เนื้อหาวันที่ : 2011-08-25 14:49:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 968 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 25 ส.ค. 2554

1. ตลาดยานยนต์ ก.ค. 54 สะดุด
-  บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดจักรยานยนต์ ก.ค.54 ได้รับผลกระทบจาการเข้าสู่ช่วงมรสุม ฝนตกหนัก น้ำท่วมหลายพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ โดยมียอดการจดทะเบียนทั้งสิ้น 1.78 แสนคัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 20 แต่ก็ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค.54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนมิ.ย.54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 18.2 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%MOM) หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -6.2 สอดคล้องกับภาษีรถจักรยานยนต์จากกรมสรรพสามิตในเดือนก.ค.54ที่ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%MOM) ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า     การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงในปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ช่วงคาดการณ์  4.0 – 5.0 (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย.54)

2. กนง.มีมติ 5 เสียงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีก 0.25% อีก 2 เสียงให้คงอัตราเดิม
-  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (24 ส.ค.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% หรือปรับจาก 3.25% เป็น 3.50% ตามที่ตลาดคาด ซึ่งมติในครั้งนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ โดย 5 เสียงเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอีก 2 เสียงเห็นว่าให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากเดิมที่ร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อแม้ว่าราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะเริ่มชะลอลงแต่อุปสงค์ภายในประเทศมีการขยายตัวที่ดี รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันทางด้านราคา และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

ซึ่งในเดือน ก.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.08 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.59 ซึ่งใกล้เคียงเพดานเงินเฟ้อตามกรอบเป้าหมายของ ธปท.ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 5.0 ต่อปีและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.8 ต่อปี

3. มูดีส์หั่นอันดับเครดิตญี่ปุ่นเหลือ Aa3
-  สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของสหรัฐฯ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นลง 1 ขั้น สู่ระดับ Aa3 จากระดับ Aa2 โดยระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมียอดขาดดุลงบประมาณในระดับที่สูงมาก ซึ่งทำให้รัฐบาลเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2552  ประกอบกับการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลถึง 6 ครั้งภายในระยะเวลา 5 ปี และเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งร้ายแรงเมื่อเดือน มี.ค.54

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นโดยมูดีส์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 45 ที่มีการปรับลดหลังจากที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นลงสู่ระดับ AAA เมื่อเดือนม.ค.54

อย่างไรก็ตาม มูดีส์ยังคงให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในขั้นมีเสถียรภาพ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นที่จะถือครองพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณได้ ทั้งนี้ล่าสุดในไตรมาส 2  เศรษฐกิจญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ -1.3 ซึ่งลดลงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสแรกโดย สศค. คาดว่าในปี 54 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ -0.6(คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 54) ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจโลก

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง