เนื้อหาวันที่ : 2011-08-22 13:54:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3673 views

Aging Society to Aged Society

คุณทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุราว 10% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีการประมาณการอ้างอิงจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์แจ้งไว้เพื่อทราบและจะได้เตรียมความพร้อมโดยทั่วกันว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน

จากการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้นิยามไว้ว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกิน 10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 20% และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 14% สำหรับประเทศไทย ได้นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” ไว้ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ว่า หมายถึง “ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป” ส่วนวัยเด็กและวัยทำงานกลับมีแนวโน้มลดลง

หากทางการตลาดก็ได้นิยามจัดกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ไว้ว่าเป็นยุคของ Baby Boom ซึ่งหากแปลตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Baby Boom จะหมายถึง ยุคที่มีทารกคลอดมากกว่าปกติ (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) หรือเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกมีอัตราการเกิดของประชากรสูงที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นอนาคตที่ Boom ไปด้วยผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้มีประชากรกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นนั้นหลักๆ มาจากความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม การวางแผนครอบครัว และวิทยาการด้านการแพทย์สาธารณสุข ที่ส่งผลให้คนมีอายุยืนมากขึ้น จากรายงานยังพบอีกว่าจำนวนผู้สูงอายุเพศหญิงสูงกว่าเพศชายเนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่ยังคงอยู่กับคู่สมรส และอาศัยอยู่ในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ พ.ศ.2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีบางประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องของรายจ่ายที่คาดว่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.0 คาดว่าจะมีรายจ่ายด้านสุขภาพมากที่สุดเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ รองลงมาคือ ด้านการดำรงชีวิตประจำวันร้อยละ 33.5 ทำบุญร้อยละ 7.6 สันทนาการ ร้อยละ 1.9 การช่วยเหลือญาติพี่น้อง ร้อยละ 1.3 และการช่วยเหลือสังคม ร้อยละ 0.7

ด้านการเตรียมการด้านต่างๆ เมื่อยามสูงอายุ พบว่าประชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.8 ระบุว่า เรื่องที่เคยคิดและได้เตรียมการมากที่สุด คือ เรื่องการออมหรือสะสมเงินทองทรัพย์สินให้เพียงพอไว้ใช้ในวัยสูงอายุ รองลงมาร้อยละ 45.2 ระบุว่า ควรทำตัวเองให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก่อนและเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ

ส่วนเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่เคยคิดแต่ไม่ได้เตรียมการมากที่สุด มีประชาชนร้อยละ 41.1 ระบุว่า เป็นเรื่องการจะอยู่อย่างไรหรืออยู่กับใครเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ นอกจากนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดเตรียมการเมื่อยามอยู่ในวัยสูงอายุ คือ เรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงได้รับตามกฎหมาย โดยมีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 51.2

และส่วนหนึ่งจากคู่มือ “เรื่องชวนรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุ” ของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ ระบุว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจเองยังได้ให้ความสนใจในงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยการจัดโครงการและกิจกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุ และรองรับกฎหมายที่กำหนดสิทธิในการได้รับความคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนด้านต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพด้วย อาทิ

• การลดหย่อนค่าโดยสาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งทางบก ทางเรือ ใต้ดิน หรือทางอากาศ

• การรับสิทธิพิเศษทางด้านทางท่องเที่ยว ในราคาเบาๆ หรือร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร.0-2250-5500 ต่อ 3920-22

• ด้านกีฬาและนัทนาการ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ใช้บริการในสนามกีฬา สวนสุขภาพ ลานกีฬาแอโรบิค สนามเปตอง ห้องออกกำลังกายและรับสมัครเป็นสมาชิกชมรมศุภชลาสัย สอบถามข้อมูล โทร. 0-2214-0120 ต่อ 1511

• ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม อำนวยความสะดวก สนับสนุนการจัดกิจกรรม และลดอัตราค่าเข้าร่วมกิจกรรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่กระทรวงวัฒนธรรม โทร.0-2247-0028 ต่อ 4148

• การช่วยเหลือเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ เดือนละ 500 บาท และสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกหลากหลาย ที่ผู้สูงอายุสามารถสอบถามถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเหล่านี้ก่อนใช้บริการ ได้จากทุกสถานที่ หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ต้องการจะใช้บริการ

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ พบว่าหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็ตระหนักและเห็นความสำคัญในการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต แบบหลากหลายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ แพคเกจค่ารักษาพยาบาล แพคเกจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร ที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ เรียกว่ามีพื้นที่ มีชุมชน มีกิจกรรม มีบริการ ไว้รองรับสำหรับสังคมผู้สูงอายุแน่นอน

ที่เหลือก็อยู่ที่การตระเตรียมความพร้อมของตัวบุคคลว่าเตรียมการเรื่องการใช้ชีวิตหลังเกษียณไว้อย่างไร โดยสิ่งสำคัญที่ควรเตรียมให้พร้อมไว้ คือ 1. วางแผนเรื่องเงินออมไว้เผื่อใช้ในยามชรา 2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ 3. เตรียมพร้อมเรื่องที่อยู่อาศัย 4. เตรียมพร้อมทางด้านจิตใจ 5. การจัดการเกี่ยวกับเรื่องมรดก

โดยสิ่งที่เห็นและรับรู้ได้อย่างหนึ่งก็คือ วัยเกษียณ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในยุคปัจจุบันบางคน ดูแลตัวเองได้ดีมาก กล่าวคือ ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง มีความสามารถในการทำงาน ท่องเที่ยว สามารถวางโครงการที่ต้องการจะทำในอนาคตได้อีกร้อยแปด หรือหากวันใดพละกำลังลดน้อยถอยลงไปจริงๆ ขอเพียงมีความพร้อมในทุกสิ่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทุกคนก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สูงอายุที่น่าจะมีความสุขมากที่สุดแล้วคนหนึ่งของสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ; www.nso.go.th
สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ; www.oppo.opp.go.th