เนื้อหาวันที่ : 2011-09-09 10:24:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1849 views

ทุบกำแพง ความท้าทาย AEC คว้าโอกาสทองสู่ อุตฯ ไทย

รัฐ-เอกชน คึกคักผนึกกำลังเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มองโอกาสทองอุตสาหกรรมไทยเติบโตท่ามกลางความท้าทาย

          รัฐ-เอกชน คึกคักผนึกกำลังเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มองโอกาสทองอุตสาหกรรมไทยเติบโตท่ามกลางความท้าทาย

          “OIE FORUM” เวทีสัมมนาวิชาการใหญ่ประจำปี โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นชุมนุมสุดยอดวิชาการภาคอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของเมืองไทย โดยปี 2554 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ชื่อ “AEC 2015 ความท้าทายและโอกาสอุตสาหกรรมไทย” ซึ่งได้รับความสนใจจากเหล่านักธุรกิจชั้นนำ ตลอดจนนักวิชาการทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เช่นทุกปี

          นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอย่างให้แง่คิด สำหรับการก้าวสู่ AEC ว่า “การเข้าสู่ AEC ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดี และไม่ประมาท ดังพุทธศาสนสุภาษิตบทที่ว่า “อปฺปมาเทน สฺมปาเทถ” ขอให้ทุกท่านจงบำเพ็ญให้ถึงซึ่งความไม่ประมาท ให้สมบูรณ์เถิด และร่ายยาวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก ไม่กี่ปีข้างหน้าว่า

          “ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) หรือที่เราเริ่มคุ้นชื่อนี้กันแล้วในนาม AEC จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนมีความมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มสมาชิกอาเซียนทุกประเทศรวมกันมีพื้นที่ประมาณ 4,435,570 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 590 ล้านคน และ GDP ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ รวมกันจะมีมูลค่ามากถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ASEAN+3 และ ASEAN+6 แล้ว ซึ่งประกอบด้วยประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยมีประชากรรวมกันกว่า 3 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก และมีมูลค่า GDP รวมกันกว่า 9.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของ GDP โลก

          ดังนั้น การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบูรณาการด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเป็นตลาดเดียว (Single Market) เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน การลงทุน โดยเสรี และสร้างฐานการผลิตเดียวกัน และเมื่อไทยมีความพร้อมและมีความเข้มแข็งก็จะสามารถไปแข่งขันกับต่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN+3 และ ASEAN+6 ได้”

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายถึงจุดเริ่มของการรวมกลุ่ม  เพื่อเกิดพลังวัตรในการขับเคลื่อนครั้งนี้ว่า  “อาเซียนเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ที่ได้มีการลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)” เพื่อจัดตั้งสมาคมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของประเทศต่างๆ ที่เรียกว่า “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “อาเซียน” 

โดยมีสมาชิกเริ่มต้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และต่อมา บรูไน ก็ได้เข้าร่วมหลังจากนั้นไม่นาน รวมเป็นประเทศกลุ่มเริ่มต้น 6 ประเทศที่เรามักเรียกกันว่า “อาเซียน 6 (ASEAN Six)” และต่อมาอาเซียนขยายการรับสมาชิก โดยมีการทยอยเข้าร่วมของ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งเรามักจะรู้จักในนามกลุ่ม CLMV จนครบ 10 ประเทศในปี 2542 

          การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และคานอำนาจของประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มแสดงบทบาทโดดเด่นในเศรษฐกิจโลก เช่น จีน และอินเดีย ดังนั้น ในปี 2546 อาเซียนจึงได้กำหนดทิศทางที่แน่ชัดว่าความร่วมมือจะต้องเดินทางไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ภายในปี 2563 แต่ต่อมา ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนในปี พ.ศ. 2547 ที่เวียงจันทน์ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันในการเร่งเป้าหมายให้เสร็จเร็วขึ้นเป็นปี พ.ศ. 2558 เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของอาเซียน โดยมี One Vision  One Indentity และ One Caring Community ซึ่งการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะให้ความสำคัญกับเสาหลัก 3 ด้าน ได้แก่                                                                

          1. เสาด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC- ASEAN Economic Community) มุ่งหวังให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เพื่อการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน และบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจของโลก

          2. เสาประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง (ASC- ASEAN Security Community) มุ่งหวังให้มีค่านิยมและแนวทางปฏิบัติที่เป็นทิศทางเดียวกัน มีการเคารพในสิทธิอธิปไตยซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

          3. เสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC- ASEAN Social-Cultural Community) มุ่งหวังให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นสังคมการเรียนรู้ Knowledge Base Society มีการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม คุ้มครองประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการเคารพสิทธิ มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุล เพื่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน และสร้างเอกลักษณ์ของอาเซียน เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมถูกทำลายด้วยกระแสตะวันตก”

          เสาด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC- ASEAN Economic Community) มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ซึ่งในเสาหลักนี้อาเซียนได้จัดทำ AEC Blueprint คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียม การลดช่องว่างระหว่างประเทศให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งในการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้

          1. การสร้างฐานการผลิตร่วม เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี และทุนเสรี

          2. การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการปรับปรุงนโยบายด้านภาษี ปรับปรุงนโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค มาตรฐานความปลอดภัย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

          3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน โดยต้องลดช่องว่างระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ และสนับสนุนการพัฒนา SMEs

          4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกผ่านการทำความตกลงทางการค้า FTA กับประเทศนอกอาเซียน

          อาเซียนมีเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการยกเลิกภาษีสินค้าในบัญชีลดภาษี (Inclusion List) ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน  โดยสมาชิกกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จะต้องลดให้เสร็จสิ้นภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ (CLMV) ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งทำให้ขณะนี้ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยมีอัตราที่ร้อยละ 0 หมดแล้วตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา

ในขณะที่สินค้าอ่อนไหวมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรจะมีภาษีที่อัตราร้อยละ 5 รวมทั้งได้มีการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs)  ซึ่งส่วนมากจะได้แก่มาตรการโควต้าภาษีของสินค้าเกษตร โดยที่ผ่านมาอาเซียนได้มีการดำเนินการเกือบจะมีความสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 99.5

          สำหรับกรอบระยะเวลาการขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ได้แก่ NTB ชุดที่ 1 คือมาตรการด้านสุขอนามัยของพืชและคน ซึ่งต้องยกเลิกตั้งแต่ปี 2551 สำหรับ NTB ชุดที่ 2 คือ Technical Barrier จะต้องยกเลิกในปี 2552 ส่วน NTB ชุดที่ 3 คือ มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องยกเลิกในปี 2553

          สำหรับการเคลื่อนย้ายบริการเสรี เช่น สาขาโลจิสติกส์ได้กำหนดให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในปี 2551 เป็น 49% ปี 2553 เป็น 51% ปี 2556 เป็น 70% ส่วนการเคลื่อนย้านแรงงานมีฝีมือใน 7 อาชีพ จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างแรงงานฝีมือไทยที่จะออกไปในอาเซียน และแรงงานฝีมืออาเซียนที่เข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการรวมกลุ่มอาเซียนน้อยกว่า 40 % เนื่องจาก ยังมีปัญหาในเรื่องการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี 

          หากพิจารณาถึงการส่งออก ปี 2535 มีมูลค่า 32,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็น 13.8% และในปี 2553 ได้ขยายมูลค่าเป็น 195,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 22.7% 

          ในการรวมกลุ่มอาเซียนต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกัน ยอมรับคุณสมบัติ ในเรื่องแรงงาน มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานอื่นๆ ในเวทีโลก

          ไทยมีเอกลักษณ์ของประเทศ ต้องใช้เป็นจุดขาย เช่น มวยไทย ศิลปไทย การแกะสลัก การประดิษฐ์ ศิลปวัฒนธรรม แปลงเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรม เตรียมพร้อมเพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แสวงหาตลาดใหม่ และโอกาสทางการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก และอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ อุปกรณ์การแพทย์

          การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนก่อให้เกิดทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ 1. ด้านการลงทุน ไทยอาจถูกแย่งการลงทุน การย้ายฐานการผลิต ซึ่งในด้านบวกเราต้องสร้างแรงจูงใจนักลงทุน ขยายการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้ไทยไปลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น 2. ด้านบริการ เช่น อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โทรคมนาคม อาจได้รับผลกระทบจากคู่แข่ง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว บริการด้านสุขภาพ ที่มีศักยภาพจะสามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน ทุน และสร้างรายได้จากการเปิดเสรีมากขึ้น

          นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวในเวทีเดียวกันนี้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน การที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ASEAN Economic Community  ในปี พ.ศ. 2558   หรืออีกเพียง 3 ปีกว่าๆ ข้างหน้านี้เอง ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับการรวมกลุ่มนี้ ผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น  เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก  มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศมารวมตัวกัน  มีประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน  มี GDP รวมกันสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ

นอกจากนี้อาเซียนเองก็ได้มีการขยายการทำความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับคู่ค้าที่สำคัญของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย เป็นการขยายขนาดของตลาดไปอีกระดับหนึ่ง อาเซียนยังมีแนวคิดที่จะรวม FTA เหล่านี้เป็น  อนุภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นอีกที่เรียกว่า อาเซียน+3 โดยรวม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าด้วยกัน และอาเซียน + 6 ที่รวม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เพิ่มอีก 3 ประเทศในอนาคต ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ว่าจะเข้าไปใช้  และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สูงสุดจาก AEC ได้อย่างไร  

          ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงพัฒนาปัจจัยสนับสนุน เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะสูงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ไปพร้อมๆ กับการแสวงหาประโยชน์จาก AEC ตัวอย่างการเตรียมความพร้อมเหล่านี้ ได้แก่  การพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพ  และผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดจากภาคเกษตร การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และการขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันในการพัฒนา เพื่อให้เกิดปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว

          ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้จัดการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวในเวทีเดียวกันโดยตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า

          “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมทั้งประเทศจีน ที่มีนโยบายชะลอตัวเศรษฐกิจ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ และญี่ปุ่นจากผลกระทบซินามิในต้นปี เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งแรกขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มครึ่งหลังที่จะขยายตัวแบบอ่อนแอ เริ่มมีการปรับลดตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้จากร้อยละ 3 เป็น 2.6 และปีหน้าจากร้อยละ 3.4 เป็น 2.8 ประกอบกับตัวเลขการใช้จ่ายกำลังซื้อในสหรัฐที่ลดลง ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน

ในยุโรปการขยายตัวเศรษฐกิจอ่อนกว่าที่คาดการณ์ อันเนื่องมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และรัดเข็มขัดของรัฐบาลเพื่อลดปัญหาหนี้สาธารณะ ประกอบกับในปีนี้มีความไม่ชัดเจนของนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฎ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรืออียู ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการปัญหาและทิศทางเดินของนโยบายในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การลดหนี้ในอนาคต และความไม่ชัดเจนด้านนโยบายนี้จะส่งผลด้านการตลาดระหว่างประเทศ

          ในระยะสั้น การวางทิศทางของนโยบายด้านการเงินการคลังของแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก

          ในระยะยาว นโยบายที่มีผลต่อการเปลี่ยนเศรษฐกิจประกอบด้วย
          1.  ความแตกต่างการขยายตัวเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอุตสาหกรรมทั่วไปและประเทศตลาดเกิดใหม่

          2. การไหลเข้าของเงินทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการก่อหนี้ภาครัฐ การใช้จ่ายเกินตัว และภาวะฟองสบู่

          3. การขยายเศรษฐกิจในตลาดอาเซียนหรือในเอเชีย ประเทศที่เน้นการส่งออกไปตลาดเดิม ควรหันมาขับเคลื่อนการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออกในภูมิภาคเดียวกันเอง ซึ่งจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจไม่ชะงักงัน

          นโยบายในการป้องกันความเสี่ยง ประกอบด้วย
          1. แนวทางการสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้ก้าวสู่อาเซียนโดยเน้นการสร้างฐานการผลิตในอาเซียน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็น โดยการสนับสนุนด้านข้อมูล การติดต่อประสานงาน การสร้าง/หาบุคคลากรไทยให้มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิภาค

          2. ระบบการเงินในประเทศจะต้องมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs โดยการให้สินเชื่อบริการด้านการเงินกับธุรกิจ/สินเชื่ออย่างทั่วถึง นอกจากนั้นต้องส่งเสริมบทบาทของธนาคารพาณิชย์ไทยในการเพิ่มสาขาในตลาดประเทศให้การบริการธุรกิจและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการไทย

          3. ธรรมาภิบาลในธุรกิจเอกชนของไทย ซึ่งต้องสร้างให้เกิดและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการคัดเลือกธุรกิจไทยให้เป็นหุ้นส่วนไทยหรือพันธมิตรกับธุรกิจต่างชาติ เมื่อธุรกิจอาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว

          ปิดท้ายด้วย เวทีเสวนาใหญ่ OIE FORUM ด้วย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงความท้าทายในครั้งนี้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า

          ประชากรเอเชียมีความสำคัญ โดยเฉพาะด้านแรงงานและเป็นตลาดของสินค้า โดยมีจุดเด่น คือ มีผู้บริโภคที่เป็นคนชั้นกลางจำนวนมาก โดยโครงสร้างของอายุประชากรในเอเชียเปลี่ยนแปลงมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชากรวัยทำงาน การปันผลประชากรระลอกที่ 1 คือการเติบโตของประชากรวัยทำงานในชนชั้นกลาง และสูงสุดในปี 2050 ประชากรคนชั้นกลางในเอเชียจะมากที่สุดในโลก ส่งผลให้มีอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการมากขึ้นตามช่วงอายุ

โดยเอเชียจะเข้าสู่สังคมการบริโภคสินค้าและบริการเข้มข้น แต่ขณะเดียวกันจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ชนชั้นกลางสูง และชั้นกลางล่างที่มีรายได้ต่ำก่อให้เกิดความขัดแย้ง เช่น เหตุการณ์ในกลุ่มประเทศอาหรับ และประเทศอังกฤษ ในส่วนของภาครัฐต้องมีเตรียมพร้อมนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรโครงสร้างอายุ

          การเข้าสู่การปันผลประชากรในระลอกที่ 2 คือ ประชากรวัยทำงานลดลง และประชากรสูงอายุมากขึ้น ปัญหาช่วงเวลาการทำงานลดลง ภาระการดูแลมากขึ้น การเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งรัฐบาลควรวางแผนนโยบายส่งเสริมการออม ประกันชราภาพ ให้กับประชากรในภาคเกษตร และแรงงานนอกระบบ การให้ความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากเงินออม และการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงบัญชีประชาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่าย และการออมในแต่ละช่วงอายุของประชากร หรือ National Transfer Account เพื่อแก้ปัญหาวัฏจักรการขาดดุลตามช่วงอายุ 

          ดร.นิพนธ์ ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจอีกว่า หากพิจารณาความแตกต่างด้านประชากรในอาเซียน และแนวโน้มในอนาคตแล้ว      ในศตวรรษที่ 20 ประชากรเอเชียขยายตัว ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าอัตราการทดแทนประชากรเป็นระยะเวลานาน เกิดจากคนเอเชียแต่งงานช้า หรือไม่ได้แต่งงาน และการมีลูกน้อย และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าประชากรเอเชียในปี 2050 จะลดลงกว่า 1,000 ล้านคน โดยเฉพาะ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน แต่อินเดีย ปากีสถาน จะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากแทน

ในขณะที่เอเชียจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น และอัตราความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของสตรีน้อยลง เนื่องจากมีสุขภาพที่ดีขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมวางแผนการลงทุนด้านมนุษย์และการเงินของบุคคลในระยะยาว

          โดยสรุปแล้วการแบ่งประชากรเอเชีย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่แก่ตัวแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลี จีน กลุ่มที่กำลังแก่ตัว ไทย และกลุ่มที่ประชากรยังหนุ่มแน่น เช่น อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ข้อกังวลของกลุ่มที่ 2,3 จะเกิดกรณีของประชากรจะแก่ตัวก่อนที่จะมีฐานะ ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร การปันผลประชากรต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจใน 2 ระลอก ช่วงแรกสัดส่วนของประชากรวัยทำงานมากขึ้น จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน

เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางเป็นผู้ขับเคลื่อนการซื้อ เนื่องจากมีกำลังซื้อมากขึ้น ตลาดสินค้ามีการขยายตัว และมีความหลากหลายมากขึ้น ต้นทุนลดลงจากการขยายตัวของตลาดมากขึ้น และเป็นผู้ออมที่สำคัญ ในอีก 20 ปี อาเซียนจะมีคนชั้นกลางในระดับล่างและกลางเพิ่มขึ้น และช่วงสองจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น รัฐบาลต้องส่งเสริมการออม และการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชากรสูงอายุ ถ้าไม่มีการออม และการลงทุนที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ในอนาคต

          และนี้คือความเข้มข้นของการเสวนาใหญ่ที่คั้นหัวกะทิทางวิชาการ เพื่อวิเคราะห์ในแง่ของโอกาสและความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ณ ตอนนี้อยู่ที่ว่า ชาติใดในอาเซียนมีความพร้อมยิ่งกว่า เพื่อคว้าโอกาสทองในการชิงธงแห่งความเป็นผู้นำ

บทความจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม