ชี้เขตการค้าเสรีระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐ กรุยทางสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค ที่มะกันตั้งเป้าหมายเอาไว้ ขณะเดียวกันจะบีบให้ประเทศหลักในเอเชียต้องทำเอฟทีเอ "สามเส้า" ระหว่างกันมากขึ้น ระบุหาก FTAAP เกิดขึ้น มะกันจะกินรวบเศรษฐกิจมากถึง 60% ของโลก ส่งผลให้ "ดับเบิลยูทีโอ" พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง
ชี้เขตการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐ กรุยทางสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค ที่มะกันตั้งเป้าหมายเอาไว้ ขณะเดียวกันจะบีบให้ประเทศหลักในเอเชียต้องทำเอฟทีเอ "สามเส้า" ระหว่างกันมากขึ้น ระบุหาก FTAAP เกิดขึ้น จะทำให้ "ดับเบิลยูทีโอ" พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง |
. |
เอเอฟพีรายงานว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี (เอฟทีเอ) ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดรองจากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) อาจเป็นแรงเสริมให้สหรัฐบรรลุเป้าหมายที่ต้องการทำเอฟทีเอกับประเทศเอเชีย-แปซิฟิค (เอฟทีเอเอพี-FTAAP) ที่สหรัฐเป็นฝ่ายเสนอเอาไว้ ซึ่งการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับเกาหลีใต้ก็คือย่างก้าวที่มุ่งไปสู่ FTAAP |
. |
นายชอน สไปเซอร์ ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐ กล่าวว่า "เอฟทีเอที่สหรัฐทำกับเกาหลีใต้คือ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นพันธะผูกพันที่แข็งขันของสหรัฐที่จะเกาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค และยังเป็นตัวอย่างที่เยี่ยมยอดสำหรับ FTAAP และทำให้ FTAAP มีความเป็นไปได้มากขึ้น" นายสไปเซอร์กล่าว |
. |
รายงานข่าวระบุว่า FTAAP จะครอบคลุมเศรษฐกิจ 60% ของโลก และ 50% ของการค้าโลก หรือครอบคลุมตั้งแต่จีนไปจนถึงชิลีเพื่อสร้างเอฟทีเอระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ซึ่งหากข้อ FTAAP เกิดขึ้นเมื่อใด ก็จะทำให้การเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าข้อเสนอในแง่การเมืองแล้ว FTAAP ไม่มีความเป็นไปได้ในระยะอันใกล้ ขณะที่บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค (เอเปค) 21 ประเทศ จะรับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับแนวคิดของ FTAAP ในการประชุมประจำปีที่ออสเตรเลียในเดือนกันยายน |
. |
ที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งไต้หวัน กล่าวว่า หลังจากเกาหลีใต้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาแล้ว สร้างแรงกดดันต่อประเทศในเอเชียมากขึ้นที่จะต้องทำเอฟทีเอกับสหรัฐทั้งในระดับทวิภาคีหรือผ่าน FTAAP เพื่อไม่ให้เสียเปรียบเรื่องการส่งออก |
. |
นายโมโตชิเกะ อิโตะ อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า เอฟทีเอระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐ อาจกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มในการทำเอฟทีเอ 3 ฝ่ายระหว่างประเทศหลักๆ ในเอเชีย เช่น ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ |
. |
นายชาร์ลส์ มอริสสัน แห่งศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก กล่าวว่า ประเทศในเอเชียกำลังเฝ้ามองว่า คองเกรสจะต่ออำนาจพิเศษด้านการเจรจาการค้า (ทีพีเอ) ให้กับประธานาธิบดีบุช ที่จะหมดลงในวันที่ 1 กรกฎาคมหรือไม่หากต่ออายุก็มีแนวโน้มที่ญี่ปุ่นอาจสนใจจะทำเอฟทีเอกับสหรัฐ |
. |
ที่มา : มติชน |