บีโอไอเผยความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติเกือบครึ่งเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะอุตฯ บริการ โลหะ เคมี ขณะที่อุตฯ เบาเตรียมลดขนาดการลงทุน
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
บีโอไอเผยความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติเกือบครึ่งเดินหน้าขยายการลงทุนโดยเฉพาะอุตฯ บริการ โลหะ เคมี ขณะที่อุตฯ เบาเตรียมลดขนาดการลงทุน
บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ไม่มีใครถอนการลงทุนจากไทย นักลงทุนร้อยละ 46.8 มีแผนจะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โลหะ เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเบามีแผนจะลดขนาดการลงทุน
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย ถึงผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มิถุนายน 2554 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 404 บริษัท พบว่า ในช่วงปี 2554-2555 นี้ ไม่มีนักลงทุนต่างชาติรายใดมีแผนที่จะถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย โดยนักลงทุนต่างชาติร้อยละ 49.8 ยังวางแผนรักษาระดับการลงทุนในประเทศไทยเท่ากับปัจจุบัน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติร้อยละ 46.8 มีเป้าหมายขยายกิจการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติในกลุ่มที่มีแผนจะขยายกิจการในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ มีแผนจะขยายกิจการเล็กน้อย ร้อยละ 29 และมีแผนจะขยายกิจการอย่างมาก ร้อยละ 17.8 อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมโลหะ เคมีภัณฑ์ และอิเล็ทรอนิกส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มนักลงทุนร้อยละ 3.4 มีแผนที่จะลดขนาดการลงทุนลง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการในอุตสาหกรรมเบา เช่น สิ่งทอ เครื่องประดับ และเครื่องหนัง เป็นต้น
สำหรับปัจจัยลำดับต้นๆ ที่นักลงทุนมองว่าเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ของภาครัฐ ความพร้อมของการมีโครงสร้างพื้นฐาน และการมีแรงงานฝีมือเพียงพอและอัตราค่าจ้างแรงงานมีความเหมาะสม รวมทั้งการมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็ง
ส่วนปัจจัยที่นักลงทุนมองว่าส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนมากที่สุด คือ เสถียรภาพทางการเมืองของไทย สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เป็นต้น
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้สำรวจข้อมูลเชิงลึก ด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมต่างๆ 5 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์กระดาษและพลาสติก อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมด้านการบริการสาธารณูปโภค และอุตสาหกรรมเบา รวมทั้งสิ้น 30 บริษัท ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจต่อผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น โดยไทยมีจุดเด่นในด้านความพร้อมเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า ด้านสาธารณูปโภค และอุปนิสัยของแรงงาน
ในขณะที่ยังมีจุดอ่อนได้แก่ ความยุ่งยากในการดำเนินงานเพื่อส่งออกสินค้า และการนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งแนวทางในการกำหนดนโยบายที่แตกต่างกันตามคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศ และเสถียรภาพทางการเมือง
สำหรับการเปิดเสรีการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 จะทำให้ไทยได้เปรียบในด้านของขนาดของตลาดที่เติบโตมากขึ้น ต้นทุนการนำเข้าของวัตถุดิบถูกลง อย่างไรก็ตามจะทำให้มีจำนวนคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน การแข่งขันด้านราคามีสูง เป็นต้น โดยผู้ประกอบการกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มั่นใจว่า ประเทศที่มีศักยภาพด้านคุณภาพฝีมือแรงงานมากที่สุด คือ ไทย และ มาเลเซีย