รมว.พลังงาน เปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ ปตท. ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการแยกก๊าซธรรมชาติสูงสุด 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
รมว.พลังงาน เปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ ปตท. ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการแยกก๊าซธรรมชาติสูงสุด 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
วานนี้ (7 กันยายน 2554) เวลา 09.45 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังการแยกก๊าซธรรมชาติสูงสุด 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 1-3 และ หน่วยที่ 5 ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 นี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ และ ผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) รองรับความต้องการใช้ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติที่จัดหาได้จากอ่าวไทย และเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถผลิตก๊าซอีเทนได้สูงสุดประมาณ 630,000 ตันต่อปี ก๊าซโพรเพนและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 1,030,000 ตันต่อปี และ ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ประมาณ 160,000 ตันต่อปี รวมกัน 1,820,000 ตันต่อปี
โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 นี้ จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติด้วยการนำผลิตภัณฑ์ไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย ที่สามารถต่อยอดไปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภท อาทิ เครื่องบรรจุภัณฑ์อาหาร ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ สายไฟและเคเบิ้ล และเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ฯลฯ โดยนอกจากจะช่วยลดภาระการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานในประเทศอีกด้วย
และในวันเดียวกันนี้ เวลา 10.45 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีเปิดสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Map Ta Phut LNG Terminal) ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 460 ไร่ ในตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง สร้างขึ้นเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของ ปตท. และสนองความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีรับจ่าย LNG แห่งนี้ มีความสามารถรับและจ่าย LNG ในระยะแรก 5 ล้านตันต่อปี (เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) และสามารถขยายเป็น 10 ล้านตันต่อปี ในอนาคต (เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) โดยสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งนี้ ประกอบด้วย ถังเก็บ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง และท่าเรือซึ่งมีศักยภาพในการรองรับเรือบรรทุก LNG ขนาดตั้งแต่ 125,000 – 264,000 ลูกบาศก์เมตร
โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและทำการทดสอบความพร้อมใช้งานตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2554 และสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ Map Ta Phut LNG Terminal แห่งนี้ มีศักยภาพที่จะเติบโต และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้า LNG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น