1. สศช.ลดเป้าจีดีพีปี54อยู่ที่3.5-4%
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงลดเป้าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 54 เหลือ 3.5-4.0% จากเดิม 3.5-4.5% เนื่องจากการส่งออกอุตสาหกรรมรถยนต์หดตัวและผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวในไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.6% และเฉลี่ยครึ่งปีแรก ขยายตัว 2.9%
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเมื่อพิจารณาผลของฤดูกาลออก(QoQ_SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.2 โดยเป็นการชะลอลงทั้งอุปสงค์ในประเทศและอุปสงค์ต่างประเทศ โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตลดลงจากผลกระทบจากของภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น และการลงทุนภาครัฐที่หดตัวร้อยละ -9.9 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่หดตัวร้อยละ -1.4 ผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่หดตัวร้อยละ -5.3
ทั้งนี้ จากคาดการณ์เดิม ณ มิ.ย. 54 สศค.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 -5.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.8 ต่อปี ซึ่งจะมีการปรับประมาณการณ์ใหม่ในเดือนก.ย. 54
2. รถยเตอร์คาดส่งออก ก.พาณิชย์เผยส่งออกเดือน ก.ค. 54 โตสูงสุดในรอบ 12 เดือน
- รอยเตอร์คาด การส่งออกเดือน ก.ค. 54 อาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.53 – ก.ค. 54 โดยเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากจากภิบัติของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.54
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.ค. 54 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนฺ มิ.ย. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 โดยข้อมูลดิบล่าสุด ณ วันที่ 10 ส.ค. 54 การส่งออกมีมูลค่า 21,546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดยานยนต์เป็นสำคัญที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกหลังจากได้รับผลผระทบจากเหตุภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น
ประกอบกับราคาส่งออกสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยบวกที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 54 ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 54 การส่งออกไทยยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 23.6 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 54 ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของไทยปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6 – 18.6 ในปี 2554 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54)
3. หุ้นมะกันปิดบวก หลัง “กัดดาฟี” ส่งถูกโค่นอำนาจ
- สำนักข่าวเอพีรายงานว่าหลังจากกบฎลิเลียบุกเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงตริโปลี ลิเบีย ส่งเค้าว่า พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ต้องลงจากอำนาจในเร็ววัน ทำให้ดัชนีหุ้นสหรัฐปิดตลาดปรับตัวบวกเพิ่มขึ้น โดยตลาดดาวโจนส์ แนสแดค และเอสแอนด์พี ปิดที่ 10,854.645 จุด 2,345.38 และ 1,123.82 จุด เพิ่มขึ้น 37 จุด 3.54 จุด และ 0.29 จุด ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ลิเบียมีแนวโน้มจะสามารถกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้อีกครั้งในระดับเดิมที่ผลิตได้กว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ประมาณร้อยละ 4.5 ของกำลังการผลิตทั้งหมด) ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐ หลังจากตัวเลขภาคการผลิตและอัตราว่างงานยังส่งสัญญาณด้านลบ
ซึ่งปัจจัยการเพิ่มขึ้นของอุปทานและการลดลงของอุปสงค์ดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง (จากราคาดูไบที่ปิดล่าสุด ณ 22 ส.ค.54 ที่ 103.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งจะส่งผลช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อของไทยได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปี 54 สูงขึ้นร้อยละ 3.64 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาข้าวสาร เนื้อสุกร ค่าไฟฟ้า และราคาขายปลีกน้ำมันที่สูงขึ้นร้อยละ0.09 1.99 7.8 และ0.94 ตามลำดับ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง