ก.อุตฯ จับมือ สวทช.และ 2 มหาวิทยาชั้นนำ โชว์ความสำเร็จโครงการเตาอบยางแผ่นรมควันประหยัดพลังงาน เตรียมนำร่องใน 5 จังหวัดภาคใต้
ก.อุตฯ จับมือ สวทช.และ 2 มหาวิทยาชั้นนำ โชว์ความสำเร็จโครงการเตาอบยางแผ่นรมควันประหยัดพลังงาน เตรียมนำร่องใน 5 จังหวัดภาคใต้
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยาง เปิดผลสำเร็จโครงการ “เตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน” ช่วยลดต้นทุน แก้ปัญหาโรงงานแปรรูปไม้ยางปล่อยควันดำเบ็ดเสร็จ
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เดินหน้า โครงการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการขยายผลในการสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม จำนวน 32 เตา ภายในระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2553-2555) ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยด้วยงบประมาณกว่า 11 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 นำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ สุราษฏร์ธานี,ชุมพร,นครศรีธรรมราช และพัทลุง เป็นการสนับสนุนศักยภาพการผลิตยางพาราของไทย ซึ่งเตาอบยางแผ่นรมควันที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถลดต้นทุนไม้ฟืนลงได้มากกว่า 40% ระยะเวลาในการอบยางสั้นลงจาก 4วันเหลือ 3วัน ปริมาณยางเสียลดลง 100% เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสามารถดึงควันกลับเข้าไปใช้ได้อีก และทำให้ยางมีคุณภาพดียิ่งขึ้น และปัญหาการร้องเรียนในพื้นที่เรื่องโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราปล่อยกลิ่นเหม็นเสียงดังควันดำได้หมดไป เมื่อใช้เตาแบบใหม่แทนระบบเดิมที่มีปัญหาการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาในด้านสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุน
การดำเนินงานดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นและมีศักยภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยาง ใน 2 ด้าน ได้แก่ 1.การให้ความสำคัญกับทักษะฝีมือแรงงาน 2.การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราอย่าง “ครบวงจร” ตั้งแต่วิธีกรีดยางไปจนถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม และกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป
“หากรัฐบาลจะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปในประเทศ เพราะไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1 ล้านครอบครัว และมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 16.8 ล้านบาท จึงไม่มีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบที่จะป้อนให้กับโรงงาน และได้เน้นเรื่องการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การผลิตมีคุณภาพ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะดำเนินการภายใต้สถาบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราเป็นหลัก” ดร.วิฑูรย์ กล่าว