การจัดสัมมนาเรื่องการบริการจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ครั้งแรกของปีนี้ ภายใต้หัวข้อ ทางออกสำหรับการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประสิทธิผลทางธุรกิจ ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอย่างล้นหลาม
การจัดสัมมนาเรื่องการบริการจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ครั้งแรกของปีนี้ ภายใต้หัวข้อ “ทางออกสำหรับการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประสิทธิผลทางธุรกิจ” ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอย่างล้นหลาม
งานสัมมนาวันนี้ จัดขึ้น ด้วยการสนับสนุนของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินไอที การจัดการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแก่ผู้บริหารองค์กร อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายหรือการหยุดชะงักทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้
“ไม่ว่าจากมุมมองด้านธุรกิจหรือด้านกฎหมาย การบริหารจัดการซอฟต์แวร์นั้นสำคัญมาก” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางปัจฉิมา ธนสันติ “เพื่อประโยชน์ของบริษัทเอง เจ้าของกิจการและผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ตลอดจนทำความเข้าใจว่าการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง สามารถช่วยเพิ่มโอกาสและมูลค่าของธุรกิจได้”
งานสัมมนาครั้งนี้จัดโดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) โดยความร่วมมือของ กระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.)
“ในวาระที่ประเทศไทยกำลังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านไอทีและพยายามผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การคุ้มครองและเคารพในสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญายิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น” นางปัจฉิมา กล่าว “ประเทศคู่ค้าคาดหวังให้เราปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับที่เราคาดหวังให้นานาชาติเคารพในสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาของเรา เป็นเรื่องของการเคารพซึ่งกันและกัน”
เนื้อหาของงานสัมมนา ได้รับการคัดเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือผู้บริหารระดับสูง ภายในงานมีการนำเสนอข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านไอทีเรื่องการตรวจสอบซอฟต์แวร์ การบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดสำหรับธุรกิจไทย
“ซอฟต์แวร์เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน” นางสาว วารุณี รัชตพัฒนากุล โฆษกของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ประจำประเทศไทย กล่าว “หากพิจารณาว่าเราใช้ซอฟท์แวร์บ่อยขนาดไหน ซอฟท์แวร์ช่วยเราทำงานได้มากและประหยัดเวลามากเพียงใด เราก็จะพบว่าจริงๆแล้ว ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ สมควรได้รับค่าตอบแทนจากการที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น”
หลายปีที่ผ่านมา บก. ปอศ. ได้ดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อันเห็นได้จากที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีในประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากฮ่องกงเท่านั้น ในปีนี้ทางกรมฯ ได้เร่งดำเนินงานด้านการสืบสวนกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยตั้งเป้าว่าจะได้ครองอันดับหนึ่งในฐานะประเทศที่ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้มากที่สุดในภูมิภาคนี้
“เราต้องการแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่น่านับถือ ในแง่ที่ว่าเราเคารพสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาและมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตนวัตกรรมชั้นเยี่ยม” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ โฆษกของบก. ปอศ. กล่าว
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระดับโลก ดำเนินงานใน 80 ประเทศ เพื่อขยายตลาดซอฟต์แวร์และสร้างสรรค์สภาวะที่เอื้อต่อนวัตกรรมและการเติบโต รัฐบาลและหุ้นส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ รับฟังแนวทางด้านนโยบายและกฎหมายจากบีเอสเอ และตระหนักว่าซอฟต์แวร์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกประเทศ
บริษัทสมาชิกของบีเอสเอลงทุนจำนวนหลายพันล้านเหรียญต่อปีในเศรษฐกิจท้องถิ่น งานคุณภาพ และโซลูชั่นล้ำหน้าที่จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกเพิ่มประสิทธิผล เชื่อมต่อกัน และมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สมาชิกของบีเอสเอรวมถึง อโดบี, อจิเล้นท์ เทคโนโลยีส์, แอปเปิ้ล, อควาโฟล, เออาร์เอ็ม, อาร์ฟิค เทคโนโลยี, ออโต้เดสค์, อวีวา, เบนท์ลี่ย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี/มาสเตอร์แคม, คอเรล, แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ คอร์ปอเรชั่น,ไมโครซอฟท์, มินิแท็บ, เน็ดกราฟฟิกส์, ออโบเทค, พีทีซี, โปรเกรส ซอฟต์แวร์, เควสท์ ซอฟต์แวร์, โรเซ็ตตา สโตน, ซีเมนส์, ไซเบส, ไซแมนเทค, เทคล่า, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ส และ เดอะ แมธเวิร์กส