สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผย กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ชี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผย กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ชี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป
1. บอร์ด กนง. เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยง
-คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ชี้แจงเหตุผลของที่ประชุมที่มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี ว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากขึ้นของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์
ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักในยุโรปเริ่มขยายตัวชะลอลง แม้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะสามารถรองรับผลกระทบได้ดี กอปรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ จึงเห็นควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับที่สมดุลมากขึ้น เพื่อดูแลแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต และเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ
-สศค. วิเคราะห์ว่า มติของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี มีเป้าหมายสำคัญคือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นผลมาจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยนับจากต้นปี 54 ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 15.1 (ต้นปี 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 91.94 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ล่าสุด ณ 6 ก.ย.54 ราคาอยู่ที่ 105.82 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงบ้าง โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3-4.8) (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ย.54)
2. อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเดือนส.ค. 54 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.79
-อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียในเดือนส.ค. 54 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.79 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียในเดือนก.ค. 54 และมิ.ย. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 และ 5.54 ตามลำดับ
-สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียในเดือน ส.ค.54 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย.54 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลัก สืบเนื่องจากทางการอินโดนีเซียได้ใช้มาตราการต่างๆเพื่อควบคุมระดับราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศ เช่น การใช้เงินกองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยรักษาระดับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและขนส่งสินค้า และการที่ภาครัฐมีมาตราการในการควบคุมพฤติกรรมการกักตุนสินค้าของภาคเอกชน นับตั้งแต่ปี 54 ค่าเงินรูเปียห์ได้ปรับแข็งค่าขึ้นคิดเป็นร้อยละ 5 จึงทำให้ต้นทุนสินค้าปรับลดลง
ดังนั้นจึงทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงระดับดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 6.75 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียปี 54 ขยายตัวร้อยละ 6.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54 และจะปรับประมาณการอีกในเดือน ก.ย. 54)
3. แบงก์ชาติออสซี่คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.75
-ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.75 นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 53 ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียกล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวในระยะใกล้ยังดูอ่อนแอกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยการขยายตัวอาจจะสูงขึ้น หากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกไม่ย่ำแย่ลงอีก
-สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของออสเตรเลียยังคงเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เมื่อหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวโดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 4.75 ตั้งแต่เดือน พ.ย.53 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.1 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54 และจะปรับประมาณการอีกในเดือน ก.ย. 54)