนี้คึกคักและเข้มข้นเนื่องจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้ให้ความสำคัญในการนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน เช่น ด้านคมนาคม ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีด้านสาธารณสุข การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมอาชีพหรือพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งการให้ความสนใจของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง