เนื้อหาวันที่ : 2011-09-06 10:49:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1542 views

บีเอสเอชี้ยกระดับนโยบายรับคลาวด์ คอมพิวติ้งเพิ่มการจ้างงาน

บีเอสเอ เผยผลการศึกษาชี้หากรัฐบาลไทยยกระดับนโยบายรองรับเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งจะเพิ่มการจ้างงานเชิงคุณภาพ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่

          บีเอสเอ เผยผลการศึกษาชี้หากรัฐบาลไทยยกระดับนโยบายรองรับเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งจะเพิ่มการจ้างงานเชิงคุณภาพ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่

          การยกระดับกรอบนโยบายของประเทศไทย เพื่อรองรับเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และเศรษฐกิจแบบดิจิตอล (Digital Economy) จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายการขยายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงนวัตกรรมตามที่มุ่งหวังไว้  นำไปสู่การเติบโตของตลาดงานแบบยั่งยืน โดยมีค่าแรงที่เพิ่มสูง และมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคบางประการที่ต้องข้ามผ่านเสียก่อน  เป็นข้อมูลจากการศึกษาล่าสุด เรื่องเศรษฐกิจแบบดิจิตอลและคลาวด์ คอมพิวติ้ง โดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) และบริษัทวิจัยกาเลกเซีย (Galexia) ที่ศึกษาความพร้อมด้านนโยบาย และกฎหมาย ที่เกี่ยวกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง ใน 14 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก   

          การศึกษาระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีศักยภาพในการเป็นศูนย์รวมการทำธุรกิจบนเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ระดับโลก  อย่างไรก็ดี พบว่าเกือบจะทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์มากขึ้น หากมีการปรับปรุงกฎหมาย และนโยบาย ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในลักษณะที่แตกต่างกันไป เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ระหว่างประเทศ

          “การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับโอกาสทางธุรกิจมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล และคลาวด์ คอมพิวติ้ง” นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าว “ประเทศไทยมีจุดแข็งในกรอบนโยบายอย่างชัดเจน แต่เรายังสามารถปรับปรุง และทำให้กรอบนโยบายของเราดียิ่งขึ้น  การเพิ่มความเชื่อมั่น และสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ในการดึงดูดนักลงทุน สร้างงานคุณภาพ และส่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีของเรา”

          ประเทศไทยเริ่มต้นได้ดีแล้วกับนโยบายเพื่อรองรับคลาวด์ คอมพิวติ้ง และเศรษฐกิจแบบดิจิตอล  อย่างไรก็ดี ยังต้องแก้ไขช่องโหว่ที่สำคัญ เพื่อให้ทันคู่แข่งอื่นในภูมิภาค  การส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับกรอบนโยบาย ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทย ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เป็นคลาวด์ คอมพิวติ้งและเศรษฐกิจแบบดิจิตอล

          “บางเรื่องภายใต้กรอบนโยบายเพื่อรองรับเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ของประเทศไทย ถือว่าเป็นจุดแข็ง แต่หากมีการพัฒนาเนื้อหาในบางเรื่อง ประเทศไทยจะสามารถมีกรอบนโยบายที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจแบบดิจิตอล เกิดผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” มร. โรเจอร์  ซอมเมอร์วิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านรัฐบาลและนโยบายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบีเอสเอกล่าว “การมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมารองรับ จะช่วยให้ไทยสามารถเพิ่มโอกาสได้มากขึ้น จากเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง

           มร. โรเจอร์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนากฎหมายหลายฉบับ ที่มีเนื้อหาครบถ้วน ที่เกี่ยวกับอาชญกรรมบนโลกไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจสำหรับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ดีหลายฉบับ เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้วด้วย 

          การศึกษาครั้งนี้ ได้ตรวจสอบกรอบกฎหมายและนโยบายของ 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์          ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม และเน้นไปที่ 8 หัวข้อที่สำคัญ       ผลการศึกษาที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

          ความปลอดภัย (Security) ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ชัดเจนและมีความเป็นกลางในเรื่องเทคโนโลยี และได้กำหนดกฎระเบียบว่าด้วยการรับรองลายมือชื่อเซ็น ตามความจำเป็นไว้แล้ว  มีการกำหนดมาตรการเรื่องความปลอดภัยในประเทศส่วนใหญ่  อย่างไรก็ดี มีประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย ได้เริ่มต้นกำหนดรูปแบบการปิดกั้น หรือกลั่นกรองเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ท ซึ่งอาจขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบดิจิตอล และคลาวด์ คอมพิวติ้งได้

          อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Crime) ประเทศส่วนใหญ่มีกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับอาชญกรรมบนโลกไซเบอร์ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว และเนื้อหาส่วนใหญ่ของกฎหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องอาชญกรรมบนโลกไซเบอร์  อย่างไรก็ดี    ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในส่วนของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวน และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่เข้ารหัสไว้ และการกระทำความผิดข้ามเขตแดนที่กฎหมายของแต่ละประเทศบังคับใช้อยู่

          ความสามารถในการทำงานข้ามระบบกันได้ (Interoperability) ถึงแม้ว่าประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่กำหนดกรอบเรื่องความสามารถในการทำงานข้ามระบบ และการถ่ายโอนข้อมูล แต่แนวทางของรัฐบาลที่เกี่ยวกับขั้นตอนการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานยังมีความลักหลั่นกันอยู่  มีการตัดสินใจนอกรอบหลายเรื่องโดยไม่ได้อิงกับกรอบการทำงานและนโยบายแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องมีการทำงานอย่างจริงจังในส่วนนี้ เพื่อส่งเสริมและเร่งการพัฒนามาตรฐานดังกล่าว

          การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ประเทศเอเชียส่วนใหญ่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่แล้ว และได้จัดตั้งกรรมาธิการอิสระขึ้น เพื่อดูแลในเรื่องนี้ มีการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีการทบทวนและข้อเสนอเกิดขึ้น ในออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน อย่างไรก็ดี  ประเทศสำคัญ อย่าง จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูล 

          สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) ภูมิภาคนี้กำลังมุ่งหน้าไปในแนวทางต่อเนื่องเกี่ยวกับสิทธิหลายอย่างที่สำคัญ และการคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น  แม้ว่าจะยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ของแนวทางเกี่ยวกับข้อมูลการจัดการสิทธิ และเทคโนโลยีการเข้าสู่ข้อมูล  ยังมีช่องว่างในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศสำคัญๆ รวมถึงอินเดีย และฟิลิปปินส์     

          การสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันในระดับนานาชาติ  (International harmonization of rules) กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันมาก โดยประเทศส่วนใหญ่มีการร่างกฎหมาย โดยอิงกับโมเดลกฎหมายของ UNCITRAL ว่าด้วยเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ/หรือ อนุสัญญาขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยการทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ (UN Convention on Electronic Contracting) หลายประเทศได้ลงนามและรับรองอนุสัญญา และนำไปสู่การสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกัน  ทำให้การเก็บภาษีศุลกากร หรือการกีดกันทางการค้า สำหรับการซื้อขายซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ แบบออนไลน์ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากมากในภูมิภาคนี้

          การค้าเสรี (Free trade) ยังคงมีการจัดซื้อจัดหาที่ให้สิทธิพิเศษหรือไม่เท่าเทียมกันอยู่บ้างประปราย การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการจำกัดการแข่งขัน และอาจส่งผลกระทบในระยะยาว ต่อการจัดหาและต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการแบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในบางประเทศ    อย่างไรก็ดี มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นภาคีของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดหาของภาครัฐ (WTO Agreement on Government Procurement) เป็นจำนวนมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้การจัดซื้อจัดหาของภาครัฐมีความเป็นกลางและเสรีมากขึ้น  

          โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การมีอยู่และการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ในภูมิภาคมีความแตกต่างกัน  และพบว่ามีบางประเทศยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ที่สามารถสนับสนุนและใช้แสวงหาประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบดิจิตอลและคลาวด์ คอมพิวติ้ง ได้อย่างเต็มที่

          “การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้จัดอันดับคุณภาพของสภาวะแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายในประเทศที่ทำการศึกษา  เพียงแต่มุ่งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบดูว่า ปัญหาด้านกฎหมายและนโยบายที่จำเป็นต้องแก้ไขในประเทศเหล่านี้ ได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง  เพราะเรื่องที่ศึกษามีขอบเขตกว้างขวางและครอบคลุมหลายประเทศ  การศึกษานี้จึงเสนอการประเมินในระดับพื้นฐาน เพื่อดูว่าโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของเศรษฐกิจดิจิตอลมีความพร้อมแล้วหรือยัง มากกว่าจะมุ่งเจาะลึกดูว่าการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวดำเนินไปได้ดีเพียงใด” มิสเตอร์ โรเจอร์กล่าว