เนื้อหาวันที่ : 2011-09-12 10:15:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1095 views

คลังดึงธนาคารรัฐให้ความรู้บริหารหนี้แก่ประชาชน

สำนักข่าวไทย เปิดเผย ธีระชัย โพสเฟสบุ๊กชู 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เตรียมถึงแบงก์รัฐร่วมตั้งโต๊ะให้ความรู้และบริหารหนี้นอกระบบแก่ประชาชน

      สำนักข่าวไทย เปิดเผย ธีระชัย โพสเฟสบุ๊กชู 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เตรียมถึงแบงก์รัฐร่วมตั้งโต๊ะให้ความรู้และบริหารหนี้นอกระบบแก่ประชาชน

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (8 ก.ย.) เวลา 15.44 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์บนเฟสบุ๊กถึงแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบและการปราบปรามนายทุนนอกระบบ ว่า สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ประกาศไว้ว่าการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก

       ทั้งนี้ มีแนวนโยบายหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเงินทุนและหนี้สินของประชาชน 3 ด้าน คือ การพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มเงินทุนในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท และการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ซึ่งทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้นและลด การกู้เงินจากเงินทุนนอกระบบได้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้จัดตั้งโครงการธนาคารประชาชนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อกับผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนธนาคารออมสินในการดำเนินโครงการต่อไป

       ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการกู้เงินนอกระบบ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการกู้เงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด จะมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดโครงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เพื่อป้องกันการถูกหลอกโดยเจ้าหนี้เงินกู้ และจะให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีเคาน์เตอร์พิเศษเพื่อให้ความรู้และบริการที่ทั่วถึงกับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

      ส่วนกรณีปัญหาเจ้าหนี้นอกระบบส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นลูกหนี้ 2 เรื่อง คือ การเรียกดอกเบี้ย ในอัตราที่สูงและการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมนั้น กรณีการเรียกดอกเบี้ย เป็นกรณีโทษอาญา ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท

       กรณีทางคดีแพ่ง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กรณีการตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 กฎหมายกำหนดให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 15 แต่กรณีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรามีความผิดอาญาตามพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น จึงใช้บังคับไม่ได้โดยถือเป็นโมฆะซึ่งเจ้าหนี้จะไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้เลย

ส่วนกรณีการทวงถามหนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายอาญาที่สามารถปรับใช้กับการติดตามทวงถามหนี้ได้ในบางกรณี ได้แก่ มาตรา 309 ของประมวลกฎหมายอาญากรณีมีการข่มขู่ลูกหนี้ หรือมาตรา 295 ของประมวลกฎหมายอาญากรณีมีการทำร้ายร่างกายลูกหนี้ ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว  

      นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. .... เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการทวงหนี้ที่ใช้วิธีการรุนแรงทั้งการประจานและการข่มขู่ลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำเสนอ ครม.