เนื้อหาวันที่ : 2007-04-06 09:53:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1059 views

เวิล์ดแบงก์หั่นจีดีพีปีนี้โต 4.3% จวกนโยบายรัฐทำนักลงทุนสับสน

เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยขยายตัว 4.3% ต่ำมาก หากเทียบประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งออกขยายตัวได้เพียง 5.9% ชี้นโยบายเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวขณะนี้ยังไม่ชัดเจนจวกนโยบายรัฐสับสนฉุดความเชื่อมั่นบริโภค-ลงทุน

เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยขยายตัว 4.3% ต่ำมาก หากเทียบประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งออกขยายตัวได้เพียง 5.9% ชี้นโยบายเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวขณะนี้ยังไม่ชัดเจนจวกนโยบายรัฐสับสนฉุดความเชื่อมั่นบริโภค-ลงทุน

.

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทย แถลงผลการประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า น่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 4.3% ลดลงจากการขยายตัว 5% ในปีก่อน และมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ชะลอลง จากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การส่งออกขยายตัวได้เพียง 5.9% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ถึง 8.5%

.

ขณะเดียวกันความต้องการภายในประเทศปีนี้ก็ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.5% ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 3.1% เล็กน้อย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ น้ำมันและอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้คนมีอำนาจการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ จากการที่ยังมีความไม่แน่นอนในด้านนโยบายต่างๆ ทำให้การบริโภคไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก

.
การลงทุนเอกชนแย่ลง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 4% เทียบกับปีก่อนขยายตัวได้ 3.9% ที่แม้ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ในระดับสูง แต่จากความไม่แน่นอนในนโยบายต่างๆ ทำให้นักลงทุนยังไม่มั่นใจและรอดูสถานการณ์ก่อนจึงทำให้การลงทุนไม่น่าจะปรับขึ้นได้เร็วนัก

.

นอกจากนี้จากดัชนีชี้การลงทุนต่างๆ เช่น การขออนุมัติการลงทุนในไทยจากคณะกรรมการสนับสนุนการลงทุน (บีโอไอ) ที่ขออนุมัติการลงทุนลดลง ชี้ว่าการลงทุนในปี 2550 และ 2551 น่าจะปรับลดลง

.

ที่เราคาดการณ์ขยายตัวได้ที่ 4.3% นั้น เพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากความไม่แน่นอนต่างๆ หายไปอย่างเรื่องของกฎหมายประกอบธุรกิจของต่างด้าว ถ้าปรับเปลี่ยนโดยรัฐบาลออกมาประกาศให้เสรีภาคบริการบางธุรกิจ หรือการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งที่จะช่วยได้ ดร.กิริฎา กล่าว

.

ทั้งนี้ การคาดการณ์การขยายตัว 4.3% ของธนาคารโลกครั้งนี้ ปรับลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.6% โดย ดร.กิริฎา ระบุถึงการปรับลดลงว่า เป็นเพราะในการประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือนพฤศจิกายน ยังคาดว่าการบริโภคและการลงทุนจะขยายตัวได้ดีเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าและร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจในสองเดือนแรกของปีนี้ออกมา ก็เห็นถึงการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน

.

การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนนั้น ดร.กิริฎากล่าวว่า นโยบายของภาครัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลมาก เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งผลในอนาคตและผลต่อผู้ลงทุนในอดีตไปแล้ว

.
มาตรการกันสำรองกระทบการลงทุน

ส่วนมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ก็มีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนค่อนข้างมาก เพราะทำให้นักลงทุนมีความไม่แน่ใจว่าไทยอาจจะประกาศใช้มาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้าได้อีก แม้ว่าต่อไปจะยกเลิกมาตรการแล้ว ทำให้แม้จะผ่อนคลายมาตรการลงแต่คนก็อาจจะยังไม่กล้านำเงินเข้ามา อย่างไรก็ตามเงินที่เข้ามาเป็นเงินทุนระยะสั้น ขณะที่เงินทุนโดยตรงยังคงไหลเข้ามาอยู่ ทำให้ผลกระทบมีไม่มากเท่ากับความไม่แน่นอนเรื่อง พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวประกอบกับขณะนี้มาตรการดังกล่าวได้ผ่อนคลายมากแล้ว จึงคงจะต้องให้เวลาอีกสักระยะก่อนที่ ธปท.จะยกเลิกมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า

.

การที่ปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนไม่ลงทุน มาจากความไม่แน่ใจในนโยบาย ทำให้ ดร.กิริฎามองว่า การใช้นโยบายการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยหรือลดภาษีลงนั้น ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนได้มากเท่ากับการทำให้บรรยากาศการลงทุนในไทยดีขึ้น อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ยหรือภาษี อาจจะช่วยในเรื่องการใช้จ่ายได้บ้าง ทั้งนี้ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น ธนาคารโลกคาดว่า ธปท.จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 2% จากต้นปีที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5% ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องคำนึงถึงผู้ฝากเงินด้วย

.

ทั้งนี้ การลงทุนของต่างชาติในไทย ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 45% ของการลงทุนรวมของภาคเอกชนในไทย และขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งสูงมากหากเทียบกับการลงทุนรวมที่ขยายตัวเพียง 4% เท่านั้น

.

เพิ่มด้านลงทุน รองรับส่งออกแย่ลง

ดร.กิริฎา กล่าวด้วยว่า การที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้น จะต้องเพิ่มการลงทุนในไทยให้มากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่การที่ไทยจะพยุงให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม เพราะค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้น่าจะยังคงเกินดุลประมาณ 3,605 ล้านดอลลาร์ สรอ.คิดเป็น 1.5% ของจีดีพี ประกอบกับธุรกิจการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกษตรและธุรกิจที่ใช้แรงงาน ดังนั้นจึงควรจะช่วยเหลือเฉพาะภาคธุรกิจด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตร รวมทั้งจะต้องเพิ่มทักษะให้กับคนในกลุ่มธุรกิจนี้ให้มากขึ้น

.

นอกจากนี้ การที่ไทยควรจะต้องลงทุนเพิ่ม เพราะหากความต้องการจากต่างชาติมีเพิ่มขึ้นแต่ไทยไม่ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม จะทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของตลาด ซึ่งการเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาใช้ โดยสิ่งที่จะฟื้นความเชื่อมั่นนั้นมีทั้งการลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว การปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าวที่ควรยกเลิก การให้มีผลบังคับย้อนหลัง และควรเปิดเสรีภาคบริการที่สำคัญบางอย่าง

.

นอกจากนี้ยังสามารถฟื้นความเชื่อมั่นด้วยการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน โดยการแก้ไขกฎเกณฑ์ข้อจำกัดต่างๆ ในไทย เพิ่มทักษะแรงงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มผลิตภาพของไทยให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้ไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ เพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน และมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ

.
หอการค้าห่วงส่งออกทรุดกระเทือนศก.

ดร.อัทธ์ พิศาลวนิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกไทยในปีนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าจะอยู่ระดับ 9.6% ซึ่งแม้ว่า ธนาคารโลกจะประเมินเพียง 5.9% ถือว่าอยู่ระดับที่ใกล้เคียงกัน เพราะการคำนวณของธนาคารโลกนั้น ไม่ได้รวมด้านราคาเข้าไป

.

อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกในปีนี้ จะลดลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลง ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน ฉุดรายได้ของคนภายในประเทศ ภาคเกษตรก็จะได้รับปัญหาไปด้วย หลังจากที่ปัจจุบันภาคเกษตรเผชิญปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็จะมีปัญหาไปด้วย

.

สิ่งที่ต้องดำเนินการคือจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ เน้นพึ่งพายุโรปและสหรัฐ ขณะที่อัตราค่าเงินบาทขณะนี้ถือว่าอยู่ระดับเดียวกับคู่แข่งแล้ว ขณะเดียวกันในระยะกลาง ต้องหันมาเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาส่งออก

.
เอเชียตะวันออกจีดีพีโต 7.3%

ขณะเดียวกันในรายงานรอบครึ่งปีนี้ ธนาคารโลกระบุด้วยว่า เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมาก และมีบทบาทในระดับโลกมากกว่าแต่ก่อน หลังผ่านพ้นวิกฤติการเงินเอเชียมาได้ 10 ปี

.

ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกยกเว้นญี่ปุ่น อาจขยายตัว 7.3% ในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่มีการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 8.1% ในปีที่แล้ว ส่วนปี 2551 คาดว่าเอเชียตะวันออกจะขยายตัว 7.0% แม้จะชะลอตัวลง แต่ธนาคารโลกก็ระบุว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกยังคงมีความสดใส

.

รายงานเตือนด้วยว่า จีนจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาและภาวะไม่สมดุลที่มีความเชื่อมโยงกัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดมากที่สุด โดยในบรรดาเมืองใหญ่ที่มีมลภาวะสูงสุด 30 อันดับแรกของโลกนั้น มีเมืองของจีนรวมอยู่ด้วยถึง 20 เมือง สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้น สิ่งที่สำคัญก็คือการมุ่งความสนใจหลักไปที่การส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน และการปรับปรุงทักษะความสามารถของแรงงาน

.

นอกจากนี้ ยังต้องระวังการเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึงปริมาณเงินพื้นฐานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าหากไม่มีการดูแลเงินดังกล่าวแล้ว เม็ดเงินเหล่านี้ก็จะส่งผลให้สินเชื่อและอุปสงค์ขยายตัวออกไปในวงกว้าง และจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะร้อนแรงจนเกินไป

.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์