เนื้อหาวันที่ : 2011-08-31 11:25:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1273 views

ปตท. เผยราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้น

สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 29 ส.ค. – 2 ก.ย.54

ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 22 ส.ค. – 26 ส.ค. 54 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 109.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 104.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ลดลง 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 85.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 123.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่

ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
           - 23 ส.ค. 54 แผ่นดินไหวบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ บริเวณรัฐเวอร์จิเนียวัดความสั่นสะเทือนได้ 5.8 ริกเตอร์ รุนแรงที่สุดในรอบ 67 ปี ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ North Anna หยุดดำเนินการ

          - 24 ส.ค. 54 บริษัทเชลล์ไนจีเรียประกาศเหตุสุดวิสัยหยุดดำเนินการการส่งออก (Force Majeure) น้ำมันดิบ Bonny Light ปริมาณการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน ต.ค. 54 เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมัน Adibawa ได้รับความเสียหายจากการก่อวินาศกรรมทำให้อุปทานน้ำมันดิบ ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. 54 ลดลงประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อเดือน และ 1.85 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ตามลำดับ

          - 27 ส.ค. 54 พายุเฮอริเคน Irene พัดผ่านเข้ารัฐ North Carolina ประเทศสหรัฐฯ นับเป็นพายุเฮอริเคนจากคาบมหาสมุทรแอตแลนติกที่เข้ากระทบฝั่งสหรัฐฯ และมีความรุนแรงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2548 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 ราย และน้ำท่วมบริเวณกว้าง ขณะที่คลังน้ำมันประมาณ 28 ล้านบาร์เรล และโรงกลั่นหลายแห่งต้องปิดดำเนินการ

          - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุด 19 ส.ค. 54 ลดลง 2.2 ล้านบาร์เรลอยู่ที่ 351.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสำรองน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลอยู่ที่ 211.4 ล้านบาร์เรล

          - ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้รายงานดัชนีการจัดซื้อของภาคอุตสาหกรรม (Purchasing Manager Index : PMI) ของจีนในเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ 49.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.5 จุดอยู่ที่ระดับ 49.3 จุด

ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
          - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลลิเบียสามารถเข้าควบคุมแหล่งผลิตน้ำมันภายในประเทศทั้งหมดและประกาศจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ข้างหน้า และมีแผนผลิตเต็มกำลังที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในระยะเวลา 15 เดือน

          - ธนาคาร UniCredit ของอิตาลีปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยุโรป 17 ประเทศ ปี 2554 อยู่ที่ระดับ 1.7% (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ 2.1%) และปี 2555 ที่ระดับ 1% (คาดการณ์ครั้งอยู่ที่ 1.7%) ภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่เปราะบางและชะลอตัวส่งผลให้ธนาคารในยุโรปปรับลดจำนวนพนักงานเป็นจำนวนมากกว่า 40,000 คน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 54

          - ดัชนีการจัดซื้อของภาคบริการของสหภาพยุโรป 17 ประเทศ (Purchasing Manager Index : PMI) ในเดือน ส.ค. 54 ลดลง 0.1 จุด จากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด นับเป็นตัวเลขที่ปรับลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 52 และดัชนีการจัดซื้อของภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงอยู่ที่ 49.7 จุด ทั้งนี้หากดัชนีต่ำกว่า 50 จุด แสดงว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมถดถอย

          - ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบทางเรือของประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันดิบ (โอเปค) ไม่รวมแองโกลาและเอกวาดอร์ ในช่วง 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ย. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 22.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

          - กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการผลิตจากแหล่งผลิตทางภาคเหนือของประเทศเพิ่มขึ้น

          ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 108-113 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและ 81-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ราคาน้ำมันผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา อาทิพายุเฮอริเคน Irene ที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในบริเวณดังกล่าวปิดการดำเนินงานชั่วคราว

ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Ben Bernanke ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมใดๆ ตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ และเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ให้จับตาการประกาศสถิติทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ ได้แก่ดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภค และสภาวะการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการก่อตัวของพายุโซนร้อน Jose ลูกใหม่ทางด้านตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ