สำนักงาเศรษฐกิจการคลังรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำวันที่ 30 ส.ค. 2554 ดังนี้
1. คมนาคมสั่งลดค่าโดยสาร 1 ก.ย. 54
- รมว.คมนาคม สั่งการหน่วยงานในสังกัดลดค่าโดยสารลงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 54 ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ลดค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ 1 บาท จากราคาเริ่มต้นที่ 11-23 บาท เหลือ 10-22 บาท , รถปรับอากาศยูโร 2 ลดจาก 12-24 บาท เหลือ 11-23 บาท , รถร้อนลดราคาลง 50 สตางค์จาก 7 บาท เหลือ 6.50 บาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของราคาค่าโดยสารถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน และเป็นการช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อลงได้ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 54 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3 – ร้อยละ 4.8 ) คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54
2. การจ้างงานไทยปี 54 ดีขึ้นร้อยละ 1.5
- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ว่าการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.28
- สศค. วิเคราะห์ว่า การจ้างงานของไทยปี 54 ยังคงมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย. 54 ผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.9 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.9 แสนคน) ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ โดยในภาคเกษตรกรรมการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในส่วนของภาคบริการเพิ่มขึ้น 1.6 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4
3. IMF เตือนเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เร่งทุกฝ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่กลไกสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับจำกัดลงกว่าเมื่อก่อน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯดำเนินมาตรการเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้น เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรเร่งดำเนินการเพิ่มทุน เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้ในหลายประเทศลุกลามเพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนมากขึ้น จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง (double-dip recession) จากปัญหาอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการลดลงของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ในขณะที่ปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปยังไม่คลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในไตรมาสที่ 2 ปื 54 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 1.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และ 2.5 ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านด้านการส่งออก เนื่องจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกหลัก โดยมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 20.1 ของการส่งออกรวม ดังนั้นประเทศไทยควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย และในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น ควบคู่กับการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน