สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยสถานการณ์เศรษฐกิจประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ดังนี้
1. สภาผู้ส่งออกทางเรือ เผยดัชนีส่งออก 7 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 25
- รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหาสหรัฐฯ และยุโรป แต่ดัชนีการส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวถึงร้อยละ 25 และคาดว่า ทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 18 โดยสินค้าเกือบทุกรายการมีการส่งออกสูงขึ้น เช่น กระดาษ ข้าว อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตลาดใหม่ รวมทั้งสินค้าบริโภคมีความต้องการของตลาดมากขึ้น ยกเว้นสินค้าบางประเภทที่ขยายตัวไม่มาก เช่น เฟอร์นิเจอร์ เพราะต้องแข่งกับคู่แข่งสำคัญคือจีน
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังคงขยายดีอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกล่าสุดเดือน ก.ค. 54 21.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 38.3 สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าหมวดเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวร้อยละ 58.1 40.4 และ 15.6 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน กลุ่มอาเซียน+5 และสหภาพยุโรป มีสัดส่วนรวมกันที่ร้อยละ 37.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการส่งออกของไทยได้มีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดเอเซียมากขึ้น และยังจำกัดความเสี่ยงด้านการส่งออกของไทยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาชะลอตัวอีกครั้งหลังจากมีความเสี่ยงด้านวิกฤติหนี้สาธารณะ และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6-18.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)
2. S&P ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรป
- บริษัทจัดอันดับเครดิตสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 17 ประเทศกลุ่มยูโรโซนในปี 54 จากเดิมที่ ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยคาดการณ์ปี 55 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5 โดยนอกจากนั้น ยังคาดการณ์ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังรักษาระดับดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 1.5 จนกว่าจะถึงกลางปี 55 จากก่อนหน้าที่ได้คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปลายปี 54
- สศค. วิเคราะห์ว่า ครึ่งปีแรกปี 54 เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจยุโรปเริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากตัวเลขดัชนีคำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 54 ที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 49.7 ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริ โภคเดือน ส.ค. 54 (เบื้องต้น) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ -16.6 ต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน บ่งชี้ถึงแรงกดดันต่อการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงที่เหลือของปี 54 ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54 เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.3 แต่จะมีการประกาศการปรับคาดการณ์อีกครั้งในเดือน ก.ย.54
3. ว่างงานญี่ปุ่นในเดือน ก.ค.54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7
- กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น รายงานว่า อัตราว่างงานของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.6 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 2.92 ล้านคน ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราว่างงานไม่ได้รวมผลสำรวจจาก 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดอิวาเตะ มิยากิ และฟูกุชิม่า เนื่องจากมีความยากลำบากในการจัดทำผลสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เปราะบาง โดยข้อมูลล่าสุด GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 54 หดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -1.0 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (qoq SA) หดตัวร้อยละ -0.3 หดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.9 โดยการบริโภคภาครัฐและการสะสมสินค้าคงคลังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น (Contribution to GDP Growth) ขยายตัวร้อยละ 0.4 และ 0.4 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ภาคการบริโภคภายในประเทศก็มีแนวโน้มที่ดี สะท้อนจากรายได้เฉลี่ยที่แท้จริงของผู้บริโภคในเดือน ก.ค.54 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -6.0 รวมทั้งในส่วนของภาคการผลิตก็เริ่มกลับมาขยายตัว สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต (Mfg PMI) เดือน ก.ค.54 ปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 3 เดือน ที่ระดับ 52.1 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 50.7 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 54 จะหดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)