เนื้อหาวันที่ : 2007-04-09 15:21:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1894 views

บิ๊กซีควงเชลล์ ซื้อJETแข่งปตท. หวังยึด147 สาขาต่อยอดค้าปลีก

จับตาดีลซื้อปั๊มน้ำมันเจ็ท 147 แห่งทั่ว ปท.เดือด หลัง "เชลล์" ผนึก "บิ๊กซี" สู้กับ "ปตท." ทั้ง 2 ฝ่ายต่างว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด เผยเชลล์หลังพิงฝาเหลือแค่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเท่านั้น

จับตาดีลซื้อปั๊มน้ำมันเจ็ท 147 แห่งทั่ว ปท.เดือด หลัง "เชลล์" ผนึก "บิ๊กซี" สู้กับ "ปตท." ทั้ง 2 ฝ่ายต่างว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด เผยเชลล์หลังพิงฝาเพราะเหลือแค่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเท่านั้น ขณะที่บิ๊กซีก็หวังจะต่อยอดเพิ่มสาขาแบบก้าว กระโดดสู้กับคู่แข่ง ทั้งโลตัส เอ็กซ์เพรสในเอสโซ่ และ 7-ELEVEN ในปั๊ม ปตท.

.

การประกาศขายสถานีบริการน้ำมันเจ็ท (JET) ของบริษัทโคโนโค่ (ประเทศไทย) นอกจากจะเป็นที่หมายปองของบริษัทผู้ค้าน้ำมันในประเทศแล้ว ล่าสุดยังได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ การจับมือเป็น "พันธมิตร" ระหว่างโมเดิร์นเทรด "บิ๊กซี" กับ เชลล์ เข้าช่วงชิงสถานีบริการน้ำมันเจ็ทในครั้งนี้ด้วย

.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าปลีกค้าส่งถึงการแข่งขันกันเสนอราคาและเงื่อนไขประมูลสถานีบริการน้ำมันเจ็ท ทั้ง 147 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ที่ได้ "พันธมิตร" อย่างบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นแต้มต่อ แข่งขันกับบริษัท ปตท.ด้วย

.

จากการสอบถามกันอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าบริษัทโคโนโค่ (ประเทศไทย) จะประกาศผลผู้ชนะประมูลซื้อสถานีบริการน้ำมันเจ็ทได้เร็วๆ นี้ ทั้งฝ่าย ปตท.กับเชลล์ ต่างก็ตั้งความหวังถึงการเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ด้วยกันทั้งคู่ โดยฝ่ายเชลล์ค่อนข้างมั่นใจในพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วม หากชนะการประมูลก็จะสามารถขยายร้านสะดวกซื้อในรูปแบบของบิ๊กซี เข้าไปแทนที่ร้านสะดวกซื้อเดิม "Jiffy" ของเจ็ทในปัจจุบันได้ทันที

.

"ทางเชลล์ให้ความหวังกับการซื้อปั๊มเจ็ททั้ง 147 แห่งมาก เราเข้าใจว่ารูปแบบร้านสะดวกซื้อที่ให้บิ๊กซีเข้ามาช่วยในภายหลังน่าจะคล้ายกับโลตัส เอ็กซ์เพรส ในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เราจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาทางเชลล์ไม่มีการขยายสถานีบริการน้ำมันเลย หรือมีก็น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ ที่สำคัญบริษัทเชลล์ได้ขายโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยให้กับ ปตท.ไปแล้ว เท่ากับเชลล์เหลือเพียงธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

.

ฉะนั้นเราเชื่อว่าเชลล์ต้องหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีกมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ค่าการตลาดที่ต่ำมากในปัจจุบัน" ผู้คร่ำหวอดในวงการค้าปลีกค้าส่งให้ความเห็น

.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังนายธีรพจน์ วัชราภัย ประธาน บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ถึงกรณีของการแข่งขันเพื่อซื้อสถานีบริการน้ำมันเจ็ท ปรากฏนายธีรพจน์กล่าว ตอบแต่เพียงว่า "ผมไม่มีคอมเมนต์ คุณได้ข่าวมาได้อย่างไร"

.

ขณะที่คู่แข่งในการเสนอซื้อสถานีบริการน้ำมันเจ็ท อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นที่แน่นอนว่าต้องการที่จะซื้อสถานีบริการน้ำมันเจ็ทไว้ทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ในการเสนอราคารอบแรก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เข้าร่วมการแข่งขันกับบริษัทคู่ค้าน้ำมันหลายราย

.

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด, บริษัทปิโตรนาส มาเลเซีย รวมถึงบริษัทน้ำมันจากประเทศอินเดีย แต่สุดท้ายแล้วบริษัทโคโนโค่ (ประเทศไทย) ได้ตัดสินใจที่จะพิจารณาข้อเสนอของ 2 บริษัทที่เป็น "แคนดิเดต" ในขณะนี้คือ บริษัท ปตท. กับบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย เท่านั้น

.

มีรายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน แจ้งเข้ามาว่า จากข้อมูลล่าสุด ณ ธันวาคม 2549 มีสถานีบริการน้ำมันเจ็ทของบริษัท โคโนโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศทั้งหมด 147 แห่ง แบ่งเป็น ในจังหวัดกรุงเทพฯ จำนวน 22 แห่ง, ปริมณฑล 31 แห่ง, ภาคกลาง 18 แห่ง, ภาคเหนือรวม 10 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง, ภาคตะวันออก 34 แห่ง และภาคตะวันตกอีก 20 แห่ง

.

เมื่อพิจารณาจากสถิติของกรมธุรกิจพลังงาน จะพบว่าในช่วงปี 2549 นั้น บริษัทโคโนโค่ไม่มีการขยายสถานีบริการเมื่อเทียบกับผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ โดย "อาจจะ" มีเหตุผลจากการขาดทุนต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีการขยายสถานีบริการเจ็ทเพิ่มเพียง 1 แห่งในภาคตะวันออกเท่านั้น

.

สำหรับสาเหตุที่ บริษัท โคโนโค่ฯ ตัดสินใจขายธุรกิจในประเทศไทยทั้งในส่วนของสถานีบริหารน้ำมัน เจ็ท รวมถึง jiffy ธุรกิจร้านค้าปลีกภายในปั๊มน้ำมันทั้ง 147 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากนโยบายของบริษัทแม่ต้องการจะถอยไปลงทุนในประเทศอื่นแทน หลังจากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี แต่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนหรือทำกำไรจาก ปั๊ม เจ็ท และ jiffy ได้เสียที เนื่องจากธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง

.

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังผู้บริหารบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า นโยบายของบริษัทในการขยายสาขานั้นยังคงมองทุกทำเลและทุก ช่องทางที่เป็นไปได้

.

ดังนั้นในเรื่องของการขยายเข้าปั๊มน้ำมันนั้นถือว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจถ้ามีโอกาสและมีดิวที่ดีบริษัทก็จะพิจารณา "ถึงขณะนี้ยังไม่มีการดิวหรือจับมือกับใคร หากมีก็คงไม่ปิดกั้นโอกาสอย่างแน่นอน" นางสาวจริยากล่าว

.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ปัจจุบันบิ๊กซีมี 3 รูปแบบ คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต มีสาขาทั้งสิ้น 24 สาขา โดยในปีนี้มีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 4,500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขา 4 แห่ง ได้แก่ เกาะสมุย, ลำพูน, หางดง, เชียงใหม่ และชลบุรี นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบิ๊กซียังได้ทดลองเปิดสาขาเพื่อให้บริการในรูปของคอนวีเนี่ยนสโตร์ ภายใต้ชื่อ "ลีดเดอร์ไพรซ์" ปัจจุบันยังคงมี 5 สาขา คือ วงเวียนใหญ่, สุขุมวิท, เสนานิคม, นวนคร และประชาสงเคราะห์

.

ล่าสุดตั้งแต่กลางพฤษภาคมปีที่ผ่านมา บิ๊กซีได้ทดลองร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่เป็นคอนเซ็ปต์ผสมระหว่าง "มินิซูเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนี่ยนสโตร์" จำนวน 1 สาขาในย่านอุดมสุข มีพื้นที่ 200 ตารางเมตร ลงทุน 6-10 ล้านบาท มีสินค้า 2,600 เอสเคยู แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มฟู้ดประมาณ 70% และกลุ่มน็อนฟู้ด 30% ทั้งหมดนี้จะมีสินค้าเฮาส์แบรนด์ประมาณ 1,000 เอสเคยู คาดว่าต้องใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 6 เดือน-1 ปี ก่อนที่สรุปว่าจะขยายผลการดำเนินการอย่างไรต่อไป

.

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกรายหนึ่งแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า แม้ว่าบิ๊กซีจะเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีสาขาเต็มรูปแบบมากเป็นอันดับ 2 แต่หากเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า "บิ๊กซี" ยังมีสาขาตามหลังหรือน้อยกว่า "เทสโก้ โลตัส" อีกกว่า 1 เท่า หรือกล่าวคือ เทสโก้ โลตัส มีสาขาเต็มรูปแบบอยู่มากกว่า 60 สาขาทั่วประเทศ

.

ขณะเดียวกัน บิ๊กซีก็มีรูปแบบหรือโมเดลที่ใช้ในการขยายสาขาที่ไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับ เทสโก้ โลตัส ที่นอกจากรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ก็ยังมีรูปแบบย่อส่วนลงมา อาทิ คุ้มค่า หรือ value, รูปแบบตลาดโลตัส และคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่เรียกว่า โลตัส เอ็กซ์เพรส

.

"ดังนั้น หากบิ๊กซีสามารถขยายสาขาเข้าไปในร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันที่มีอยู่เดิม ไม่เพียงแต่ จะเป็นสิ่งที่ทำให้บิ๊กซีมีจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น เท่านั้น สาขาหรือร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มรายได้หรือยอดขายของบริษัทโดยรวม รวมถึงอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่มี มีมากขึ้นตามไปด้วย"

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ